การเจรจาเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน จีนได้ผ่านขบวนการรับรองผลการเจรจาเข้าเป็นสมาชิก WTO แล้วเมื่อวันที่ 17 กันยายน ศกนี้ และคณะมนตรีทั่วไปของ WTO จะเสนอให้รัฐมนตรีองค์การการค้าโลกให้การรับรองการเข้าเป็นสมาชิกต่อที่เข้าประชุมองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน ศกนี้ หลังจากนั้น จีนจะต้องดำเนินการด้านกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงดังกล่าวและแจ้งต่อ WTO และจะมีผลเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ในอีก 30 วัน ในปี 2543 จีนมีการส่งออกสินค้าสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยส่งออก 249 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีส่วนแบ่ง 3.9% ของการส่งออกโลก และนำเข้าสูงเป็นลำดับที่ 8 โดยนำเข้า 225 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3.4% ของการนำเข้าโลก ในส่วนการค้าบริการ จีนส่งออกบริการเป็นอันดับ 12 (29.7 พันล้านเหรียญ) หรือ 2.1% ของการส่งออกบริการโลก และนำเข้าบริการเป็นลำดับที่ 10 มูลค่า 34.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเป็นสัดส่วน 25% ของการนำเข้าบริการของโลก เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO จะทำให้จีนเป็นประเทศที่มีบทบาททางการค้ามากเป็นลำดับรองจากกลุ่ม Quads (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา) ซึ่งหลายประเทศคาดการณ์ว่าจะทำให้ขั้นอำนาจของประเทศสมาชิก WTO มีความสมดุลมากขึ้นระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนยอมรับที่จะปฏิบัติที่สำคัญ เช่น จีนจะไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศสมาชิก WTO จะปฏิบัติต่อประเทศสมาชิกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฎิบัติต่อ วิสาหกิจของจีน การควบคุมราคาจะไม่นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในหรือผู้ใช้บริการ จีนจะไม่อุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร จีนจะยกเลิกระบบการควบคุมโควตาในอนาคต จีนจะยังคงไว้ซึ่งการค้าสินค้าโดยรัฐ เช่น เมล็ดข้าว (serials) ยาสูบ น้ำมัน และสินค้าแร่ สินค้าดังกล่าวเหล่านี้ยังคงมีการจำกัดการจำหน่ายภายในประเทศ และจีนจะค่อยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการต่อไป จีนจะลดภาษีสินค้าเกษตรเฉลี่ยร้อยละ 15 คือจะเรียกเก็บร้อยละระหว่าง 0-65 สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมจีนจะลดภาษีเฉลี่ยร้อยละ 8.9 คือจะเรียกเก็บภาษีร้อยละระหว่าง 0-47 จีนสามารถให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรร้อยละ 8.5 ของมูลค่าการผลิต ผลดีและผลเสียต่อไทย จีนต้องเปิดตลาดสินค้าและบริการให้แก่ไทยเป็นข้อแลกเปลี่ยนตามผลการเจรจาให้จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ดังนี้ 1. จีนลดอัตราภาษีให้ไทยจำนวนทั้งสิ้น 136 รายการ อัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 30.2% เหลือ 13.1% ตัวอย่างเช่น 1.1 สินค้าเกษตร จีนลดภาษีให้ไทย 39 รายการ อัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 41.9% เหลือ 16.9 % เช่น -มันสำปะหลังอัดเม็ด ลดภาษีจาก 10% เหลือ 5% -แป้งมันสำปะหลัง ลดภาษีจาก 20% เหลือ 10% -เส้นก๋วยเตี๋ยว ลดภาษีจาก 25%เหลือ 15% -ลำใยสด ลดภาษีจาก 30% เหลือ12% -ลำใยแห้ง ลดภาษีจาก 30% เหลือ 20% 1.2 สินค้าประมง จีนลดภาษีกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งให้ไทย 12 รายการ อัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 22.9% เหลือ 10.3% 1.3 สินค้าอุตสาหกรรม 85 รายการที่สำคัญ ได้แก่ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น 2. ขยายโควต้าสินค้าเกษตรและยกเลิกไปในที่สุด 2.1 ข้าวและผลิตภัณฑ์ จีนกำหนดโควตาเริ่มต้นในปี 2543 จำนวน 2.66 ล้านตัน และขยายโควตาเป็น5.32 ล้านตันในปี 2547 -โควตารวมจะแบ่งเป็นโควตาข้าวเม็ดยาวครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้น -อัตราภาษีในโควตาของข้าว 1% และผลิตภัณฑ์ข้าว 9% -อัตราภาษีนอกโควตาของข้าวและผลิตภัณฑ์ในปี 2543 อยู่ระหว่าง 40%-80% และลดเหลือ 10%-65% ในปี 2547 -จัดสรรโควตาให้ภาคเอกชนนำเข้าข้าวได้ 50% ของปริมาณโควตารวม 2.2 น้ำตาล จีนกำหนดโควตาเริ่มต้นในปี 2543 จำนวน 1.6 ล้านตัน อัตราภาษี 30% -ขยายโควตาเป็น 1.945 ล้านตันในปี 2547 และลดภาษีลงเหลือ 20% -หากจีนมีการส่งน้ำตาลที่นำเข้าออกนอกประเทศ (re-export) เป็นจำนวนมากกว่าปกติ จีนจะหารือกับไทยเพื่อมิให้กระทบต่อการส่งออกของไทยในตลาดอื่น 2.3 ยางพารา จีนกำหนดโควตาเริ่มต้นจำนวน 429,000 ตัน และขยายเพิ่มขึ้นปีละ 15% และยกเลิกโควตาในปี 2547 จีนลดอัตราภาษีนำเข้ายางพาราจาก 305เหลือ 20% ทันทีที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO 3. การเปิดตลาดการค้าบริการ เฉพาะโรงแรมและภัตตาคาร -จีนอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ -หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้ 4 ปีแล้วจะอนุญาตให้เปิดสาขาย่อยโดยต่างชาติเป็นเจ้าของได้ 100% -ไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาเข้าไปประกอบอาชีพธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ยกเว้นการเคลื่อนย้ายชั่วคราวของพนักงานระดับผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารอาวุโส และพ่อครัว การค้าบริการ ไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดบริการในบางสาขา แต่ข้อเสนอในการเปิดตลาดบริการของจีนเมื่อเปรียบเทียบกับข้อผูกพันของไทยใน WTO แล้ว จีนเปิดตลาดมากกว่าไทยที่ผูกพันไว้ ซึ่งจีนอาจจะนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างให้ไทยเปิดตลาดบริการให้จีน เช่น จีนอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมากได้ในสาขากฎหมาย (ยกเว้นการว่าความกฎหมาย) สถาปัตยกรรม วิศวกรรม การแพทย์และทันตกรรม ในขณะที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49 % ส่วนในสาขาประกันภัยจีนก็อนุญาติให้ต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนถึง 50% แต่ไทยอนุญาตให้ถือหุ้นได้เพียง 25% เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีอาจจะส่งผลกระทบต่อไทยในอนาคต เนื่องจากจีนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกสิ่งทอ เครื่องหนัง ของเล่น ดอกไม้ประดับ ไทยอาจจะต้องแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ และส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ภาคเอกชนควรเตรียมตัวอย่างไร - ภาคการผลิต ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยปรับโครงสร้างและลดต้นทุนการผลิต - ภาคเอกชนของไทยควรเข้าไปมีส่วนร่วมของควมเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในลักษณะหุ้นส่วนเพื่อความก้าวหน้า (partner for progress) แทนการแข่งขันกับจีน เช่นเข้าไปร่วมลงทุนในจีน เป็นหุ้นส่วนทางด้านการค้า ร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว ต้องเร่งเข้าไปติดต่อทำธุรกิจการค้าตั้งแต่บัดนี้ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (662)2826171-9 แฟกซ์ (662)280-0775-สส-