ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๒๔) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเร

ข่าวทั่วไป Wednesday September 5, 2018 10:46 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๒๔)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจาก

ผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร

____________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๔) พ.ศ. ๒๕๔๑ อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ผู้เดินทางที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้ว จากการซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่เป็นผู้มีสัญชาติไทย

(๒) ไม่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย

(๓) ไม่เป็นนักบินหรือลูกเรือของสายการบินที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

(๔) เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ๒ แห่ง ได้แก่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง

(๕) ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๙๐) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะและหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

(๖) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศนี้

ข้อ ๒ ผู้เดินทางที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๑ มีสิทธิตั้งตัวแทนได้ในระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดในจำนวนไม่เกินหนึ่งหมื่นสองพันบาท

การตั้งตัวแทนตามวรรคหนึ่ง ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ

ตัวแทนที่ผู้เดินทางตามวรรคหนึ่งแต่งตั้งเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

ข้อ ๓ ผู้มีความประสงค์จะประกอบกิจการเป็นตัวแทนของผู้เดินทางตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วต้องยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านหัวหน้ากลุ่มบริหารการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวตามแบบคำขออนุมัติให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ที่แนบท้ายประกาศนี้

ผู้มีสิทธิยื่นคำขออนุมัติตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(๒) มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ตั้งแต่ยี่สิบห้าล้านบาทขึ้นไป

(๓) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากร และไม่เคยมีประวัติเป็นผู้ออกหรือใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๔) มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเป็นตัวแทนของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร ปรากฏอยู่ในข้อหนึ่งข้อใดที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนิติบุคคล

(๕) มีพื้นที่ในการให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

(๖) มีเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ รวมถึงระบบงานพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ในการให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

(๗) มีระบบเชื่อมต่อการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรกับเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง และสามารถส่งข้อมูลการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้กับกรมสรรพากรได้ในทันที (Real Time)

ข้อ ๔ ตัวแทนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรสามารถให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรได้นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ และจะต้องดำเนินการดังนี้

(๑) จัดให้มีสถานประกอบการให้บริการ ในพื้นที่ตามที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

(๒) จัดทำระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อนำส่งข้อมูลการคืนภาษีให้กับกรมสรรพากร แบบ Real Time

(๓) จัดทำกล่องรับคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) (Drop Box) จำนวน ๓ กล่อง ติดตั้งไว้ ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิด้านตะวันตก และด้านตะวันออก และบริเวณด้านหน้าสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง

ข้อ ๕ ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมแสดงหนังสือเดินทางต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าในวันที่ซื้อสินค้า เพื่อให้จัดทำเอกสารดังนี้

(๑) ใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ หรือมาตรา ๘๖/๖ แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณีโดยระบุเลขที่หนังสือเดินทางของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

(๒) คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีที่ปรากฏในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) ที่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ได้แต่งตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศฉบับนี้แล้ว ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศได้อีก

ข้อ ๖ สินค้าที่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามประกาศฉบับนี้ ต้องมีลักษณะดังนี้

(๑) เป็นสินค้าที่นำไปพร้อมกับการเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

(๒) ไม่เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำออกนอกราชอาณาจักร อาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน อัญมณีที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ

กรณีเป็นสินค้าที่สามารถบริโภคได้ในราชอาณาจักร สินค้าดังกล่าวต้องได้รับการบรรจุหีบห่อ (Seal) ที่มีสัญลักษณ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียนผนึกในลักษณะมั่นคง และให้มีข้อความ"No Consumption made whilst in Thailand" ลงบนหีบห่อ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน

(๓) เป็นสินค้าที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เป็นผู้มีสิทธิจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) และมีมูลค่าของสินค้าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าสองพันบาทโดยซื้อจากสถานประกอบการแห่งละจำนวนไม่น้อยกว่าสองพันบาทต่อวัน

(๔) เป็นสินค้าที่ต้องนำออกไปนอกราชอาณาจักร ภายใน ๑๔ วันนับแต่วันที่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรมีหนังสือแต่งตั้งตัวแทน แต่ไม่เกิน ๖๐ วันนับแต่วันที่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรแจ้งความประสงค์ตามข้อ ๕

ข้อ ๗ ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้ว ต้องนำสินค้าตามข้อ ๖ และคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) พร้อมใบกำกับภาษีไปแสดงต่อ เจ้าพนักงานศุลกากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิหรือท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ขณะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อให้เจ้าพนักงานศุลกากรประทับรับรองในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐)

กรณีสินค้าที่ปรากฏข้อความ "Item No. ... must also be presented to Revenue Officer" ในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) ซึ่งเป็นสินค้าประเภทอัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา โทรศัพท์แบบพกพาหรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋า เข็มขัด ที่มีมูลค่าของสินค้าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละชิ้นตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาท หรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มต่อชิ้นตั้งแต่ห้าหมื่นบาท ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรต้องแสดงสินค้าดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ณ จุดบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตั้งอยู่ภายหลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อประทับรับรองการมีสินค้าลงในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐)

ข้อ ๘ เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ ๗ แล้ว ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร นำส่งคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) พร้อมใบกำกับภาษีในกล่องรับแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) (Drop Box) ที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิด้านตะวันตก และด้านตะวันออก และบริเวณด้านหน้าสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง

ข้อ ๙ เมื่อผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศนี้ กรมสรรพากรจะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้ว ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าวผ่านตัวแทนที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติ

เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามวรรคหนึ่ง มีดังนี้

(๑) รายงานการให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ประกอบเอกสารหลักฐานการตั้งตัวแทน

(๒) คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) และใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร หรือมาตรา ๘๖/๖ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้มีสิทธิตามประกาศนี้

ข้อ ๑๐ ในกรณีตัวแทนที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศนี้ อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจเพิกถอนการอนุมัติตามข้อ ๒ได้ และให้ตัวแทนที่ถูกเพิกถอนดังกล่าวยุติการให้บริการนับแต่วันที่อธิบดีกรมสรรพากรมีหนังสือเพิกถอนเป็นต้นไป

ข้อ ๑๑ ประกาศนี้ให้มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ที่ลงในประกาศ จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

ประกาศ ณ วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ