เศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2003 และแนวโน้มในปี 2004

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2004 10:37 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2004 องค์การการค้าโลกได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2003 และแนวโน้มในปี 2004 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2003 1. แม้ว่าโรคทางเดินหายใจเฉียบผลันรุนแรง SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome) และสงครามอิรักได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกเป็นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2003 แต่ในช่วงหลังของปี 2003 ผลผลิตโลกและการค้าโลก (global output and trade) ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (world GDP) และปริมาณการค้าโลก (world merchandise trade) ในปี 2003 ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 4.5 ตามลำดับ 2. ตัวแปรหลักที่ทำให้ปริมาณการค้าโลกเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2003 คือ การขยายตัวของอุปสงค์การนำเข้า (import demand) ของประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ เอเชีย และกลุ่มประเทศสังคมนิยมเดิม (ประมาณร้อยละ 11 สำหรับเอเชียและกลุ่มประเทศสังคมนิยมเดิม และร้อยละ 5.7 สำหรับอเมริกาเหนือ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าการนำเข้าของประเทศจีนขยายตัวร้อยละ 40 ในปี 2003 (413 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ (1,305 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และสหพันธรัฐเยอรมนี (602 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งจากเดิมจีนอยู่อันดับที่ 6 ในปี 2002 3. ในปี 2003 มูลค่าการส่งออกสินค้าบริการ (world commercial services) ขยายตัวร้อยละ 12 เป็น 1,763 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5 เป็น 1,743 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศสหภาพยุโรปเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าบริการรายใหญ่ที่สุด (802 และ 782 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนจีนเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าบริการรายใหญ่ที่สุด (45 และ 54 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน การส่งออกของไทยในปี 2003 4. ในปี 2003 ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 15 ของโลก และนำเข้าเป็นอันดับที่ 14 ของโลก (สหภาพยุโรปนับเป็นหนึ่งประเทศ) โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 80 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 5. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขยายตัวของอุปสงค์การนำเข้าของประเทศจีนและสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2003 จะส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจการค้าของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2004 แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้นอาจถึงจุดอิ่มตัว และการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ จำนวนมาก (โดยเฉพาะในปี 2003 สูงถึง 549 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) อาจสร้างความกดดันให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น จึงอาจจะมีผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ แนวโน้มเศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2004 6. องค์การการค้าโลกคาดคะเนว่าในปี 2004 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (world GDP) และปริมาณการค้าโลก (world merchandise trade) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 และ 7.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังของปี 2003 นอกจากนี้ องค์การการค้าโลกคาดว่าความสำเร็จในการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้ารอบ Doha ก็จะช่วยให้มีกระแสเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 7. อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกไม่เป็นไปตามที่คาดคะเน คือ 7.1 ราคาน้ำมันโลกที่สูงกว่า 29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (โดยเฉลี่ย) จะทำให้ Global output ลดลง 7.2 ค่าเงินยูโรที่สูงขึ้นจะทำให้การลงทุนในยุโรปลดลง และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนาญและสาธารณสุข (pension and health system) จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริโภคในยุโรปลดลง 7.3 ราคาบ้านหรือราคาหุ้น (house or stock prices) ในสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงจะทำให้ระดับการออมเงินในธนาคาร (private saving) เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้อุปสงค์การนำเข้าของสหรัฐฯ ลดลง และการส่งออกของประเทศอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย 7.4 เศรษฐกิจจีนอาจถึงจุดอิ่มตัว ทำให้อุปสงค์การนำเข้าของจีนลดลง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ