ลอยตัวดีเซลทำกำลังซื้อหาย 1.2 แสนล้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2005 15:14 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          กกร.ร่วม 3 สถาบันถกประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ 11 ข้อ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ผลกำลังซื้อหด 1.2 แสนล้านบาท GDP ลดเหลือ 3.3% จากเป้า 5.5% เงินเฟ้อเพิ่ม 4.2% จากคาดการณ์ 3.5% แม้มีนโยบายเพิ่มเงินเดือนราชการ มีเงินเข้าระบบอีก 40,000 ล้านบาท แต่ชดเชยกำลังซื้อที่หายไปกว่า 1.2 แสนล้านจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันไม่ได้ แนะรัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดลำดับความสำคัญเมกะโปรเจ็กต์เตรียมเสนอ "ทักษิณ" ต้นเดือนหน้า
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า ที่ประชุมได้สรุปประเด็นทางด้านเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะนำเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยจะประกอบไปด้วย 11 ประเด็นหลักที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงนโยบายและวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
1) ภาคเอกชนเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หายไปประมาณ 1.2 แสนล้านบาท รวมกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงคาดว่าจะมีผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศลดลงเหลือประมาณ 3.3-3.5% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 5.1-5.5%
2) ราคาสินค้าที่แพงขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.8-4.2% จากเป้าที่วางไว้ 3.5-3.8%
3) มาตรการของรัฐบาลที่จะเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการนั้น คาดว่าจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 40,000-60,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้พยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่พอเพียงกับอัตราการบริโภคที่หายไป 1.2 แสนล้านข้างต้น
4) เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง รัฐบาลจึงควรจะกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กลับคืน โดยสนับสนุนการใช้จ่ายเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็น ลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยลง
5) ควรให้ราคาสินค้าและค่าแรงปรับตัวไปตามกลไกของตลาด โดยรัฐบาลจะต้องเข้าดูแลควบคุมไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร
6) การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงอาจจะมีผลทำให้การเก็บภาษีอากรของรัฐลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐจึงควรระวังรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการต่างๆ ที่ได้ประกาศไปแล้ว และมาตรการที่กำลังจะดำเนินการต่อไป
7) โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ควรจะเลือกลำดับความสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทิ้งงานหรือก่อสร้างไม่สำเร็จ กกร.เห็นควรเสนอให้เน้นไปที่โครง การระดับรากหญ้าเป็นหลัก และควรดึงต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เพื่อลดภาระการลงทุนของรัฐบาล
8) แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดี และบางธุรกิจยังขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจไม่ส่งผลต่อจำนวนการว่างงานมากนัก จึงเห็นว่าเสถียรภาพทางการเงินและการควบคุมอัตราเงิน เฟ้อสำคัญกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
9) รัฐบาลควรเร่งรัดมาตรการการส่งออกและรณรงค์เรื่องการค้า-บริการ การสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น
10) ควรชะลอการนำเข้าสินค้าบางประเภทเพื่อลดการขาดดุลการค้า และ
11) รณรงค์และสนับสนุนให้ธุรกิจลดต้นทุนทุกประเภทโดยเฉพาะการใช้พลังงาน
"ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจทั้ง 11 ข้อนี้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน และนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการ ซึ่งทางภาคเอกชนก็จะนำแต่ละประเด็นมาหารือเพื่อกำหนดรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเตรียมที่จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบในนามของ กกร. เพื่อเป็นแนวทางให้นายกรัฐมนตรีกำหนดเป็นทิศทางการดำเนินนโยบายบริหารเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อเสนอของ กกร.กล่าว
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

แท็ก กกร.   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ