รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยประจำเดือน ตุลาคม 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 27, 2004 15:57 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

1. การส่งออก 1.1 ภาวะการส่งออก - มูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในเดือนตุลาคม 2547 มูลค่าส่งออกเท่ากับ 9,014.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นมูลค่าการส่งออกที่เกิน 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเดือนแรก เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 21.6 การส่งออกช่วง 10 เดือนของปี 2547 มีมูลค่ารวมเท่ากับ 80,432.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 22.6 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 12.9 และสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 24.2 - การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญขยายตัวได้ดีทั้งมูลค่าและปริมาณ (ข้าวและยางพารา) การส่งออกข้าวขยายตัวทั้งมูลค่า (ร้อยละ 27.4) และปริมาณ (ร้อยละ 59.9) จากเดือนเดียวกันของปี 2546 และการส่งออกข้าวในช่วง 10 เดือนของปี 2547 มูลค่าขยายตัวร้อยละ 59.2 และปริมาณขยายตัว ร้อยละ 47.9 เช่นเดียวกับยางพารา ในเดือนนี้ขยายตัวได้ดีทั้งมูลค่า (ร้อยละ 53.9) และปริมาณ (ร้อยละ 37.9) โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 25.8 แต่ปริมาณส่งออกยังคงลดลงร้อยละ 6 ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในเดือนนี้ มูลค่าส่งออกขยายตัว 21.5 ขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.6 และการส่งออกในช่วง 10 เดือนของปีนี้ ขยายตัวทั้ง มูลค่า (ร้อยละ 42.2) และปริมาณ (ร้อยละ 45.1) โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของการส่งออกมันเม็ดและมันเส้น ซึ่งตลาดหลักในการส่งออก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออก และ แคนาดา - การส่งออกสินค้าหมวดอาหารในเดือนนี้ลดลงร้อยละ 0.3 (เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 2547 ลดลงร้อยละ 1.6) สินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 38 (แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.6) และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2547 ลดลงร้อยละ 43.6 (โดยในส่วนของการส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็งลดลงมากถึงร้อยละ 91.0 ขณะที่สินค้าไก่แปรรูปขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 30.8) สำหรับกุ้งแช่แข็งและแปรรูป ในเดือนนี้ การส่งออกกลับขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (รวมถึงมูลค่าส่งออกขยายตัวจากเดือนที่แล้วร้อยละ 14.6) และผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวร้อยละ 17.4 สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี มูลค่าส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูปลดลงร้อยละ 9.2 ส่วนผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวร้อยละ ร้อยละ 13.2 - สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี ร้อยละ 20.8 (มูลค่าการส่งออกช่วง 10 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 24.2) สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง (ร้อยละ 68.1) ยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (ร้อยละ 51.8) เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 46.6) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (ร้อยละ 45.7) ส่วนสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (ลดลงร้อยละ 21.1) เครื่องวิดีโอ เครื่องเสียงและส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ 16.9) เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนัง รองเท้า (ลดลงร้อยละ 13.8) สิ่งพิมพ์ กระดาษ และ บรรจุภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 13.5) และของเล่น (ลดลงร้อยละ 4.9) 1.2 ตลาดส่งออก/เป้าหมาย - ตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 18.7 (ขยายตัวร้อยละ 20.3 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี) จากเป้าหมายร้อยละ 11 โดยรวมแล้วขยายตัวได้ดีสูงกว่าเป้าหมายทุกตลาด ยกเว้นฟิลิปปินส์และบรูไนในเดือนนี้การส่งออกลดลงร้อยละ 14.5 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ - ตลาดรองขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 17.4 (และในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัว ร้อยละ 14.2) ในเดือนตุลาคมเกือบทุกตลาดที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย โดยการส่งออกไปยังฮ่องกงและไต้หวันลดลงร้อยละ 1.1 และร้อยละ4.8 (เป้าหมายร้อยละ 10 และร้อยละ 20) และตลาดทวีปออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 9.9 (เป้าหมาย ร้อยละ 30) และแคนาดาขยายตัวร้อยละ 13.7 (เป้าหมายร้อยละ15) ยกเว้นเกาหลีใต้ที่ส่งออกขยายตัวร้อย 18.4 มากกว่าเป้าหมายร้อยละ 15 - ตลาดใหม่ขยายตัวได้ดีร้อยละ 30.6 (ขยายตัวร้อยละ 32.3 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี) จากเป้าหมาย ร้อยละ 25.7 โดยตลาดที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ แอฟริกา (ร้อยละ 78.7) อินเดีย (ร้อยละ 63.9) และยุโรปตะวันออก (ร้อยละ 45.2) และตลาดที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย คือ ตะวันออกกลาง (ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 15) และจีน (ขยายตัวร้อยละ 28.2 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 38) 2. การนำเข้าและดุลการค้า - การนำเข้าในเดือนตุลาคม 2547 เพิ่มขึ้นในอัตราสูงในทุกหมวดสินค้า โดยมีมูลค่าการนำเข้า 8,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากเดือนที่แล้ว โดยในเดือนนี้การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวร้อยละ 23 สินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 12.2 และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 31.5 แต่ไทยยังคงเกินดุลการค้าในเดือนนี้มูลค่า 673.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง - การนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2547 ขยายตัวร้อยละ 29 คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมเท่ากับ 78,783 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการนำเข้าขยายตัวสูงทุกหมวด ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (ร้อยละ45.5) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 31.9) สินค้าทุน(ร้อยละ 25.2) สินค้ายานพาหนะฯ(ร้อยละ 21.4) และ สินค้าอุปโภคบริโภค(ร้อยละ 20.8) โดยไทยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 1,649.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 3. ดัชนีเศรษฐกิจ - ในเดือนตุลาคม 2547 ค่าดัชนีเศรษฐกิจบ่งชี้ว่านักธุรกิจมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะค่าดัชนีฯ อยู่เหนือระดับเส้น 50.0 โดย - ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจในไตรมาสที่ 4/2547 (ตุลาคม-ธันวาคม 2547) มีค่า 58.0 - ดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจปี 2548 มีค่า 59.0 - สำหรับแนวโน้มทิศทางของอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงโดยดัชนีชี้นำวัฏจักรเงินเฟ้อ (ชี้นำภาวะเงินเฟ้อของประเทศ ล่วงหน้า 7 - 9 เดือน) มีค่า 97.5 ลดลงจากเดือนกันยายน 2547 ร้อยละ 2.9 เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีทิศทางชัดเจนขึ้นและเริ่มชะลอตัวลง ที่มา : 1) ตัวเลขสถิติการค้าจากสำนักแผนพัฒนาการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก 2) ค่าดัชนีเศรษฐกิจจากสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ