ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 10, 2004 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        แนวคิด ในการจัดตั้ง AEC เริ่มขึ้นที่การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ (นายโก๊ะ จ๊ก ตง) ได้เสนอให้อาเซียนกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่แน่ชัดเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งอาจเป็นไปในทำนองเดียวกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในระยะเริ่มต้น โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ศึกษารูปแบบและแนวทางของการพัฒนาการไปสู่การเป็น AEC
ในการนี้ AEM จึงได้ตั้งคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration: HLTF) ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการค้าของประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ขึ้น เพื่อศึกษาและเสนอแนะรูปแบบและแนวทางของการดำเนินการเพื่อไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ของไทย (นายการุณ กิตติสถาพร) เป็นประธาน HLTF และต่อมา HLTF ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุม AEM ครั้งที่ 35 เมื่อเดือนกันยายน 2546 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนตุลาคม 2546 พิจารณาให้ความเห็นชอบรูปแบบของ AEC ตามข้อเสนอแนะของ HLTF และได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ที่เรียกว่า Bali Concord II ซึ่งมีประกาศเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง AEC ขึ้นภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) เพื่อให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน รวมทั้งจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และแรงงานฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างเสรีมากขึ้น และเห็นชอบเรื่องการเร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการที่สำคัญ 11 สาขา (Priority Sectors) ภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010)
ในการดำเนินการเรื่อง Priority Sectors ได้กำหนดประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบเป็นแกนกลาง (Country Coordinators) ในการประสานงานในแต่ละสาขา โดยไทยได้รับมอบหมายให้เป็นแกนกลางในสาขาการท่องเที่ยวและการบิน ส่วนสาขาอื่นๆ ได้แก่ สินค้าเกษตรและประมง (พม่า) ผลิตภัณฑ์ยางและสิ่งทอ (มาเลเซีย) ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้ (อินโดนีเซีย) อิเล็กทรอนิกส์ (ฟิลิปปินส์) เทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (สิงคโปร์) นอกจากนี้ ยังกำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนแต่งตั้งหน่วยงานประสานระดับชาติ (National Focal Point) ในระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นผู้กำกับและประสานการดำเนินงานรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในภาพรวม ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2546 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะ AEM ทำหน้าที่เป็น National Focal Point โดยมีกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานการดำเนินงานในสาขาการบินและการท่องเที่ยวตามลำดับ
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการเพื่อเร่งรัดให้เกิดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขา เพื่อบรรลุการจัดตั้ง AEC โดยแจ้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้แต่งตั้งผู้แทนที่จะทำหน้าที่เป็น Focal Points ของไทยในสาขาต่าง ๆ และได้ประชุมกับหน่วยงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2547 เพื่อระดมความเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ของไทยในการเจรจาจัดทำ Roadmaps เพื่อเร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขา นอกจากนี้ ยังได้หารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1-4/35 ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2547 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ (Special SEOM) ในเดือนกรกฎาคม 2547 รวมทั้งการประชุม AEM Retreat ในเดือนเมษายน 2547 ในการจัดทำร่าง Roadmaps ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ทันนำเสนอให้ผู้นำอาเซียนลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา (ASEAN Framework Agreement for the Integration of Priority Sectors) ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ต่อไป
เพื่อให้การจัดทำ Roadmaps ดังกล่าวเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จึงกำหนดที่จะจัดการสัมมนาเรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)” ในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการและระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ Roadmaps รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบและเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการการเร่งรัดให้เกิดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขา เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งAEC ต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ