การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑๑ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธ ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ เริ่มเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ปฎิบัติหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมแล้วประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ดังนี้ ๑. รับทราบพระบรมราชโองการ - พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธานวุฒิสภา- พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็น รัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ๒. รับทราบประกาศ สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (นายมงคล สิมะโรจน์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แทน นายเสริมศักดิ์ การุณ)เรื่อง ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (นายพรเสก กาญจนจารี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขอลาออก)๓. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้ลงมติตั้งกรรมาธิการร่วมกันฝ่ายวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติจำนวน ๒ ฉบับ คือ๑. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (บัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์) ๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี)๔. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้ลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ออกไปเป็นกรณีพิเศษ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๔ จำนวน ๓ ฉบับ คือ ๑. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ๒. ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ๓. ร่างพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ๕. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นางสาวพรทิพย์ จาละ) ๖. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ต่อจากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องด่วน และ เรื่องที่ค้างพิจารณา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ นายพินิจ จันทร์สมบูรณ์ ได้เสนอให้มีการเลื่อนระเบียบวาระต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณาตามลำดับดังนี้ ๑. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๒ พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ โดย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้ได้ร่างขึ้นมาเพื่อให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสามารถควบกิจการกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินหรือโอน กิจการทั้งหมดให้แก่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินได้ เนื่องจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องพัฒนาและส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินของประเทศมีความเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น การแก้ไขพระราชบัญญัติบรรษัท เงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น จะทำให้สามารถนำความเชี่ยวชาญและความสามารถในการพัฒนาและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของบรรษัทมารวมกับธนาคารพานิชย์หรือสถาบันการเงินที่มีแหล่งเงินทุนและมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจการพาณิชย์ที่หลากหลาย อันจะมีผลทำให้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันการเงินที่จะสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมขึ้นได้ และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็ว และมีความชัดเจน แน่นอนในการดำเนินการ เพื่อมิให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในฐานะการดำเนินกิจการ ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินอื่น รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศมิให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจ หลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ จากนั้นได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องของเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนในการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ รวมทั้งเรื่องการควบกิจการระหว่างบรรษัทเงินทุน อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่ควบกิจการด้วยนั้นจะได้ประโยชน์มากกว่า และเรื่องการค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่ง นายวราเทพ รัตนากร ได้ตอบชี้แจงว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องตราพระราชกำหนดฉบับนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารงานของบรรษัทเงินทุน อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งหากล่าช้าอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งตลาดหุ้นและสถาบันการเงิน สำหรับเรื่องของการควบกิจการนั้น ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้กำหนดแต่เพียงหลักการของการควบ กิจการหรือโอนกิจการเพื่อให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะต้องควบกิจการกับสถาบันการเงินใด และการตัดสินใจว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะควบกิจการกับสถาบันการเงินใดนั้นเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสถาบันการเงินและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ และในเรื่องของการค้ำประกันเงินกู้นั้นรัฐบาลจะค้ำประกันเฉพาะวงเงินกู้ที่ได้ค้ำประกันอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น หากภายหลังการควบกิจการมีการกู้เงินใหม่เกิดขึ้น รัฐบาลก็ไม่ต้องเข้าไปค้ำประกันแต่อย่างใด ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่รัฐบาลแต่อย่างใด หลังจากการพิจารณาเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๒ พ.ศ. ๒๕๔๗ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๕๖ เสียง ไม่เห็นด้วย ๖๒ เสียง งดออกเสียง ไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี ๒. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติในทำนองเดียวกันอีกจำนวน ๔ ฉบับ ซึ่งเสนอโดย ๑. นายวิจิตร ศรีสอ้าน กับคณะ ๒. นายพงศ์พิช รุ่งเป้า และนายประชาธิปไตย คำสิงห์นอก ๓. นายนิสิต สินธุไพร ๔. นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ ประธาน ฯ จึงขอให้ยกมาพิจารณาในคราวเดียวกัน จากนั้น นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้มีการจัดระบบข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาขึ้นใหม่ โดยให้ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งของหน่วยงานการศึกษาในระดับสถานศึกษาของรัฐและระดับเขตพื้นที่ การศึกษาเป็นข้าราชการในสังกัดองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทาง การศึกษาโดยยึดหลักการกระจายอำนาจบริหารงานบุคคลสู่ส่วนราชการที่บริหารจัดการการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา จึงเห็นควรกำหนดให้บุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านบริหารจัดการศึกษาสังกัดอยู่ในองค์กรกลางบริหารงานบุคคลเดียวกัน และโดยที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีหลักการที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ให้ยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา อีกทั้งไม่สอดคล้องกับหลักการปฏิรูประบบราชการสมควรยกร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ขึ้นใหม่แทนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓ และเพื่อให้เป็นเอกภาพทางด้านนโยบายการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ จากนั้น ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ชี้แจงว่า ในการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้มีการยกฐานะวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ทำให้ระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูต้องมีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติที่ได้เสนอต่อที่ประชุมนี้ ได้มีการจัดการระบบบริหารงานบุคคลทั้งระบบ รวมทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบค่าตอบแทน และมีบัญชีเงินเดือนแนบท้ายด้วย ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติอื่น ๆ ได้กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะความล่าช้าในการออกกฎหมาย เพื่อการปฎิรูปการศึกษาและการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลในองค์กรทางการศึกษาและการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลในองค์กรทางการศึกษา ซึ่งมีผู้อยู่ภายใต้กฎหมายจำนวนมากและต้องมีฐานะเป็นข้าราชการในหน่วยงานการศึกษาของรัฐและเขตพื้นที่การศึกษา ส่งผลให้การจัดการศึกษาเกิดช่องว่างการบริหารงานในโครงสร้างราชการการศึกษา โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานนโยบายและหน่วยงานปฏิบัติ เช่น การปฎิบัติงานของเขตพื้นที่การศึกษา การมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาออกมาบังคับใช้เพียง ๒ ฉบับ จาก ๒๓ ฉบับ จากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สร้างความเหลื่อมล้ำในเรื่องการจัดอัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษาปัญหาการตัดอัตรา การโยกย้ายตามตัวบุคคลเป็นการเพิ่มความกว้างของสายการบังคับบัญชามากขึ้น ทำให้การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้นต้องล่าช้าไปด้วย ในเรื่องของสายวิชาชีพเองยังมีความลักลั่นกันอยู่มากระหว่าง ๑. กลุ่มครูผู้ปฎิบัติหน้าที่ทำการสอนและกลุ่มศึกษานิเทศกับ ๒. กลุ่มผู้บริหาร สถานศึกษาที่กำหนดสายงานความก้าวหน้าทางวิชาการที่แตกต่างกันกล่าว คือในกลุ่ม ๑ กำหนดให้มีตำแหน่งความก้าวหน้าสูงสุดถึงผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ในขณะที่กลุ่ม ๒ มีตำแหน่งความก้าวหน้าสูงสุดเพียงผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทั้งที่กลุ่ม ๒ อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาของกลุ่ม ๑ อีกปัญหาหนึ่ง คือ การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารในสถานศึกษาปัจจุบันขาดหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนเพราะสร้างขึ้นในเวลาจำกัดและเร่งการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งใช้เวลาสั้น รวบรัด กระชั้นชิดมากจึงเกิดคำถามถึงความยุติธรรมกับผู้มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาว่ามีความเสมอภาคมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ควรมีการพิจารณากฎหมายให้ครอบคลุมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในสังกัดกระทรวงการกีฬาและท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรมด้วยซึ่งสามารถกระทำได้สองแนวทาง คือ การทำให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมครูทั้งสองกระทรวงหรือ การออกพระราชบัญญัติ เพื่อการบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของสองกระทรวงเป็นการเฉพาะ อันจะส่งเสริมให้เกิดขวัญและกำลังใจในการ อบรมเยาวชนของชาติต่อไป ด้านข้อสังเกตผู้อภิปรายสนับสนุนได้นำเสนอไว้ดังนี้ คือ การกำหนดบัญชีเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาควรกำหนด ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญที่ต้องการส่งเสริมให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ดังนี้ควรให้มีการผลักดันให้การบริหารการศึกษาเป็นระบบที่เรียกว่าบริหารแบบมืออาชีพและจริงจังในทุกรายละเอียด รวมทั้งขอให้มีการบัญญัติข้อความว่าด้วยหลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนไปพร้อมกับการ ส่งเสริมศีลธรรมอันดีทั้งระหว่างครู นักเรียน และสังคมด้วย ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ชี้แจงทุกท่านที่มีเจตนารมณ์การออกกฎหมายเพื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นแนวทางที่สอดคล้องกันหมดต่างกันเพียงรายละเอียดเท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงโดยเร็ว ด้านบัญชีเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งนั้นมิได้บัญญัติไว้ในวาระการพิจารณาที่ ๑ เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูมากกว่าจึงแยกบัญชีออกเป็นการเฉพาะไป นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ ได้ตอบประเด็นข้อสังเกตของผู้ชี้แจงรวม ๓ เรื่อง คือ ๑. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทรวงอื่นนั้นได้กำหนดให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนั้น ๆ เป็นประธานองค์กรบริหารงานบุคคลโดยการประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว ๒. การผลักดันให้มีกฎหมายออกไปบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ๒ ฉบับนั้นเพื่อให้มีการขับเคลื่อนการปฎิรูปส่วนที่สำคัญ ๆ ไปก่อนมิฉะนั้นจะไม่สามารถบริหารงานส่วนอื่น ๆ ต่อไปได้ทั้งนี้เชื่อว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องจะผ่าน การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรออกมาบังคับใช้โดยเร็ว ๓. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและผู้เรียนนั้น มิได้กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายครบแล้วประธานฯ ได้ขอมติที่ประชุมเพื่อเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ...... ทั้ง ๕ ร่าง มีคะแนนเสียงเห็นชอบจำนวน ๓๑๐ เสียง โดยเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน ๓๕ คน ในเวลา ๗ วัน ใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณาวาระ ๒๓. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติในทำนองเดียวกันอีกจำนวน ๖ ฉบับ ซึ่งเสนอโดย๑. นายวิจิตร ศรีสอ้าน และคณะ ๒. นายอำนวย คลังผา และ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ๓. นายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ๔. นายชัย ชิดชอบ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ๕. นายประชาธิปไตย คำสิงห์นอก และนายพงษ์พิช รุ่งเป้า ๖. นายนิสิต สินธุไพร ประธาน ฯ จึงขอให้ยกมาพิจารณาในคราวเดียวกัน จากนั้น นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงหลักการและเหตุผลการเสนอกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีรายได้เพียงพอเหมาะสมกับฐานะทางสังคมและวิชาชีพ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เสนออื่น ๆ ได้กล่าวชี้แจงเหตุผลสนับสนุนการเสนอกฎหมายฉบับนี้ คือ การจำแนกสายงาน ข้าราชการครู ศึกษานิเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ทั้ง ๓ สายงานยังมีความเหลื่อมล้ำในความก้าวหน้าในวิชาชีพระหว่างคือ กลุ่มครูและศึกษานิเทศสามารถก้าวหน้าไปได้สูงสุดในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ในขณะที่ผู้บริหารสถานศึกษาก้าวหน้าสูงสุดในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นซึ่งมีผลต่อการได้รับเงิน วิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งและการกำหนดเพดานเงินเดือนที่แตกต่างกันเป็นการขัดกับหลักการส่งเสริมให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง นอกจากนี้ยังเสนอบัญชีแนบท้ายเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งควรให้สอดคล้องกับบัญชีเงินเดือนข้าราชการประเภทอื่น ๆ เพื่อให้มีการเทียบเคียงกันได้อย่างเสมอภาคกัน การจัดแท่งเงินเดือนควรกำหนดให้ทุกสายงานขึ้นสู่เพดานสูงสุดได้โดยตัวเองไม่ผูกติดกับการดำรงตำแหน่งทางบริหาร นอกจากนี้ยังมีการสอบถามถึงการที่ผู้แทนข้าราชการครูเข้าชื่อ ๕๐,๐๐๐ รายชื่อเพื่อเสนอบัญชีเงินเดือนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้นดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด สามารถให้ผู้แทนข้าราชการเข้ามาร่วมพิจารณาในขั้นกรรมาธิการวิสามัญ ฯ ได้หรือไม่ ประธานฯ ได้ชี้แจงในประเด็นผู้แทนข้าราชการครูจากสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยเข้าชื่อ ๕๐,๐๐๐ รายชื่อว่าด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่เข้าหลักของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๐ และหมวด ๓ กับ ๕ ของ พระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งถือเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมิใช่เป็นเรื่องของประชาชนทั่วไปจึงไม่สามารถบรรจุในระเบียบวาระได้ แต่หากเสนอให้ผู้แทนข้าราชการครูเข้ามาเป็นกรรมาธิการ ฯ วาระ ๒ ในสัดส่วนของพรรคการเมืองก็จะเป็นการดีต่อการพิจารณาเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้เสนอให้นายสนอง ทาหอม รองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนองค์กรครูเข้าเป็นกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โดยมีมติด้วยคะแนนเสียง ๓๐๗ เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. และที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน ๓๕ คน เป็นการแปรญัตติใน ๗ วัน โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา๔. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติในทำนองเดียวกันอีกจำนวน ๒ ฉบับ ซึ่งเสนอโดย ๑. นายอำนวย คลังผา และพันตำรวจโท ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ๒. นายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธาน ฯ จึงขอให้ยกมาพิจารณาในคราวเดียวกัน จากนั้น นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงหลักการและเหตุผลการเสนอร่างพระราชบัญญัติ เงินเดือนและ เงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. …. เพื่อให้สอดคล้องกับการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. และเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ ที่คล้ายคลึงกันได้แถลงหลักการและเหตุผลการเสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับการตราพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทาง การศึกษา พ.ศ. …. และเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ พร้อมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓ ว่าด้วยนิยามคำว่า คณะกรรมการบริหารงานโดยกำหนด ยกเว้น คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๕ ให้ตัดผู้แทนคณะกรรมการ ข้าราชการครูออกจากองค์ประกอบของคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ อีกทั้งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๒ ให้ตัดข้าราชการครูและผู้บริหารสถานศึกษา ที่มิใช่ข้าราชการครูออกจากการกำหนดอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชบัญญัติหรือตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการตราพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. ประธานฯ ได้ขอมติที่ประชุมเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ฉบับ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ๒๙๒ เสียง จากนั้น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. …. โดยให้เป็นชุดเดียวกับคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. และเสนอให้นายสนอง ทาหอม รองเลขาธิการสมาพันธุ์สมาคมครู แห่งประเทศไทยเป็นกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนี้จะเชิญผู้แทนองค์กร จำนวน ๓ คน เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญด้วย โดยแปรญัตติ ๗ วัน โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลักการพิจารณาวาระ ๒ ปิดการประชุมเวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกา