ฉบับที่ ๒๖ สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ นาฬิกา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในงบประมาณปี ๒๕๔๘ ได้ตั้งไว้ ๑๖,๗๑๑ ล้านบาทเศษ ปี ๒๕๔๗ ได้ตั้งไว้ ๑๔,๘๘๓ ล้านบาทเศษ เพิ่มขึ้น ๒,๑๗๐ ล้านบาท ซึ่งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบค่าจ้าง ชั่วคราวควรลดลง เพราะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ๑๐๐ % รวมทั้งในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ งบค่าจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐ รวม ๒ ส่วนนี้เฉพาะในส่วนของค่าจ้างชั่วคราว โดยไม่รวมเงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง ๒๐ ล้าน จึงขอถามกรรมาธิการว่า คิดจะปรับลดหรือไม่ เพราะนโยบายของรัฐบาลต้องการให้ลด ในส่วนของสำนักปลัดกระทรวงมีค่าใช้จ่ายที่ได้ตั้งไว้เป็นประจำคือ ๑. ค่าใช้จ่ายประชุมนานาชาติ กรรมาธิการได้ทำการตรวจสอบหรือไม่ว่าใช้จริงหรือไม่ เพราะมีการตั้งไว้ทุกปี ๒. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษโดยไม่ระบุสถานที่จะนำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายอะไร ๓. ค่าใช้จ่ายในการบริหารการจัดใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาความยากจน๑๐ ล้านบาท เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงใด ๔. ค่าใช้จ่ายโครงการศูนย์บริการประชาชนกระทรวงทรพัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอะไรบ้าง ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีแผนงานเดียวคือ แผนงาน ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหารถเมล์ควันดำ เป็นหน้าที่ของกรมนี้หรือไม่ ถ้าเป็นมีแผนที่จะประสานกับกรมการขนส่ง การจราจร ในการกวดขันรถโดยสารเหล่านี้หรือไม่ โครงการคืนฟ้าใส ให้ชุมชนต้องการทราบว่านำงบประมาณไปทำอะไร มีความจำเป็นมากเพียงใด ตัดลดได้หรือไม่ และมีรายละเอียดอย่างไร - โครงการฟื้นน้ำเสียคืนน้ำใส ตั้งงบประมาณไว้ เพื่อดำเนินการอะไร - โครงการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการสารสนเทศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำงบไป ทำอะไร เป็นงบประชาสัมพันธ์หรือไม่อย่างไร - โครงการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ครบวงจร เห็นด้วยกับโครงการนี้แต่ไม่ทราบว่าทำอะไร บ้างจะพัฒนาอย่างไรและใช้ระบบอะไร จากนั้น นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า คำถามทุกคำถามที่สมาชิกได้อภิปรายไปนั้นได้มีการถามทุกคำถามแล้ว และได้มีโครงการ ๖ แผนงาน ซึ่งไม่สามารถตัดลดงบประมาณลงได้เลย เช่น การจัดจ้างบุคลากรเพิ่มของสำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนกรมควบคุมมลพิษนั้นเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ ทุกจังหวัดในประเทศไทย มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษ ดังนั้นจึงต้องใช้บุคลากรเป็นจำนวนมากและแผนงาน ๖ แผนงานที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นแผนงานที่มีระบบทุกแผน จากนั้น ได้มีการลงมติเห็นด้วยคะแนนเสียง ๒๙๒ เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการพิจารณาในมาตรา ๑๔ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอตัดลดงบประมาณลง ๒,๖๐๐ ล้านบาท สำหรับโครงการสมาร์ทการ์ดเป็นโครงการที่อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงเรื่องบัตรประจำตัวประชาชน โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบัตรเดิมมาเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด ในส่วนนี้กรรมาธิการได้มีการพิจารณาในกรอบของกฎหมายความเป็นจริง ความเหมาะสมและประสบการณ์หรือข้อถกเถียงหรือไม่อย่างไร และสามารถนำบัตรนี้ไปใช้อย่างไรบ้าง เห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องมีความพร้อมและ ชัดเจนในเรื่องกติกา เพราะบัตรประชาชนและข้อมูลที่ถูกนำไปบรรจุในสมาร์ทการ์ดถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายจะระบุว่าไม่ให้อำนาจในกฎหมายอื่นจะเข้ามาดูข้อมูลเหล่านี้ได้ จึงเป็นหลักประกันได้ระดับหนึ่ง และถามว่ารัฐบาลได้ใช้อำนาจอะไรมาจัดทำโครงการและนำข้อมูลในส่วนอื่นมาบรรจุลงในบัตรประจำตัวประชาชนทั้งที่เป็นกฎหมายคนละฉบับและมีหน่วยงานใดมีสิทธิดูข้อมูลได้บ้างและข้อมูลเหล่านี้การเข้าถึง ผู้ใช้จะมีรหัสอะไร หน่วยที่เก็บข้อมูลจะรวมอยู่ที่ศูนย์กลางหรือกระจัดกระจายเหมือนเดิม การผลักดันการใช้กฎหมายสำคัญ ๒ ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลอิเล็คทรอนิคส์ มีความจำเป็นต้องตราขึ้น เพราะเทคโนโลยีในการดึงข้อมูลไปใช้ทำได้สะดวกและรวดเร็ว และกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชญากรรมอิเล็คทรอนิคส์ข้อมูลไม่เพียงเป็นการละเมิดในการนำข้อมูลไป แต่อาจไปสร้างความเสียหายได้มากขึ้น แต่รัฐบาลไม่เสนอกฎหมายดังกล่าว นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยปรับลดลงมูลค่า ๗๒๘ ล้านบาท สาเหตุเพราะเมื่อทำตามหลักเกณฑ์การวัดผลสำเร็จของผลงานแต่ละกระทรวงที่ประกาศไว้ ที่ทำไว้ ซึ่งวัดทั้งในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณ ผลปรากฏว่าการบริหารงานของกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศฯ ขาดความโปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาลเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้อภิปรายว่าเป้าหมายที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ตั้งไว้นั้นไม่ประสบผลสำเร็จ และทางคณะกรรมาธิการได้มีการซักถาม ถึงเรื่องนี้บ้างหรือไม่ จากผลงานที่ผ่านมาในการใช้งบประมาณที่ได้รับจำนวนกว่า ๕ พันล้านบาทนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ไม่สามารถใช้ให้เกิดความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับผลงานที่ปรากฏออกมาไม่ว่าจะเป็น - โครงการ E-Procurement คือ การเปิดประมูลของราชการทางอิเล็คทรอนิคส์ หรือทางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดความประหยัด ป้องกันการสมยอมราคาและป้องกันการทุจริต แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำได้ในทุกหน่วยงาน และไม่สามารถ บังคับให้ทุกหน่วยงานทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้มีการประเมินว่าโครงการ E - Procurement นั้นไม่สามารถทำให้เกิดความประหยัดได้ อีกทั้งการทุจริตก็ยังเกิดขึ้นอยู่ - โครงการ E-Government การให้หน่วยราชการต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี ใช้ความรู้พื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เพื่อความรวดเร็ว เพื่อความประหยัด เมื่อไปตรวจสอบแล้วโครงการ E - Government ก็ล้มเหลว ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้ - โครงการคอมพิวเตอร์สินสมุทร สุดสาคร ที่ตั้งเป้าไว้ ๑ ล้านเครื่อง ปรากฏว่าจากยอดที่จองนั้นมีประชาชนขอสละสิทธิ์ยกเลิกไม่ประสงค์จะรับเครื่องมากถึง ๑๙,๘๒๘ เครื่อง- โครงการคอมพิวเตอร์สำหรับข้าราชการที่รัฐบาลให้ ผ่อนซื้อได้ ๒ ปี ส่วนดอกเบี้ยเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลออกให้ จึงขอเสนอให้ตัดลดงบประมาณส่วนนี้ลง เพราะเป็นโครงการที่ไม่ประสบผลสำเร็จ - โครงการ Call Center ซึ่งเป็นการให้บริการ GCC ที่ประชาชนสามารถติดต่อหน่วยงานของรัฐบาล ทุกหน่วยงานโดยโทรไปที่เบอร์เดียวและสามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ GCC ของไทยใช้แบบให้พนักงานตอบไม่เหมือนในต่างประเทศที่เป็นแบบระบบอัตโนมัติ ซึ่งโครงการนี้ใช้เงินงบประมาณปีหนึ่งถึง ๑๒๐ ล้านบาท สุดท้ายได้อภิปรายว่าทั้ง ๕ โครงการหลักของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ที่ได้ดำเนินงานไปนั้นเกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าหรือไม่ จึงขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ลง จากนั้น นายปกิต พัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการได้กล่าวว่า ในการพิจารณางบประมาณของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ทางคณะกรรมาธิการได้คำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้อภิปรายมาทุกประการ ได้มีการดำเนินการซักถามในหลายประเด็นจากการที่นายจุติ ได้แปรญัตติปรับลดงบประมาณของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ลง ๗๒๘ ล้านบาทนั้น ทางคณะกรรมาธิการได้คำนึงถึงสิ่งที่ได้อภิปรายทั้งหมดและเมื่อได้ทำการตรวจสอบแล้ว คณะกรรมาธิการเห็นควรที่จะปรับลดลง ๖๐๖,๘๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่นายจุติ ได้ขอปรับลด นอกจากนี้กรรมาธิการยังได้ทำการสอบถามถึงกระบวนการทำงานต่าง ๆ และในส่วนของ คำถามของนายอภิสิทธิ์นั้นได้ตอบโดยใช้ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ บางส่วน ได้แก่ นโยบายสำคัญในข้อ ๒.๒ "โครงการจัดทำบัตรประชาชนอิเล็คทรอนิคส์แบบเอนกประสงค์สมาร์ทการ์ด เป็นการ ลงทุนที่สูงมากควร อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ จากบัตรใบเดียวในการรับบริการจากภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและให้ความรู้ ในการใช้ประโยชน์ของบัตรอย่างทั่วถึง โดยไม่ควรกำหนดให้เด็กอายุตั้งแต่ ๗ ปี - ๑๕ ปี ต้องทำบัตรสมาร์ทการ์ดทุกคน รวมทั้งเก็บข้อมูลในสมาร์ทการ์ดและต้องมีกฎหมายรองรับการกำหนดหน้าที่และสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย" นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารลง ร้อยละ ๑๐ ของยอดรวม ด้วยเหตุผลที่ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ มีการของบประมาณในส่วนของงบรายจ่ายอื่น ซึ่งมีวงเงินถึง ๓๐๒ ล้านบาท ซึ่งทั้ง ๑๙ รายการของงบรายจ่ายอื่นนั้นเป็นเรื่องของการจ้างที่ปรึกษาทั้งสิ้น อยากทราบว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีการสอบถามถึงหลักเกณฑ์และการตรวจสอบเกี่ยวกับบริษัทที่ปรึกษาเหล่านั้นหรือไม่ อย่างไร และผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความไม่โปร่งใสของการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาเหล่านั้น อีกทั้งยังได้อภิปรายถึงโครงการจัดทำบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิคส์ แบบเอนกประสงค์ที่เรียกว่า สมาร์ทการ์ด คณะกรรมาธิการได้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการนี้แบบครบวงจรหรือไม่ และไม่ควรตรวจสอบเฉพาะการจัดทำบัตรเท่านั้น แต่ต้องร่วมไปถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายด้วย โดยเฉพาะระบบ Clearing House ควรตรวจสอบว่า ระบบเป็นอย่างไรและมีการป้องกันการสมยอมด้านราคาอย่างไร และในส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยา โครงการซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้เงินงบประมาณถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท และเมื่อมีการใช้งานเพียง ๒ ปีกว่า เครื่องก็เสีย มีการของบประมาณในการซ่อมแซมอีก ๕ ล้านบาท จึงอยากทราบว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว