พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๓๑) พ.ศ. ๒๕๖๔

ข่าวทั่วไป Sunday November 7, 2021 11:48 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๓๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ในบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๓๑) พ.ศ. ๒๕๖๔"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

"สถานประกอบกิจการ" หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบกิจการใช้ประกอบกิจการ เป็นประจำหรือสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ

"เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" หมายความว่า ท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา

มาตรา ๔ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตรา ร้อยละสามของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สูงกว่าร้อยละสามของเงินได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่ง เมื่อคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายน้อยกว่า ร้อยละสามของเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้ เมื่อผู้มีเงินได้นั้นยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละสามของเงินได้นั้น

มาตรา ๕ ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วในอัตราร้อยละสามของเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา ๔ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำ เงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ขอรับเงินภาษี ที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) และ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๐ แห่งประมวลรัษฎากร ไว้แล้ว และมีสิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ (๓) และ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จะมีสิทธิได้รับการยกเว้น ตามวรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าในการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ผู้มีเงินได้มิได้นำเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) และ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้พึงประเมินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๔ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยต้องไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ในการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้มีเงินได้ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้ พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย

มาตรา ๖ ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ต้องมีคุณสมบัติ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

(๑) เป็นแรงงานฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานโดยมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและปฏิบัติงาน ตามสัญญาจ้างแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้แจ้ง การจ้างลูกจ้างดังกล่าวต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจก่อนจ่ายเงินได้ให้ลูกจ้างครั้งแรกของการจ้างแรงงาน โดยผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะได้รับสิทธิ ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้นได้รับแจ้งจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(๓) ก่อนเข้าทำงานกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (๒) เป็นแห่งแรกนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ต้องมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและไม่ได้ทำงานอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ หรือกรณีผู้มีเงินได้ได้ทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจมาก่อนการเข้าทำงานกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (๒) จะต้องเป็นการเข้าทำงานเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่การจ้างงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง เว้นแต่ในกรณีที่เป็น การลาออกหรือมีเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงและผู้มีเงินได้ได้เข้าทำงานกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลตาม (๒) รายใหม่โดยมีระยะเวลาต่อเนื่องจากการจ้างงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลตาม (๒) รายเดิม

(๔) ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ ผู้มีเงินได้ต้องอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ เฉพาะกิจไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีนั้น โดยต้องมีหลักฐานการอยู่อาศัยที่ได้รับการรับรองจาก นายจ้างหรือเจ้าของสถานที่ที่พักอาศัยและเก็บหลักฐานนั้นไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบ

(๕) กรณีประสงค์จะยกเลิกการใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (๒) แจ้งต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ได้แจ้งการจ้างลูกจ้างเพื่อขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้

(๖) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๗ ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๐ กรณีดังต่อไปนี้ และมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา ๖ (๑) (๒) (๔) (๕) และ (๖) ได้รับสิทธิตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย

(๑) ผู้มีเงินได้ที่ยังคงทำงานกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ เฉพาะกิจรายเดิมในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

(๒) ผู้มีเงินได้ที่ได้ลาออกจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ เฉพาะกิจรายเดิม และต่อมาได้เข้าทำงานกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ไม่ว่ารายเดิมหรือรายใหม่

มาตรา ๘ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ เฉพาะกิจเป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริง ดังนี้

(๑) สำหรับเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น และบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำเงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น

(๒) สำหรับเงินลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการ ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นนั้นต้องนำ เงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ขายหรือโอนหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุน เว้นแต่ได้ขายหรือโอนหุ้นหรือ การเป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนโดยมีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีประกาศ กำหนด

ทั้งนี้ ต้องเป็นการลงทุนตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๙ กรณีที่มีการใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้หรือยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และมาตรา ๘ ในปีภาษีใดหรือรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้วแต่กรณี ให้มีผลดังนี้

(๑) กรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๗ ในปีภาษีใด ให้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้เป็นอันระงับไปเฉพาะปีภาษีนั้น

(๒) กรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ ให้สิทธิที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ สิ้นสุดลง และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น

มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ