(ต่อ2) หนังสือแจ้งความจำนงขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงิน ฉบับที่ 7

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 26, 1999 10:05 —กระทรวงการคลัง

(ภาคผนวก ข)
นโยบายด้านต่างประเทศ
10. ในปี 2542 ดุลการชำระเงินยังคงมีแนวโน้มมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากการทบทวนครั้งที่แล้วแม้จะมีการปรับปรุงองค์ประกอบบางรายการเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดดังนั้นจึงคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เดิมเล็กน้อยจากผลของความต้องการสินค้านำเข้าที่ชะลอตัวมากกว่าความต้องการสินค้าส่งออกของไทยสำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายคาดว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เดิมเนื่องจากอัตราการต่ออายุหนี้จะต่ำลง อย่างไรก็ตามเมื่อคำนึงถึงเงินกู้จากต่างประเทศแบบทวิภาคีที่เพิ่มขึ้น(โดยเฉพาะเงินกู้จากญี่ปุ่นภายใต้โครงการมิยาซาวา)คาดว่าเงินสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 32-34 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ณ สิ้นปี 2542 ทั้งนี้เกณฑ์ขั้นต่ำของฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิได้กำหนดไว้ในภาคผนวก ค
II. การปรับโครงสร้างภาคการเงิน
11.การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเอกชนภายใต้ความช่วยเหลือของรัฐบาลยังคงเป็นแผนงานหลักของการเสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบธนาคารในประเทศเพื่อผลักดันให้การเพิ่มทุนดังกล่าวคืบหน้าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เจรจาตกลงกับธนาคารพาณิชย์ 13 แห่งในเดือนมกราคม 2542และได้ดำเนินการให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOUs)กับสถาบันการเงินที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2542เรียบร้อยแล้ว
1. ตามรายละเอียดแผนธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์ได้ยื่นมานั้น ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง (รวมธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดจำนวนหนึ่ง) มีเงินกองทุนเพียงพอสำหรับครึ่งแรกของปี 2542 จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในกลุ่มนี้มีธนาคารพาณิชย์อย่างน้อย 2 แห่งเพิ่มเงินกองทุนเพียงพอสำหรับ 2 ปีข้างหน้าแล้ว ธนาคารอีก 2 แห่งอยู่ระหว่างการระดมทุนจากตลาดและธนาคารพาณิชย์อีก 2 แห่งที่มีต่างประเทศถือหุ้นใหญ่นั้น มีแหล่งเงินทุนพอเพียงสำหรับการเพิ่มทุนแล้ว ทั้งนี้ ธนาคาร 6 แห่งดังกล่าวมีส่วนแบ่งเงินฝากรวมกันเท่ากับร้อยละ 56 ของเงินฝากของระบบธนาคาร
2. ธนาคารเอกชน 2 แห่งซึ่งได้จัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนั้นกำลังอยู่ระหว่างการระดมเงินทุนจากภาคเอกชนเพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาลตามโครงการช่วยเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่1 ธนาคารทั้งสองมีส่วนแบ่งเงินฝากรวมกันเท่ากับร้อยละ 15 ของเงินฝากของระบบธนาคาร
3. รัฐบาลยังยึดมั่นในนโยบายที่จะเพิ่มทุนให้กับธนาคารของรัฐ 2 แห่งอย่างครบถ้วน คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเงินฝากรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของเงินฝากของระบบธนาคาร และจะเตรียมการแปรรูปธนาคารดังกล่าวในระยะปานกลาง สำหรับขั้นตอนการเพิ่มทุนให้ธนาคารทั้ง 2แห่งได้ระบุไว้ในหนังสือแสดงเจตจำนงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อแผนการปรับโครงสร้างธนาคาร ซึ่งทางการมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้กระบวนการนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่
30 เมษายน
4. สำหรับธนาคาร 3 แห่งที่ทางการเข้าแทรกแซงจะมีการเพิ่มทุน โดยดำเนินการผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นสถาบันการเงินเอกชนโดยเร็ว การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันนับเป็นความสำเร็จในการสร้างระบบการติดตามกำกับดูแลที่มองไปข้างหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจะดำเนินการตามแนวทางนี้ต่อไปและจะให้สถาบันการเงินทุกแห่งที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนภายในเดือนธันวาคม 2542 จัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม(การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์กำหนดเป็นเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสิ้นเดือนกรกฎาคม 2542) ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนทุกแห่งจะต้องยื่นรายละเอียดแผนการเพิ่มทุนจนถึงสิ้นปี 2543 (Box A)
12. แม้กระบวนการจะมีความล่าช้าอยู่บ้าง แต่รัฐบาลยังยึดมั่นนโยบายที่จะแปรรูปธนาคารศรีนคร ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารรัตนสิน (ซึ่งควบรวมกับธนาคารแหลมทองที่ทางการเข้าแทรกแซง) ให้เป็นสถาบันการเงินเอกชนต่อไป ในขณะนี้การดำเนินการแปรรูปธนาคารรัตนสินมีความคืบหน้าที่สุด และคาดว่าจะสามารถเสนอขายได้เป็นธนาคารแรกภายในสองสามสัปดาห์ข้างหน้า สำหรับอีกสองธนาคารนั้น ได้ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินในการจำหน่ายกิจการแล้ว และแนวทางการแปรรูปธนาคารทั้งสองก็ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่จะให้การขายกิจการของทั้งสามธนาคารเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2542 นี้การเปิดประมูลรอบแรกและการคัดเลือกผู้ซื้อที่มีศักยภาพรอบแรกคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2542 นี้ (ซึ่งจะถือเป็นเกณฑ์ปฏิบัติภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ)
13. การปรับโครงสร้างระบบสถาบันการเงินอยู่ในขั้นตอนที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปปฏิบัติ (โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) ทั้งนี้ ขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถูกกำหนดให้ชัดเจนขึ้น โดยหน่วยงานเหล่านี้จะต้องรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติงานให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ประสานงานทราบเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการตัดสินใจ ทางการได้กำหนดกรอบในการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่เจ้าหน้าที่และกรรมการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้ชัดเจนขึ้น และได้ปรับปรุงการบริหารงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้มีความแข็งแกร่งขึ้นโดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านการธนาคารมาจากภายนอก
14. ความคืบหน้าในการปฏิรูปการกำกับดูแลสถาบันการเงินเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามที่คาดการณ์ไว้การร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่าจะส่งไปยังภาคการธนาคารเพื่อขอความเห็นได้ภายในเดือนเมษายน 2542 พระราชบัญญัตินี้จะเพิ่มประสิทธิภาพของ กระบวนการกำกับดูแลสถาบันการเงินและให้อำนาจความรับผิดชอบแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยใน การกำกับดูแลอย่างชัดเจน โดยคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในกลางปี 2542 นี้ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนั้นร่างพระราชบัญญัติประกันเงินฝากกำลังอยู่ระหว่างการยกร่างเพื่อจะนำมาใช้แทนมาตรการการรับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ทางการได้นำมาใช้ตั้งแต่เริ่มแผนฟื้นฟูเศร
15. องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะเริ่มชำระคืนเงินที่ได้จากการประมูลขายสินทรัพย์ที่ผ่านมาให้แก่เจ้าหนี้ และคาดว่าจะประมูลขายสินทรัพย์ทุกอย่างแล้วเสร็จภายในกลางปี 2542 สำหรับสินทรัพย์ที่เป็นสินเชื่อธุรกิจที่ยังขายไม่ได้ในการประมูลเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้นำออกประมูลขายอีกครั้งในวันที่ 19 มีนาคม 2542ซึ่งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้ปรับวิธีการประมูลเพื่อให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากขึ้นและให้มีการประมูลโดยการแบ่งปันผลกำไร ทั้งนี้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ได้เข้าร่วมประมูลในฐานะผู้ประมูลรายสุดท้าย โดยบบส. ได้ใช้ความระมัดระวังในการเสนอราคาให้สะท้อนราคาตลาดที่ควรจะเป็น
III. การปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจเอกชน การปฏิรูประบบกฎหมาย และการเปิดตลาด
16. กรอบในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจเอกชนโดยสมัครใจมีความแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับจากการทบทวนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการประนีประนอมไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกันเอง และระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีความคืบหน้ามาก โดยมีโครงการที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จแล้วกว่า 67 บริษัท รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นข่าวในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายโครงการ ทำให้ได้มีการเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายจากปัจจุบัน 200 รายเพื่อเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว นอกจากนี้คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในกระบวนการเจรจาต่อรองารปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้นอกศาล
17. ในการดำเนินการดังกล่าว การปฏิรูประบบกฎหมายทั้งที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้จากการถูกฟ้องล้มละลาย และการรักษาสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับหลักประกัน ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกลยุทธ์การดำเนินงานปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลาย และกฎหมายเพื่อให้มีการจัดตั้งศาลล้มละลายแล้ว นอกจากนี้กฎหมาย 2 ใน 3 ฉบับที่เกี่ยวกับกระบวนการบังคับคดีได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วทั้งนี้ รัฐบาลจะให้ความร่วมมือกับรัฐสภาเพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายบังคับคดีฉบับที่เหลือเสร็จสิ้นโดยเร็ว
18. องค์ประกอบของการปฏิรูประบบกฎหมายที่สำคัญเท่าเทียมกันอีกประการหนึ่ง คือ การเปิดเสรีการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคเศรษฐกิจดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่ได้กล่าวไว้ในบันทึกแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยฉบับก่อน ๆ ทางการได้ริเริ่มปรับปรุงกฎหมายดังต่อไปนี้
(1) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
(2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน
(3) พระราชบัญญัติอาคารชุด
(4) พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดให้เป็นทรัพยสิทธิ
และ(5) พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ (เพื่ออำนวยต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ)
โดยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจและพระราชบัญญัติอาคารชุดได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว รัฐบาลจะให้ความร่วมมือกับรัฐสภาต่อไปเพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายที่เหลือเสร็จสิ้นโดยเร็ว
19. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังคงเป็นนโยบายสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเมื่อเดือนกันยายน 2541 การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในหลายสาขาได้มีความคืบหน้ามากขึ้น ในสาขาพลังงาน แผนการแปรรูปที่ไดัรับการอนุมัติแล้ว ได้แก่
1) การให้เอกชนเข้าร่วมทุนในโรงไฟฟ้าราชบุรี ภายในสิ้นปี 2542
2) การกระจายหุ้นในส่วนที่รัฐบาลถืออยู่ของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเริ่มประมาณกลางปี 2542 และ
3) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่กำลังเตรียมการศึกษาวิธีการประมูลขายหุ้นของกระทรวงการคลังในบริษัทเอสโซ่ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะดำเนินการทันทีที่ภาวะตลาดเอื้ออำนวย และควรจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2542 ในสาขาคมนาคม ขณะนี้มีการเตรียมการจัดทำหนังสือชี้ชวนเพื่อประมูลขายหุ้นของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในกลางปี 2542 และมีการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อแปลงการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทจำกัดและแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนในที่สุด
ในส่วนของการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการประปานครหลวง การประปาภูมิภาค และองค์การจัดการน้ำเสีย
รัฐบาลได้มีการศึกษาถึงการกำหนดกรอบระเบียบข้อบังคับและโครงสร้างค่าธรรมเนียมการใช้น้ำประปาแล้วด้วย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ