การตกลงการค้าเสรีต่อระบบสุขภาพของคนไทยในบริบทนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 11, 2005 14:16 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับการตกลงการค้าเสรีต่อระบบสุขภาพของคนไทยในบริบทนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
1. ความเป็นมา
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเร่งรัดเจรจา เพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี (Free Trade Agreement : FTA) กับ 8 ประเทศ และ 1 กลุ่มประเทศ อันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บาห์เรน สหรัฐอเมริกา เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศ BIMST-EC ประกอบด้วย ไทย พม่า อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา ภูฐาน และเนปาล ในหลายประเทศได้มีการลงนามข้อตกลงเป็นที่เรียบร้อย เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น และมีผลบังคับใช้หรือกำลังมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
ที่สำคัญ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐ โดยได้มีการเจรจาไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน — 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11-15 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ณ มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และกำลังจะเจรจาในครั้งที่ 3 ในวันที่ 13-17 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยครั้งที่ 3 นี้จะเป็นการเจรจาในระดับเนื้อหาสาระที่จะทำความตกลง
ข้อตกลงการค้าเสรีที่ประเทศต่างๆ ได้จัดทำไปแล้วนั้น ได้มีผลกระทบทั้งในทางบวกและลบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และระบบกฎหมายในแต่ละประเทศ เกิดกรณีบริษัทธุรกิจเอกชนฟ้องร้องเอาผิดกับรัฐบาลใน ๓ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ภายใต้มาตรา 11 ของข้อตกลงNAFTA มูลค่าการเรียกร้องค่าเสียหายเกือบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทย นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีที่สหรัฐอเมริกาทำกับออสเตรเลีย ทำให้ราคายาในออสเตรเลียสูงขึ้น เกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย
คณะทำงานสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่า การตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีที่รัฐบาลไทยกำลังเจรจากับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จะมีผลกระทบต่อประชาชนไทยในทุกระดับและกระทบต่อนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยเฉพาะระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ จึงเห็นควรทำการศึกษาและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตกลงการค้าเสรีต่อระบบสุขภาพของคนไทย เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการกำหนดนโยบายและหลักการการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทยอย่างแท้จริง
2. การดำเนินงาน
คณะทำงานสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการศึกษา ดังนี้
2.1 ประมวลเอกสาร บทความที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกประเทศ
2.2 จัดเวทีเสวนาระดับบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตกลงการค้าเสรีของประเทศไทย ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2547 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน
2.3 จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ผู้เข้าร่วม 120 คน
2.4 จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมสุขภาพในประเด็นการตกลงการค้าเสรีในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 8-9 กันยายน พ.ศ. 2547 ผู้เข้าร่วม 350 คน
จากการศึกษาและเวทีรับฟังความคิดเห็น คณะทำงานสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “การตกลงการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของคนไทยในบริบทนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ”
3. ข้อมูลทั่วไปและผลกระทบ
3.1 ผลกระทบในภาพรวม
ก. ภาคเกษตรกรรมจะมีสินค้าเกษตรกรรมจากประเทศต่างๆ เข้ามาในไทยมากขึ้น เกษตรกรรายย่อยของไทยจะแข่งขันในเรื่องสินค้าเกษตรราคาถูกจากต่างประเทศไม่ได้ (เช่น ผลไม้ หอม กระเทียม นม เป็นต้น)
ข. ภาคอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมหลายอย่างได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ
เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะเข้ามามากขึ้น ซึ่งโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาสินค้าด้านเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการครองตลาดและเทคโนโลยีเป็นของต่างประเทศ
ค. ภาคบริการ จะมีผลกระทบทั้งทางบวกและลบ การเปิดเสรีด้านบริการในต่างประเทศในสาขาที่ประเทศไทยมีความสามารถ เช่น อาหาร การนวดไทย การท่องเที่ยว เป็นต้น อาจมีผลทำให้มีการลงทุนและขยายงานทั้งในประเทศและนอกประเทศ แต่ในระยะยาวนั้น การแข่งขันในระหว่างประเทศอาจทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่เป็นของไทย ถูกต่างชาติที่มีศักยภาพสูงกว่าเข้ามาลงทุนหรือประกอบกิจการด้วยตนเอง
โดยภาพรวม ประชาชนจะมีโอกาสในการบริโภคสินค้าต่างๆ ที่หลากหลาย มากมายขึ้นและราคาถูก ซึ่งมีผลดีในระยะแรก แต่ในระยะยาว ความสามารถในการผลิตสินค้าต่างๆ ของประเทศไทยจะลดลง ซึ่งอาจทำให้สินค้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น
3.2 ผลกระทบต่อระบบสุขภาพ
ก. ในข้อตกลงของทริปส์ (TRIPs : Trade Related Intellectual Property Rights) รัฐบาลสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เพื่อป้องกันหรือบรรเทาการขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
มาตรการบังคับใช้สิทธิ หมายถึง การผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการที่ได้สิทธิบัตร โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ การบังคับใช้สิทธิมี ๒ ลักษณะ คือ การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (Government Use) และการบังคับใช้สิทธิโดยเอกชน (Compulsory Licensing)
ในกรณีบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ ภายใต้ภาวะฉุกเฉินของประเทศหรือสภาพการณ์เร่งด่วนอย่างที่สุดอื่นๆ (National Emergency Other Circumstances of Extreme Urgency) หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิทราบ และสามารถบังคับใช้สิทธิได้ทันที โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ (มาตรา 31 b) ทั้งนี้ รัฐต้องจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมให้กับผู้ทรงสิทธิ (มาตรา 32 h)
ข้อตกลงที่ประเทศพัฒนาต้องการ คือ ขอจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ โดยจำกัดเงื่อนไขการขอใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ในกรณีใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือภาวะฉุกเฉิน ให้ใช้ได้โดยรัฐหรือผู้ที่รัฐให้อำนาจเท่านั้น และผู้ทรงสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล
ข. กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้รับอนุญาตให้มีการนำยาที่มีสิทธิบัตรในต่าง
ประเทศที่จำหน่ายให้ผู้อื่นแล้ว เข้ามาขายแข่งขันกับยาที่มีสิทธิบัตรในประเทศได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและประชาชนมีโอกาสซื้อยาราคาที่ถูกกว่าได้ มาตรการนี้เรียกว่า “การนำเข้าซ้อน” (Parallel Import)
ข้อตกลงที่ประเทศพัฒนาต้องการ คือ ขอจำกัดการนำเข้าซ้อน ซึ่งจะทำให้ ยาที่มีสิทธิบัตรในประเทศถูกผูกขาดในตลาด ไม่มีการแข่งขันด้านราคาจากการนำเข้าซ้อน ผู้ป่วยขาดโอกาสได้รับยาที่มีราคาถูก
ค. ในข้อตกลง TRIPs กำหนดระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา 20 ปี นับแต่วันที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน
ข้อตกลงที่ประเทศพัฒนาต้องการ คือ ขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา ออกไปมากกว่า 20 ปี (ตั้งแต่ 2 - 5 ปี) ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการผูกขาดยาในตลาดยาวนานขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของประชาชน
ง. ในข้อตกลง TRIPs ป้องกันไม่ให้มีการใช้ข้อมูลทางพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม (Unfair Commercial Use) และป้องกันการเปิดเผยข้อมูลนั้น (Disclosure)
ข้อตกลงที่ประเทศพัฒนาต้องการ คือ ขอมีสิทธิเด็ดขาดในข้อมูล โดยประเทศคู่ค้าจะไม่อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ข้อมูลผลทดสอบผลิตภัณฑ์ (ยา) ในการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด โดยกำหนดระยะเวลาที่ห้ามใช้ข้อมูลเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับทะเบียนยา เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากบริษัทต้นตำรับ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทยาสามัญในประเทศไทยต้องรับภาระในการดำเนินการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียน ทำให้ผลิตยาสามัญออกสู่ตลาดล่าช้า ยาต้นตำรับมีการผูกขาดตลาดยาวนานขึ้น
จากข้อตกลงในการทำข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศพัฒนา โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย ดังนี้
การเข้าถึงยาของประชาชนไทย และประชาชนในโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ยาจะมีราคาแพงมากขึ้น มีผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และในที่สุดจะมีผลทำให้ต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการศึกษา สาธารณสุข ประเทศไทยจะขาดความสามารถในการพึ่งตนเอง ศักยภาพในการผลิตยาภายในประเทศจะอ่อนแอ และต้องพึ่งพาต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
จ. ขอให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทาง สิทธิบัตร (Patent Coperation Treaty : PCT)
ประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2547 ได้เห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านสิทธิบัตร ซึ่งในสาระของ PCT กำหนดไว้ว่า การได้รับสิทธิบัตรที่ไหนก็ตามสิทธิบัตรนี้สามารถคุ้มครองได้ครอบคลุมทุกประเทศที่เป็นสมาชิก PCT ตามที่ได้แสดงความจำนงไว้ในใบสมัคร
ฉ. ขอให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญา UPOV) และรับข้อ
ตกลงการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้คุ้มครองสิ่งมีชีวิตทุกประเภท
4. ความเห็นและข้อเสนอแนะ
1. กระบวนการและกลไกการเจรจา กระบวนการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรอบการเจรจา ประเด็น และจุดยืนของรัฐบาลในการเจรจา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทยและไม่เกิดผลกระทบต่ออธิปไตยของประเทศไทย
2. กระบวนการเจรจา ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ประชาชน นักวิชาการ องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรี
3. เอกสารการเจรจา ต้องใช้ภาษาของคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย เอกสารข้อเสนอและข้อเรียกร้องของประเทศคู่เจรจาทั้งหมด ต้องถูกแปลเป็นภาษาไทย และเอกสารข้อเสนอและข้อเรียกร้องของไทย ต้องถูกแปลเป็นภาษาของประเทศคู่เจรจาเช่นเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบการเจรจา และภาษาในการเจรจาให้ใช้ภาษาของคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการแสดงถึงการยอมรับในเอกราชและอธิปไตยของประเทศคู่เจรจา
4. ในเรื่องที่เกี่ยวข้องระบบสุขภาพต้องยึดหลักการที่ว่า การประเมินผลกระทบนั้นต้องคำนึงถึงผู้ป่วยและผู้บริโภค และการพึ่งตนเองด้านยาและสาธารณสุขของประเทศไทย ถ้ามีผลกระทบต่อการมีสุขภาวะ และการเข้าถึงยาและบริการสาธารณสุข จะต้องไม่รับในข้อเรียกร้องเหล่านั้น โดยไม่จำเป็น ต้องประเมินเปรียบเทียบผลประโยชน์ในข้อเสนอที่แลกเปลี่ยน เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนและตามรัฐธรรมนูญไทย ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่และมีสุขภาพที่ดี ผลกระทบจากการเจรจาการค้าทวิภาคี จะทำให้มีการผูกขาดตลาดยานานขึ้น ยามีราคาแพงขึ้นและอุตสาหกรรมยาภายในประเทศไม่มีศักยภาพในการแข่งขันกับบรรษัทยาข้ามชาติได้ ขาดความมั่นคงทางด้านยาและการสาธารณสุข ต้องนำเข้ายามากขึ้น รายจ่ายทางด้านยาและการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น
5. ในกรณีเฉพาะเรื่อง สิทธิบัตรยา ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ต่อระบบสุขภาพตามข้อ 4 ไทยควรมีจุดยืน ดังนี้
5.1 ต้องเป็นไปตามข้อตกลงใน Doha Declaration ซึ่งใช้ข้อตกลงของ TRIPs (ต้องไม่มากกว่าข้อตกลงของ TRIPs)
5.2 ต้องยกเว้นไม่ให้สิทธิบัตรยาจำเป็น เพราะการเข้าถึงยาเป็นสิทธิมนุษยชนและการสาธารณสุขนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศเท่านั้น
5.3 สิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ให้จำกัดขอบเขตเฉพาะสารเคมีใหม่ (New Chemical Entity)
5.4 เรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจาร่วมพัฒนาระบบบริหารสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพและถูกต้อง เช่น ฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่ดี การประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลสิทธิบัตร และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่แท้จริง
6. ไทยต้องเร่งให้การคุ้มครองพันธุ์พืช สมุนไพร และภูมิปัญญาการแพทย์ของไทย โดยต้องไม่รับข้อตกลงการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้คุ้มครองสิ่งมีชีวิตทุกประเภท และปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญา UPOV) เพราะจะมีผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรม การพัฒนาพันธุ์พืช ความมั่นคงทางด้านอาหารและการคุ้มครองสมุนไพร(พืชและสัตว์) และภูมิปัญญาการแพทย์ของไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีกฎหมายเฉพาะ (sui generis) ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลง TRIPs อยู่แล้ว
7. ไทยต้องพัฒนาระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและเกิดความเป็นธรรมต่อชุมชนท้องถิ่น โดยให้มีการเปิดเผย แจ้งแหล่งที่มาของทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งประดิษฐ์ที่มาขอรับการคุ้มครอง ให้แสดงหลักฐานการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ในกรณีที่มีการให้ภูมิปัญญาการแพทย์ของไทย เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นั้น
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ