ความคืบหน้าการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าบริการด้านการเงิน ในสาขาประกันภัย ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2005 13:39 —คปภ.

          นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย ได้เปิดเผยถึงผลการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าบริการด้านการเงิน ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่จัดขึ้นเป็นรอบที่ 5 ในระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2548 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คณะผู้เจรจาด้านการเงินฝ่ายไทย ซึ่งมี นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะ โดยประกอบด้วย ผู้แทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกรมการประกันภัย ได้มีการเสนอร่างความตกลงในส่วนของสาขาการเงิน ซึ่งเป็นการยืนยันท่าทีของฝ่ายไทย ที่จะขอเจรจาจัดทำความตกลงฯ ในลักษณะ Positive-list Approach คือ การระบุสาขาการเงิน ที่สามารถเปิดเสรีได้ไว้ในข้อตกลง และส่วนใดที่ไม่ได้ระบุไว้จะถือว่ามิได้มีการเปิดเสรีใดๆ ในขณะที่ทางฝ่ายสหรัฐฯ ต้องการแบบ Negative-list Approach คือ เปิดเสรีให้แก่กันอย่างเต็มรูปแบบ ยกเว้นส่วนที่ระบุไว้เป็นข้อสงวนท้ายความตกลงฯ ซึ่งในการเจรจารอบ ต่อไปๆ ทั้งสองฝ่ายอาจมีการรวมร่างความตกลงฯ เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ จะเป็นไปด้วยความ เหมาะสมและได้รับการพิจารณาในระดับนโยบาย เพื่อให้การเจรจาได้ประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
ในส่วนของสาขาประกันภัย ซึ่งมีนางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการ ประกันภัย เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ได้มีการหารือและเห็นพ้องร่วมกันในเรื่องต่างๆ คือ
- ให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างบริษัทประกันภัยไทยและต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่ก็มีส่วนแตกต่างกันคือ กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าสาขาของบริษัทประกันภัยต่างประเทศจะเปิดสาขา (ย่อย) ณ ที่ใดๆ เพิ่มเติม มิได้
- แนวทางการอนุมัติแบบคำขอต่างๆ โดยในปัจจุบัน กรมธรรม์ประกันชีวิตตามแบบมาตรฐาน ก็ได้มีการอนุมัติแบบ File and Use อยู่แล้ว และกำลังมีการศึกษาเพื่อปรับใช้การอนุมัติในลักษณะเดียวกันกับกรมธรรม์ประกันวินาศภัยประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม
- การอนุมัติออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยมีการบริการในตลาดหรือที่มีความซับซ้อน ควรต้องมีการพิจารณาโดยใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม และการที่จะ ไม่อนุมัติจะต้องเป็นเหตุผลที่พิจารณาแล้วเห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น
- การขยายขอบเขตการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทประกันภัย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็ได้อนุญาตให้บริษัทประกันภัยมีการลงทุนในต่างประเทศได้อยู่แล้ว โดยต้องเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงและเหมาะสมกับนโยบายการลงทุนในขณะนั้น
สำหรับการถือครองหุ้นในบริษัทประกันภัยของชาวต่างชาติ ซึ่งในปัจจุบันได้กำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 25 และได้มีการขอเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วน ดังกล่าวให้เป็นไม่เกินร้อยละ 49 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ธุรกิจประกันภัยของไทยคงสามารถเพิ่มความแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง เพราะขณะนี้ กรมการประกันภัยและภาคธุรกิจประกันภัย ทั้งการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยก็มีการเตรียมการให้มีการจัดทำแผนแม่บทการ ประกันภัยแห่งชาติ
ที่มา: http://www.doi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ