พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔

ข่าวทั่วไป Tuesday February 9, 2021 14:42 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓)

พ.ศ. ๒๕๖๔ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘) พ.ศ. ๒๕๖๒ และให้ใช้ ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๓ โสฬส บรรดาหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร แบบ ใบกำกับภาษี รายงาน เอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ที่ต้องมี จัดทำ หรือใช้ ตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร และบรรดาเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่กรมสรรพากรต้องใช้ในการติดต่อกับผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใด หรือที่ผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร อาจกระทำด้วยกระบวนการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำ การส่ง การรับ ตลอดจนการเก็บรักษาที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์"

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (๙) ของมาตรา ๗๗/๑ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ ความต่อไปนี้แทน

"(๙) "สินค้า" หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่าย ทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด"

มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๐/๑) และ (๑๐/๒) ของมาตรา ๗๗/๑ แห่งประมวลรัษฎากร

"(๑๐/๑) "บริการทางอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

(๑๐/๒) "อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม" หมายความว่า ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใด ที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ"

มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสาม ของมาตรา ๘๒/๑๓ แห่งประมวลรัษฎากร

"ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีตามมาตรา ๘๓

ในกรณีผู้ประกอบการตามวรรคสอง ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบ บริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้อง แยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ"

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของวรรคหนึ่ง ของมาตรา ๘๓/๖ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๒) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ

(ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียน

(ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย" มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของวรรคหนึ่ง ของมาตรา ๘๕/๓ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๒) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ

(ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียน

(ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย" มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘๕/๒๐ ในส่วน ๙ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของหมวด ๔ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ของลักษณะ ๒ ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร แห่งประมวลรัษฎากร

"มาตรา ๘๕/๒๐ ในกรณีมีความจำเป็นหรือเหมาะสม รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้แทน การดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในส่วน ๙ ได้

การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ อันเป็นความผิดและต้องระวางโทษตามมาตราที่เกี่ยวข้องด้วย"

มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑/๑) ของมาตรา ๘๖/๑ แห่งประมวลรัษฎากร "(๑/๑) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและ ได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน"

มาตรา ๑๑ บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระ สำหรับรายรับหรือการจ่ายเงินก่อนวันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๑๒ บรรดาประกาศที่ออกตามมาตรา ๓ โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘) พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามมาตรา ๓ โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓ โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ