ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕)

ข่าวทั่วไป Friday May 12, 2023 11:47 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ออกตามความในมาตรา ๓ โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงมีผลให้ระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นอันสิ้นสภาพ ทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษีโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษีได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับดังกล่าว กรมสรรพากรจึงออกประกาศเกี่ยวกับการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ดังนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

"การประทับรับรองเวลา (Time Stamp)" หมายความว่า กระบวนการหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ใดที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือหน่วยงานอื่นที่อธิบดีประกาศรายชื่อได้กระทำต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับรองความมีอยู่ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ณ ขณะที่มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และสามารถตรวจพบได้หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

"ใบกำกับภาษี" หมายความว่า ใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือหน่วยงานอื่นที่อธิบดีประกาศรายชื่อ

ข้อ ๒ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษียื่นคำขอต่ออธิบดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เพื่อขอให้ประกาศรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิจัดทำใบกำกับภาษี โดยต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนตามข้อตกลงที่กรมสรรพากรกำหนด

เมื่ออธิบดีได้ประกาศรายชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนแล้ว บุคคลดังกล่าวจะสามารถจัดทำใบกำกับภาษีได้ก็ต่อเมื่อได้แจ้งที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail Address) ที่ประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรแล้ว

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับการประกาศรายชื่อมีความประสงค์จะขอรหัสผ่าน (Password) ใหม่ เปลี่ยนแปลงรหัสผ่าน (Password) หรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail Address) ที่ได้ระบุในคำขอตามวรรคหนึ่ง หรือขอยกเลิกรายชื่อที่ได้รับการประกาศตาม วรรคสอง ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

ข้อ ๓ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องใช้วิธีการแบบปลอดภัยที่เชื่อถือได้ทั้งในส่วนของระบบฮาร์ดแวร์และระบบซอฟต์แวร์ในการจัดทำใบกำกับภาษี และอย่างน้อยต้องมีหรือใช้โปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูลแล้วจะแก้ไขรายการนั้น ๆ โดยปราศจากร่องรอยไม่ได้ นอกจากนี้ การแก้ไขรายการไม่ให้ใช้วิธีลบทิ้ง หรือล้างรายการออก ถ้าจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงเพิ่มเข้าไปเพื่อแสดงให้เห็นรายการ ก่อนปรับปรุงและหลังปรับปรุง และต้องมีรายงานการแก้ไขรายการเพื่อให้ตรวจสอบได้

ข้อ ๔ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับการประกาศรายชื่อตามข้อ ๒ วรรคสอง อาจเลือกจัดทำใบกำกับภาษีตามประกาศนี้ก็ได้

ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิจัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการ ดังนี้ (๑) จัดทำข้อความโดยมีรายการที่มีสาระสำคัญตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามรูปแบบ ขนาด และประเภทของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกาศ บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

(๒) ส่งข้อมูลใบกำกับภาษีตาม (๑) โดยใช้ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail Address) ที่ได้แจ้งไว้ต่อกรมสรรพากรตามข้อ ๒ ไปยังที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail Address) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail Address) ของระบบประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ในคราวเดียวกัน

เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าจัดทำใบกำกับภาษีและ ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว และให้ใบกำกับภาษีที่ได้รับทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ซึ่งได้รับการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เป็นใบกำกับภาษีตามประกาศนี้

ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อ ๕ วรรคสอง แล้ว แต่ใบกำกับภาษีดังกล่าวมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นเห็นเองหรือเมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมซึ่งได้จัดทำและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องโดยไม่จำต้องเรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิม โดยนำความในข้อ ๕ มาใช้โดยอนุโลมและดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย

(๑) กำหนดเลขที่ใบกำกับภาษีฉบับใหม่เป็นเลขที่ใหม่ และระบุ วัน เดือน ปี ที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี ฉบับใหม่

(๒) จัดทำข้อความที่แสดงว่า เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... ลงวันที่ .. หรือข้อความอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่

ข้อ ๗ ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้จัดทำและส่งใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ต่อมาได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งทำไฟล์ข้อมูลใบกำกับภาษีนั้นสูญหาย เสียหาย ถูกทำลาย หรือไม่สามารถใช้การได้โดยประการใด ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นส่งข้อมูล ใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันที่ได้รับจากการประทับรับรองเวลา ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยไม่ต้องออกใบแทนใบกำกับภาษี

ข้อ ๘ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ โดยมีรายการที่มีสาระสำคัญ ตามมาตรา ๘๖/๙ แห่งประมวลรัษฎากร หรือตามมาตรา ๘๖/๑๐ แห่งประมวลรัษฎากร ขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามรูปแบบ ขนาด และประเภทของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกาศบนเว็บไซต์กรมสรรพากร แล้วแต่กรณี และให้นำความในข้อ ๕ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสอง ข้อ ๖ หรือข้อ ๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๙ ในการจัดทำและส่งใบกำกับภาษี ตามข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๘ ให้ผู้ประกอบการ จดทะเบียน ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในชื่อเรื่องของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ที่จะส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แล้วแต่กรณี

(๑) ใบกำกับภาษี ให้ระบุ "[วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษี][INV][เลขที่ใบกำกับภาษี]"

(๒) ใบเพิ่มหนี้ ให้ระบุ "[วันเดือนปีที่ออกใบเพิ่มหนี้][DBN][เลขที่ใบเพิ่มหนี้][เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]"

(๓) ใบลดหนี้ ให้ระบุ "[วันเดือนปีที่ออกใบลดหนี้][CRN][เลขที่ใบลดหนี้][เลขที่ใบกำกับ ภาษีเดิม]"

(๔)การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ให้ระบุ "[วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษีใหม่][INV][เลขที่ใบกำกับภาษีใหม่][เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]"

ข้อ ๑๐ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี หรือผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ ที่ได้รับใบกำกับภาษีมีหน้าที่เก็บรักษาใบกำกับภาษีนั้น ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการรักษาความถูกต้องของข้อความตั้งแต่การสร้างข้อความเสร็จสมบูรณ์และสามารถแสดงข้อความนั้นในภายหลังได้

(๒) เก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษี โดยสามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมาย ไม่เปลี่ยนแปลง

(๓) เก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษีให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในขณะที่ได้สร้าง ส่ง หรือได้รับข้อมูลใบกำกับภาษีนั้น หรืออยู่ในรูปแบบที่สามารถแสดงข้อความที่สร้าง ส่ง หรือได้รับให้ปรากฏอย่างถูกต้องได้ และ

(๔) เก็บรักษาข้อความส่วนที่ระบุถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง และปลายทางของใบกำกับภาษี ตลอดจนวันและเวลาที่ส่งหรือได้รับข้อความดังกล่าว ถ้ามี

ข้อ ๑๑ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

ลวรณ แสงสนิท (นายลวรณ แสงสนิท)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ