ปัญหาในอุตสาหกรรมอาหารและการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 10, 2004 13:00 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับปัญหาในอุตสาหกรรมอาหารและการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพอย่างครบวงจร
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ สามารถทำรายได้สูงถึงปีละกว่าสี่แสนล้านบาท และยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบทั้งหมด ช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมห้องเย็น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้สามารถมีศักยภาพอย่างครบวงจร คือการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิต เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอากร( Non — tariff barrier) มากีดกันการค้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการ ที่ดีในการเกษตร (Good Agricutural Practice:GAP) หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice:GMP) และการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis Critical Control Point :HACCP) เป็นต้น
ทั้งนี้ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะขยายตลาดสินค้าเกษตร เพื่อให้ไทยเป็นครัวของโลกนั้น รัฐบาลไทยได้ให้ความสนใจเรื่องความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) ของประเทศอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ปี 2547 เป็นปีรณรงค์ด้าน Food Safety การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล และทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของ ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้วิทยาการทางเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ประเทศคู่ค้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วก็จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยประสบปัญหาในการแข่งขันในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากเหตุผลดังกล่าว คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำการศึกษาและจัดสัมมนากลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่เพื่อระดมความเห็นจากภาคเอกชนที่เป็นสมาคมในกลุ่มอาหารต่างๆ จำนวน 6 กลุ่มสินค้า นักวิชาการและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยพิจารณาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเร่งด่วนก่อน ได้แก่
1. อาหารทะเลและอาหารแช่เยือกแข็ง
2. ผัก ผลไม้ และพืชไร่
3. สมุนไพรและอาหารเสริมสุขภาพ
4. ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว
5. สารปรุงแต่งและวัตถุเจือปนอาหาร
6. ไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป
สำหรับผลการศึกษาของคณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ มีความเห็นและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
1. การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยมีคุณภาพและมาตรฐานด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อการบริโภคในประเทศและให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก
2. สภาพปัญหาในภาพรวมของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแบ่งเป็นด้าน ต่าง ๆ ดังนี้
2.1 ด้านความปลอดภัยอาหาร
การขาดการใช้ข้อมูลทางวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอาหารมาช่วยในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือในด้านความปลอดภัย เช่น การนำมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) มาใช้อย่างทั่วถึง รวมทั้งขาดระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารจากห้องปฏิบัติการระดับชาติ (National Laboratory) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารอย่างเพียงพอรวมทั้งขาดการเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ความปลอดภัยในอาหารชนิดต่าง ๆ ให้ประชาชนได้ทราบอย่างทันสถานการณ์
2.2 ด้านวัตถุดิบและการผลิต
การขาดการพัฒนาประสิทธิภาพวัตถุดิบและในกระบวนการผลิตตลอดจนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในเทคโนโลยีด้านอาหาร ทำให้วัตถุดิบ เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และกระบวนการผลิต เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารขาดคุณภาพและไม่ทันกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร
2.3 ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์อาหารโดยภาพรวมยังขาดการส่งเสริมให้มีคุณภาพและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระดับสากล
2.4 ด้านองค์กรของรัฐ
องค์กรและบุคลากรภาครัฐยังขาดการสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารให้มีองค์ความรู้ที่เพียงพอในการประกอบการ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตและการแปรรูปอาหาร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การตรวจรับรองจากห้องปฏิบัติการ ตลอดจนขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรมอาหาร
2.5 ด้านการส่งออก และการตลาด
การได้รับผลกระทบจากประเทศคู่ค้าที่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าอาหารที่นำเข้าจากประเทศไทย ทั้งในด้านมาตรการทางภาษีอากร เช่น การเก็บอากรขาเข้าที่มีอัตราสูงสำหรับสินค้าเกษตร และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอากร เช่น ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้แรงงาน เป็นต้น
2.6 ด้านโรคระบาดในสัตว์
การที่เกิดโรคระบาดไก่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศในช่วงเดือนตุลาคม 2546 ถึง กุมภาพันธ์ 2547 ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ ตลอดจนทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นโดยรวมต่อสินค้าอุตสาหกรรมไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปของไทยเป็นอย่างมาก
3. ข้อเสนอแนะ
3.1 ด้านความปลอดภัยอาหาร
1) รัฐควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตอาหาร การแปลงแผนแม่บทความปลอดภัยในอาหารไปสู่การปฏิบัติ การส่งเสริมให้เอกชนนำเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยมาใช้อย่างทั่วถึง การพัฒนาระบบตรวจสอบเฝ้าระวังเพื่อเตือนภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งจัดให้มีหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่รวบรวม ประมวลผลและเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อาหารให้กับประชาชนและ ภาคเอกชน
2) รัฐควรมีมาตรการควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีและยาฆ่าแมลงที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมอาหารรวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและผลการตกค้างของสารเคมีและยาฆ่าแมลงต่อ ผู้บริโภค เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้ผลิตในระดับ อุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
3.2 ด้านวัตถุดิบและการผลิต
รัฐควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาและการให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ในด้านความปลอดภัยของวัตถุดิบจากภาคเกษตร การปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้รัฐควรศึกษาอุปสงค์และอุปทานในกลุ่มผู้ผลิตอาหารเพื่อวางแผนจัดทำเขตเพาะปลูก (Zoning) และสนับสนุนการจัดทำสัญญาเพื่อประกันความสม่ำเสมอของวัตถุดิบ (Contract Farming) ระหว่างโรงงานกับเกษตรกร
3.3 ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
รัฐควรจัดทำแผนหลักเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้านอาหารของประเทศ โดยให้ตรงกับความต้องการของ ผู้บริโภคทั้งในด้านคุณภาพ ราคาและรูปแบบ
3.4 ด้านองค์กรของรัฐ
1) ควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและรับรองสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีมาตรฐานสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกและเร่งรัดจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลางระดับชาติ(National Laboratory Center) เพื่อให้บริการตรวจรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออกให้เร็วขึ้น กำหนดมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารและการใช้ ข้อมูลเพื่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
2) รัฐควรจัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการด้านการเกษตรพัฒนาวิชาการให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการเพาะปลูกพืชที่ปลอดจากสารเคมี
3) รัฐควรเพิ่มการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อาหารและวิศวกรรม อุตสาหกรรมอาหารให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศตลอดจนรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้คนไทยและคนต่างชาติเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของอาหารไทยมากขึ้น
3.5 ด้านการส่งออกและการตลาด
1) หน่วยงานของรัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศควรร่วมกันศึกษาและนำกฎระเบียบการนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ออกเผยแพร่แก่ภาคเอกชนเพื่อหามาตรการเชิงรุกทางด้านการตลาดและการตอบโต้กับประเทศที่ออกกฎระเบียบเพื่อกีดกันทางการค้า
2) รัฐควรส่งเสริมการจัดระบบการขนส่งและบริการด้านการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้มีต้นทุนต่ำและเอื้อต่อการส่งออก
3.6 ด้านโรคระบาดในสัตว์
เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในสินค้าอุตสาหกรรมอาหารของไทยและป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมรัฐบาลควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขโรคระบาดในสัตว์ ดังต่อไปนี้
1) จัดให้มีระบบการเตือนภัยและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนป้องกันและแก้ไขได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วทันต่อสถานการณ์
2) เพิ่มการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจหาโรคระบาดในสัตว์และรับรองผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ก่อนนำออกจำหน่าย
3) กำหนดให้ผู้ผลิตต้องแจ้งที่มาของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่วางจำหน่ายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ