แนวทางการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 14, 2005 13:46 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
1. ความเป็นมา
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ดำเนินพันธกิจหลักเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540 โดยสภาที่ปรึกษาฯ เห็นว่านับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดกฎ กติกา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน ให้เป็นหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในฐานะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อเป็นแนวทางในการให้ความคุ้มครอง และการตรากฎหมายรองรับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540
คณะทำงานสังเคราะห์ยุทธศาสตร์ของสภาที่ปรึกษาฯ จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษา
ตรวจสอบ สังเคราะห์บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในมาตราต่างๆ ที่มีสาระสำคัญกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
พันธกิจหลักเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อการดำเนินงาน ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 5 โดย
สภาที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ภายใต้โครงการสังเคราะห์ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2545-2547) เรื่อง การตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย
ให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อติดตามตรวจสอบ
2. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานสังเคราะห์ยุทธศาสตร์ของสภาที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย
เชิงคุณภาพ ภายใต้โครงการสังเคราะห์ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(2545-2547 ) โดย (1) ศึกษา ตรวจสอบ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ (2) สังเคราะห์บทบัญญัติที่มีสาระกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นอยู่ของประชาชน และบทบัญญัติที่ให้อำนาจการ
ตรากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน และ (4) สัมมนาระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเครือข่ายภาคประชาคมและองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประมวลผล จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
3. วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นข้อมูลเสนอต่อรัฐบาล ประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 ต่อไป
4. ข้อเสนอแนะ แนวทางการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกรอบการใช้อำนาจรัฐและหลักประกันสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ความคุ้มครอง และให้อำนาจในการปรับปรุงแก้ไข หรือตรากฎหมาย เพื่อรองรับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ให้นำไปสู่การบังคับใช้เป็นการทั่วไปอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้มา 7 ปีแล้ว แม้ว่ากฎหมายส่วนใหญ่จะมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังมีบทบัญญัติของกฎหมายบางฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
ที่ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ความสอดคล้องตามนวัตกรรมแห่งสิทธิ เสรีภาพของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันกฎหมายใหม่ เพื่อรองรับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้ให้มีผลบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้
4.1 ดำเนินการตรากฎหมายใหม่ รองรับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ตามลำดับความสำคัญของมาตราต่างๆ ดังนี้
4.1.1 เร่งพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎและข้อบังคับต่างๆ ที่ยังมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 30 ให้ความเสมอภาคของบุคคลในด้านกฎหมาย สิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ และไม่เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติที่มีสาเหตุเนื่องจากความแตกต่างเรื่องถิ่นฐานเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สถานภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง ให้ประชาชนพึงได้รับสิทธิในฐานะมนุษย์ที่พึงได้รับความเคารพและความเป็นธรรม
4.1.2 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 46 เพื่อรับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่น เป็นกฎหมาย
แม่บทส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
4.1.3 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 56 เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ให้เข้ามามีบทบาทในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และในการ
คุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบการทำงานของรัฐที่จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากจะดำเนินโครงการใดๆ ที่จะกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มีองค์กรอิสระให้ความเห็นประกอบผลการศึกษาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมาตราดังกล่าว มีความเกี่ยวโยงกับกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ฯลฯ
4.1.4 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 290 เพื่อรองรับบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตามกฎหมายกำหนดไว้นั้น เข้ามารับผิดชอบในการจัดการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในและนอกเขตพื้นที่ในกรณีที่มีผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนที่อยู่อาศัย มาตราดังกล่าว มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับมาตรา 46 และ 56 ในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขต/นอกเขตตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การตรากฎหมายรองรับทั้งสามมาตราดังกล่าว จะนำไปสู่บูรณาการของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน
4.1.5 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 60 เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติงานที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิ สนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
4.1.6 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนทุกคนเป็นผู้บริโภคที่ได้รับการคุ้มครอง ด้วยการ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้บริโภค จัดตั้งกลไกในรูปขององค์กรอิสระ (แยกออกจากหน่วยราชการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค) ทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานกับภาครัฐที่มีอยู่ และการให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างกว้างขวางและมีความคล่องตัวทั้งการแก้ไขปัญหาและการป้องกัน
4.1.7 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 53 วรรค 1 เพื่อให้ความคุ้มครองเด็กและบุคคลในครอบครัวจากการใช้ความรุนแรง เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ส่ง
ผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ การทำงาน ด้านจิตใจ ฯลฯ กฎหมายดังกล่าวจะเป็นมาตรการทางสังคมด้านการให้ความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ การดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก และการต่อต้านการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อเด็กและบุคคลในครอบครัว รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวที่พึงมีต่อกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม
4.1.8 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 76 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บท ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้ง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ การออกกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้ทุกภาคส่วนของสังคมเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ และเป็นแนวทางที่รัฐจะต้องสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดขึ้นด้วย
4.1.9 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 59 เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลในการทราบข้อมูลและให้รัฐรับฟังความคิดเห็น ก่อนการอนุมัติหรือการดำเนินโครงการ/กิจกรรมอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้ส่วนเสียของตนเองหรือของชุมชน
4.1.10 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 55 เพื่อรับรองสิทธิของคนพิการที่จะได้รับความ
ช่วยเหลือและได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐ การผลักดันกฎหมายดังกล่าว จะมีผลต่อการให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือแก่คนพิการหรือทุพลภาพ จากเดิมที่ช่วยเหลือในเชิงสาธารณะเป็นรายบุคคล ทำให้ผู้พิการหรือทุพพลภาพมั่นใจในสถานภาพที่เกิดมาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง รวมทั้ง ยังจะช่วยสร้างเสริมศักยภาพของคนพิการให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้เต็มที่
ทั้งนี้ การร่างกฎหมายทุกฉบับควรผ่านกระบวนการทางสังคม เพื่อให้ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้เรียนรู้ร่วมกัน และระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชน ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากกฎหมายซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป โดยรัฐถือเป็นหน้าที่ในการเผยแพร่ควรประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจและรู้สึกเป็นเจ้าของในกฎหมายนั้นร่วมกัน
4.2 ปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของมาตราในกฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีผลเป็นการบังคับใช้ทั่วไป โดยไม่เลือกปฏิบัติ มีดังนี้
4.2.1 ปรับปรุงกฎหมายที่มีผลกระทบต่อความไม่เสมอภาคของบุคคล ทั้งทางกฎหมาย ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ความไม่เสมอภาคต่อคนพิการ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1) พระราชบัญญัติยกเว้นความผิดทางอาญา ให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือเครื่องวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ. 246 บทบัญญัติ มาตรา 3 บัญญัติว่ามิให้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุม ยุทธภัณฑ์ ที่ถูกจับกุม หรือตกเป็นผู้ต้องหา ก่อนวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ และอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด บทบัญญัติดังกล่าว ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ที่ถูกทางราชการดำเนินคดีแล้ว แต่การดำเนินคดียังค้างอยู่ ทำให้เกิดความไม่เสมอของบุคคล เนื่องจากความไม่เสมอกันในกฎหมายซึ่งไม่สอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติ มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าบุคคลในสถานะอย่างเดียวกัน ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน
2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งที่ยังเป็นการเลือกปฏิบัติจากเหตุแห่งพฤติกรรมอย่างเดียวกัน ให้เกิดสิทธิเป็นการทั่วไปเท่าเทียมกันทั้งสองเพศ ดังนี้
(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บทบัญญัติ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ดังนี้
มาตรา 1445 บัญญัติให้เฉพาะชายคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่น ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นนั้นแล้ว
มาตรา 1516 บัญญัติให้บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา แม้ว่ากฎหมาย มีวัตถุประสงค์ให้สิทธิแก่บุตรไม่ใช่การรอนสิทธิก็ตาม แต่ควรบัญญัติอย่างเป็นกลาง ไม่ควรเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศต่างกัน เพื่อให้บุตรสามารถเลือกใช้นามสกุลของทั้งมารดาและบิดาได้
มาตรา 1516(1) เหตุหย่า บัญญัติแต่เพียงกรณีที่สามีอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ มิได้บัญญัติถึงพฤติกรรมเดียวกันอันเกิดจากการกระทำโดยหญิง
(2) ประมวลกฎหมายอาญาบทบัญญัติ มาตรา 276 และ มาตรา 277 ว่าด้วยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ได้บัญญัติเฉพาะกรณีชายเป็นผู้กระทำ ทั้งที่มีแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาศาลฎีกาว่า หญิงก็เป็นผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 250/2510 และคำพิพากษาฎีกาที่374/2526)
(3) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 บทบัญญัติ มาตรา 9 หญิงซึ่งเป็น คนต่างด้าวแต่ได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติการรับรองสิทธิของชายต่างด้าวที่สมรสกับหญิงไทย และประสงค์จะได้สัญชาติไทย ก่อให้เกิดความไม่เสมอกันในทางกฎหมายระหว่างชายและหญิงและแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 37/2546 ว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ถือว่าขัดหรือแย้งกับ บทบัญญัติ มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ควรคำนึงถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว และพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขของการขอสัญชาติไทยให้มีความรัดกุม ป้องกันปัญหาผลกระทบทางสังคมและความมั่นคงของประเทศ
4.2.2 กฎหมายที่ปฏิบัติต่อคนพิการอย่างไม่เสมอภาค
เพื่อให้คนพิการได้รับการรับรองสิทธิเหมือนกับบุคคลทั่วไป การอ้างสภาพทางกายหรือสภาพที่จะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายจากรัฐย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติ ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 22 ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกนิคมสร้างตนเองต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ จึงสามารถเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองได้ แต่ด้วยเหตุที่ การจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เป็นไปด้วยเหตุและวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง บทบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติถึงสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย ย่อมเป็นการขัดขวางคนพิการ ที่จะได้รับโอกาสเข้าเป็นสมาชิก และการส่งเสริมอาชีพจากรัฐได้ จึงควรแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ด้วยการตัดข้อความหรือการใช้ถ้อยคำ ที่จะไม่ทำให้พิจารณาแต่เฉพาะสภาพร่างกายที่สมบูรณ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญต่อศักยภาพและความสามารถของคนพิการที่จะพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเกษตรเพื่อตนเองและครอบครัวประกอบ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือดังกล่าวด้วย
4.2.3 เขตอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเด็กเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58 ได้กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา พิจารณาคดีอาญาที่มีข้อกล่าวหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ในกรณีที่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ ซึ่งเด็กหรือเยาวชนได้กระทำความผิดทางอาญานั้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ผู้กระทำผิดอาจได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งอาจขัดกับหลักความเสมอภาคตามบทบัญญัติ มาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการคุ้มครองและการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน
4.2.4 การใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดภาคใต้
พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว กำหนดให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก บังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการดังกล่าว เฉพาะในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งมีผลเฉพาะอิสลามศาสนิกในสี่จังหวัดเท่านั้น อิสลามศาสนิกในท้องที่จังหวัดอื่น ไม่อาจใช้กฎหมายในทำนองเดียวกันได้ จึงควรแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้เป็นการปฏิบัติแก่อิสลามศาสนิกเป็นการทั่วไป
4.2.5 คุณสมบัติผู้ขอใบอนุญาตในด้านต่างๆ
กฎหมายหลายฉบับได้กำหนดคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ต้องขอใบอนุญาตในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการเลือกปฏิบัติ ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การใช้ถ้อยความ “ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในทางศีลธรรมอันดี” หรือ “เป็นผู้ประกอบอาชีพเป็นที่เชื่อถือ โดยแสดงหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาของนายทะเบียน” การบัญญัติถ้อยความดังกล่าว ถือเป็นการนำสถานะของบุคคลไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม มาตัดสิทธิของบุคคลนั้นเอง ซึ่งในกฎหมายอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ขอใบอนุญาตดำเนินกิจการได้และไม่เป็นภัยต่อสังคม เช่น คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 ซึ่งกำหนดว่า “...เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพที่น่าเชื่อถือ” โดยแสดงหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาของนายทะเบียนตามกฎกระทรวง บทบัญญัติมาตรา 5 วรรคสอง หรือพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545 ที่บัญญัติว่า “ไม่เป็นผู้มีความประพฤติ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ” ฯลฯ การใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาเกี่ยวกับความประพฤติเสื่อมเสียหรือไม่น่าเชื่อถือ จึงนับว่ามีความลำบากและเป็นเรื่องค่อนข้างยาก
ดังนั้น จึงควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ด้วยการแก้ไขถ้อยความเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้มาขอใบอนุญาตให้มีความชัดเจน อยู่บนพื้นฐานการอ้างอิงจากองค์กรในรูปของคณะกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดและวินิจฉัย กฎระเบียบ ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ หรือออกกฎกระทรวง และระเบียบ ข้อบังคับให้มีสภาพเป็นการทั่วไป เพื่อให้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ใช้เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์การวินิจฉัยคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้มาขอใบอนุญาตแทนการใช้ดุลยพินิจ
4.2.6 การเป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
กฎหมายหลายฉบับ นำเอาเหตุของการเป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย กำหนดเป็นคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม หรือการพ้นจากตำแหน่งของบุคคล ทั้งในกรณีที่เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งได้ทำให้ผู้นั้นพ้นอาชีพ หรือไม่อาจกระทำการตามที่เคยได้รับอนุญาตต่อไปได้ ทั้งที่การมีอาชีพนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้มีหนี้สินพ้นตัว หรือในกรณีที่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งทำให้บุคคลนั้นถูกตัดโอกาสที่จะประกอบอาชีพหรือขออนุญาตจากรัฐได้ ทั้งที่พ้นความเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว การนำเอาเหตุของการเป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญเป็นการเลือกปฏิบัติเนื่องจากสถานะบุคคลในทางเศรษฐกิจ จึงควรพิจารณาทบทวน เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ โดยเหตุแห่งสถานะทางเศรษฐกิจของบุคคล ดังนี้
1) การกำหนดคุณสมบัติของข้าราชการในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 (บทบัญญัติมาตรา 30 (9) ผู้ที่จะเข้ารับราชการต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย)
2) พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 (บทบัญญัติมาตรา 19 (4) พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย)
3) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 (บทบัญญัติมาตรา 19 ตรี (3) สมาชิกสภากลาโหมพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเป็นบุคคลล้มละลาย)
4) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2524 (บทบัญญัติมาตรา 23 (8) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว)
5) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 (บทบัญญัติมาตรา 24 (8) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว) ซึ่งทำให้บุคคลนั้นต้องออกจากราชการหรือออกจากงานหรือพ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่ความเป็นบุคคลล้มละลายก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการปฏิบัติงานที่มีหลากหลายตำแหน่งและหลากหลายความรับผิดชอบ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ