เอกชนทนไม่ไหวเสนอ 9 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2005 14:49 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          กกร.ตบเท้าภาคเอกชนดัน  9  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวาระแห่งชาติฉบับ  "แม้ว"  ยังไม่เวิร์ก   จี้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพก่อนพังหลังประชาชนเกิดวิกฤติความเชื่อมั่น  น้ำมัน  ไฟใต้  เงินบาท
หยุดจับจ่าย เร่งกระตุ้นส่งออก ท่องเที่ยว คุมนำเข้า ทบทวนเมกะโปรเจ็กต์หยุดเงินไหลออก ดึงต่างชาติร่วมทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ 30%
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ก.ค. คณะกรรมการร่วม (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย จะเข้านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพิจารณาเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอตัวลง
ทั้งนี้ กกร.พิจารณาว่า หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัว 3-3.5% ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะคนไทยเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่น จึงลดการใช้จ่าย ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและมูลค่าสินค้านำเข้าส่งผลให้เงินหายไปจากการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท
"ปัญหาเศรษฐกิจเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการเพิ่มสูงขึ้นของมูลค่าสินค้านำเข้า ประเภทน้ำมันและน้ำมันเชื้อเพลิง ทองคำ และเหล็ก ทำให้มีการไหลออกของเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก รัฐบาลควรหาทางปรับให้ดุลการชำระเงินดีขึ้น โดยเน้นด้านการขยายการส่งออกสินค้าและสินค้าบริการ การท่องเที่ยว ลดมูลค่าการนำเข้า ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดนโยบายการเงินเพื่อแก้ไขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ชัดเจนและเหมาะสมดีแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำเสนอ แบ่งเป็น 9 มาตรการ ได้แก่ 1.การผลักดันการส่งออก โดยเร่งขยายสินค้าส่งออกที่มูลค่าการส่งออกสูงและมีศักยภาพด้านตลาด เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และยานยนต์ เร่งเจรจาขอคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรป (อียู) ยกเลิกการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ของสหรัฐต่อสินค้ากุ้งของไทย ซึ่งคาดว่าจะทำให้การส่งออกกุ้งขยายตัวเพิ่มขึ้น 2-3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนการค้าในรูปแบบบาร์เตอร์เทรดโครงการจัดซื้อของภาครัฐ เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบิน การผ่อนปรนระเบียบการออกวีซ่านักธุรกิจต่างชาติที่เดินทางมาซื้อสินค้าในไทยโดยตรง
2.การผลักดันด้านการท่องเที่ยว ให้การบินไทยขยายแพ็กเกจทัวร์แก่ผู้โดยสารที่เดินทางมาไทย และเดินทางต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ต้องจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้น
3.มาตรการชะลอและควบคุมการนำเข้า เช่น กลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค โดยต้องทำด้วยความระมัดระวังและไม่ขัดหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO)
4.มาตรการประหยัดพลังงาน สนับสนุนการลอยตัวราคาเชื้อเพลิงและใช้มาตรการภาษีส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
5.โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูง ควรทบทวนและศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าและผลตอบแทนแล้วจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับฐานะการเงินของประเทศ และเปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมลงทุน
6.มาตรการเพิ่มศักยภาพด้านแรงงาน เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงในปี 2548 และอาจต่อเนื่องถึงปี 2549 อาจเกิดการลดกำลังผลิต ส่งผลกระทบต่อการว่างงาน ขณะที่บางสาขาอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือกว่า 1 แสนคน โดยเฉพาะภาคใต้จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานจากลาว
7.มาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเสนอให้รัฐยกเลิกการจัดเก็บภาษีย้อนหลังจากการเปลี่ยนพิกัดอัตราภาษีศุลกากร 8.การสร้างความเชื่อมั่น และ 9.การทบทวนโครงสร้างภาษี วัตถุดิบนำเข้าและสินค้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะภาษีนำเข้าสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและยกเลิกภาษีซ้ำซ้อน
แหล่งข่าวจากหอการค้าไทยกล่าวว่า ในวันที่ 28 ก.ค. นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และคณะผู้บริหาร จะเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยต้องการให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ 1.7 ล้านล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด หากโครงการใดไม่จำเป็นให้ชะลอออกไปก่อน เพราะอาจสูญเสียเงินตราต่างประเทศและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น พร้อมกับดึงต่างชาติเข้าลงทุนอย่างน้อย 30% ในโครงการขนาดใหญ่และให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการด้วย
"หอการค้าไทยต้องการให้รัฐบาลยอมรับภาวะเศรษฐกิจชะลอ และใช้วิธีการบริหารแบบชะลอตัวโดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นมาก ซึ่งหอการค้าไทยจะร่วมกับรัฐบาลรณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างเต็มที่ และขอให้รัฐบาลสนับสนุนการส่งออก ซึ่งภาคเอกชนพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องเอฟทีเอกับญี่ปุ่นคงใช้เวทีของ 3 สถาบันภาคเอกชน โดยไม่ต้องการให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอญี่ปุ่นในเรื่องรถยนต์ หากญี่ปุ่นไม่คลี่คลายกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตร" แหล่งข่าวกล่าว
ผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์นี้ คาดตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 2548 อยู่ที่ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.อยู่ที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และรวม 6 เดือน จะขาดดุลทั้งสิ้น 6,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบช่วงครึ่งปีแรก 2547 เกินดุล 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน มิ.ย. 2548ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมากที่สุดเท่าที่เคยจัดทำดัชนีความเชื่อมั่น โดยลดลงถึง 11.7 จุด จากระดับ 90.5 ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 78.8 เป็นผลจากค่าดัชนีหลัก 4 ใน 5 ตัวปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และกำไรสุทธิ ปรับลดลงจาก 111.5, 110.3, 112.7 และ 91.8 ในเดือน พ.ค.เป็น 91.0, 90.9, 98.2 และ 80.9 ในเดือน มิ.ย.ตามลำดับ
นอกจากนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยที่เหลือปรับลดลงด้วย ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อการลงทุนของกิจการ สินเชื่อในการประกอบการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขันในประเทศ รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบกิจการ ซึ่งหลายอุตสาหกรรมได้ชะลอแผนการลงทุน บางแห่งลดการผลิตจาก 3 กะ เหลือ 2 กะ เนื่องจากออเดอร์ลดลง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงมาก เนื่องจากมีปัจจัยลบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งเบนซินและดีเซล ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ภัยแล้งที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีน้ำไม่พอใช้ ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ระดับราคาสาธารณูปโภคโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและระดับราคาสูงขึ้น ปัญหาด้านภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในและนอกประเทศ
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ