ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๐๑) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 27, 2021 14:43 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๐๑) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่าย

เป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒ (๕๕) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๕๗ (พ.ศ. ๒๕๖๓) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๑๗๑) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ หน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ข้อ ๒ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

(๑) ผู้มีเงินได้ต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่าปีละ ๑ ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี ติดต่อกัน

(๒) ผู้มีเงินได้จะต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ไม่น้อยกว่า ๕ ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และไถ่ถอนหน่วยลงทุนดังกล่าวเมื่อผู้มีเงินได้นั้นมีอายุไม่ต่ำกว่า ๕๕ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเพราะเหตุทุพพลภาพหรือตาย

(๓) ผู้มีเงินได้ต้องไม่ได้รับเงินปันผลหรือเงินอื่นใดจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในระหว่างการลงทุน และต้องได้รับคืนเงินลงทุนและผลประโยชน์จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเท่านั้น

(๔) ผู้มีเงินได้ต้องไม่กู้ยืมเงินหรือเบิกเงินจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้

/ การซื้อ ...

การซื้อหน่วยลงทุนตาม (๑) และการถือหน่วยลงทุนตาม (๒) ให้รวมถึงการซื้อหน่วยลงทุน และการถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๑๗๑) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนหรือ ถือหน่วยลงทุนไว้ก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ด้วย

ข้อ ๓ กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเกินกว่าหนึ่งกองทุน เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในแต่ละกองทุนที่จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ ๒

ข้อ ๔ กรณีผู้มีเงินได้ได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ไม่น้อยกว่า ๕ ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๕๕ ปีบริบูรณ์ หรือทุพพลภาพ ผู้มีเงินได้ จะไม่ซื้อหน่วยลงทุนต่อไป หรือจะซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพปีใดปีหนึ่ง และจะซื้อหน่วยลงทุนเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ ๒ (๑)

ข้อ ๕ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนตามข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ให้ยกเว้นเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสีย ภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับปีภาษีนั้น

กรณีผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนด้วย เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง เมื่อรวมกับ เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท

ข้อ ๖ กรณีผู้มีเงินได้ได้มาซึ่งหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจากการโอน หรือเกี่ยวเนื่องกับการโอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือได้มาโดยวิธีการอื่นซึ่งมิใช่การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามข้อ ๒ หรือข้อ ๓ การได้มาซึ่งหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๕

ข้อ ๗ กรณีผู้มีเงินได้ที่ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๕ แล้ว ต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ ๒ หรือข้อ ๓ ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๕ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำจำนวนเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วในช่วงระยะเวลาไม่เกิน ๕ ปีนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร

ในการเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจ ตามมาตรา ๓ อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ได้อนุมัติขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้มีเงินได้ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง และถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ยังคงเหลืออยู่ เมื่อผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพต่อไป โดยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๒ หรือข้อ ๓ นับตั้งแต่ปีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมนั้น การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้นับระยะเวลาที่ได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพก่อนปีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมรวมเข้าด้วย

ข้อ ๘ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองการซื้อ หน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ข้อ ๙ กรณีผู้มีเงินได้ได้โอนการลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหนึ่ง ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และไม่ว่าจะโอนไปยังกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพใดกองทุนรวมหนึ่งหรือหลายกองทุนรวม ผู้มีเงินได้จะต้องโอนการลงทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่นภายใน ๕ วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่โอนได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้

การโอนการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง ให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้จัดทำหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แนบพร้อมหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และส่งมอบให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

ข้อ ๑๐ หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามข้อ ๘ และหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามข้อ ๙ ต้องจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรือเลขอารบิค โดยมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้

การลงชื่อของผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองดังกล่าวด้วยตรายางหรือจะพิมพ์ลายมือชื่อ ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้

ข้อ ๑๑ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี ไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ข้อ ๑๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ