ภัยแล้ง 2548 กับการดำเนินการของภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2005 14:09 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับภัยแล้ง 2548 กับการดำเนินการของภาครัฐ
1. ความเป็นมา
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ในอดีตประเทศไทยมีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้การใช้น้ำของรัฐและของประชาชนทั่วไปเป็นไปอย่างไม่รู้คุณค่า และขาดระสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันทรัพยากรน้ำจึงมีไม่เพียงพอ ไม่สม่ำเสมอตลอดปีเช่นในอดีต จึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนเป็นภัย ทั้งภัยแล้ง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในท้องที่ต่างๆในฤดูแล้ง อุทกภัยทำความเสียหายแก่ชุมชนและพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมากทุกปี ตลอดจนภัยน้ำเสียเกิดขึ้นในหลายท้องที่ตามมาอีกด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความผันแปรของธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ก็มีส่วนสำคัญทำให้ภาวะการณ์ขาดแคลนน้ำมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย สาเหตุหลักๆ ได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความแห้งแล้ง หากปีใดมีฝนตกน้อย หรือไม่ตกตามฤดูกาล ฝนตกไม่กระจายอย่างสม่ำเสมอ หรือฝนไม่ตกทิ้งช่วงยาวนาน ก็เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนน้ำ
2) การทำลายป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เมื่อป่าไม้ต้นน้ำลำธารถูกทำลายลง จึงเป็นเหตุให้พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำ ไม่มีป่าดูดซับน้ำ หรือชะลอน้ำฝนให้ซึมลงไปเก็บกักไว้ในช่องว่างของดินได้มากเหมือนแต่ก่อน ลำน้ำลำธารจึงเกิดความแห้งแล้งและไม่มีน้ำไหลในฤดูแล้ง
3) แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น หนอง คลอง บึง ที่เคยใช้เป็นแหล่งน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกตื้นเขิน ขาดการเอาใจใส่อย่างถูกต้องจากผู้ใช้น้ำถูกละเลยและถูกบุกรุก นำพื้นที่ขอบหนองไปใช้ประโยชน์ส่วนตน
4) ความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และความเจริญของบ้านเมือง เป็นเหตุให้ปริมาณน้ำใช้เพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค และกิจกรรมต่างๆ ของทุกภาค มีความต้องการมากขึ้นทุกปี ทำให้ปริมาณน้ำที่สำรองไว้และความต้องการใช้น้ำไม่สมดุลกัน
5) ผู้ใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ยังขาดจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างประหยัด ขาดวินัยของผู้ใช้น้ำอย่างถูกต้อง รวมทั้งไม่รู้จักอนุรักษ์ที่ถูกวิธี เป็นเหตุสำคัญด้านหนึ่ง ส่งผลให้มีน้ำไม่พอใช้ และ
6) แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติและที่ก่อสร้างไว้มีไม่เพียงพอ ถ้าปีใดมีฝนตกน้อยปริมาณน้ำที่เก็บกักก็จะมีน้อยตามไปด้วย การขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำผิวดิน เช่น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลุ่มน้ำต่างๆ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ แหล่งน้ำ สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่เอื้ออำนวยหรือมีอุปสรรคในการพัฒนา เป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการเพื่อกิจกรรมต่างๆ ในฤดูแล้ง
การจัดการทรัพยากรน้ำที่สัมฤทธิผลต้องมีการดำเนินการรวมกันอย่างบูรณาการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่นที่เกี่ยวข้องในเขตลุ่มน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้ปัญหาบรรเทาหรือกำจัดจนหมดสิ้นไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทั้งคน สัตว์ และพืชมีการดำเนินชีวิตที่ดี ประชาชนมีน้ำใช้อย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยมีการบริหารจัดการด้วยความคิด และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เร่งรัดดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการเพื่อให้ประชาชนพ้นจากความเดือดร้อนได้ทั่วทั้ง 25 ลุ่มน้ำ
จากอดีตถึงปัจจุบันกล่าวได้ว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทยมีปัญหา แม้ว่ารัฐบาลแต่ละสมัยได้กำหนดนโยบายด้านทรัพยากรน้ำไว้บ้าง แต่ก็ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมเพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ เพราะมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาหรือจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำบนพื้นฐานของความเป็นธรรม และเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม ตลอดจนการแก้ปัญหาทั้ง 3 ภัย ข้างต้น ก็ไม่มีนโยบายของรัฐที่ชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีแผนแม่บทและมาตรการอันแสดงถึงยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาทุกด้านอย่างบูรณาการที่เป็นรูปธรรมในแต่ละลุ่มน้ำ เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นทั้ง 3 ภัย จึงเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากทุกปี และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทในแต่ละปี
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ และ 25 แม่น้ำสำคัญของประเทศ จึงได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยน้ำหลาก ภัยน้ำเสีย และภัยน้ำขาดแคลนในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางแบบบูรณาการนำเสนอนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน 23 กันยายน และ 30 กันยายน 2546 ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการบริหารจัดการภัยน้ำขาดแคลน ได้นำเสนอระดับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เป้าหมาย โดยแบ่งออกเป็นระดับท้องถิ่น ซึ่งต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแหล่งเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน ปรับปรุง และบูรณะรักษาสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งให้การศึกษาการใช้น้ำทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ทั้งภาค
อุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม และระดับลุ่มน้ำ ควรกำหนดกิจกรรมการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน กำหนดระบบเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับศักยภาพของน้ำและที่ดิน ควรมีการฟื้นฟูลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำ โดยเริ่มจากตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างของพื้นที่ลุ่มน้ำตามลำดับ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลในแม่น้ำลำธารในช่วงฤดูแล้ง และบริหารจัดการลุ่มน้ำแบบการมีส่วนร่วมและผสมผสาน
2. ภัยแล้งในปี 2548
สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2548 และเข้าสู่ภาวะวิกฤตนั้น มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 65 จังหวัด 625 อำเภอ 63 กิ่งอำเภอ 4,309 ตำบล 32,371 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 43.77 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศอำเภอ 73,963 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนจำนวน 1,979,001 ครัวเรือน 8,013,011 คน พื้นที่ การเกษตรที่ประสบความแห้งแล้งที่ได้รับความเสียหายแล้ว (ก.ย. — ธ.ค. 2547) แบ่งเป็นนาข้าว 10,098,546 ไร่ พืชไร่ 3,017,045 ไร่ พืชสวน 511,423 ไร่ รวม 13,627,014 ไร่ รวมมูลค่าความเสียหาย คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 7,544,841,439 บาท
2.1 สาเหตุหลักของภัยแล้ง ปี 2548 สรุปได้ดังนี้
1) ฝนทิ้งช่วง วิกฤตที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่โดยเฉพาะเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก สืบเนื่องมาจากฝนที่เคยตกถึง 4 เดือน ลดลงเหลือเพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้น และฝนหยุดเร็วกว่าปกติเดือนครึ่ง ทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำน้อย เกิดการ ขาดแคลนในพื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค สำหรับชุมชน อุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งปริมาณตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ขาดแคลนในพื้นที่ทั่วไปเพื่อการอุปโภคบริโภค
2) ผู้รับผิดชอบในนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไม่รับผิดชอบเท่าที่ควร โดยเฉพาะในปี 2548 ได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ความช่วยเหลือ ไม่ทันเหตุการณ์
3) การถ่ายโอนอำนาจของหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ งบประมาณ และบุคลากร ทำให้การฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 ก่อให้เกิดปัญหาสะสม พอกพูน มากขึ้นๆ จนเกิดเป็นภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
4) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาวเป็นแต่เพียงนโยบาย ขาดการนำมาปฏิบัติ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
5) ไม่สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำจากประเทศข้างเคียงมาใช้
2.2 สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (ข้อมูลจากศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 7 เมษายน 2548)
ปริมาตรน้ำใช้การได้จริงของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 15,375 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุที่ใช้การได้ โดยอ่างเก็บน้ำ ที่มีปริมาตรน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ร้อยละ 7 เขื่อนลำพระเพลิง ร้อยละ 8 เขื่อนทับเสลา ร้อยละ 8 เขื่อนกระเสียว ร้อยละ 0 และเขื่อนจุฬาภรณ์ ร้อยละ 5 ของความจุใช้การได้ของอ่าง ซึ่งอ่างเก็บน้ำดังกล่าวได้สงวนน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปาเท่านั้น ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนกระเสียวมีระดับน้ำในอ่างต่ำกว่าธรณีท่อส่งน้ำ แต่ยังคงมีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ส่วนที่เป็นน้ำใช้การไม่ได้ (Dead Storage) อีกประมาณ 31 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถส่งน้ำด้วยวิธีกาลักน้ำ ช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคในอำเภอสามชุก อำเภอ หนองหญ้าไซ อำเภอด่านช้าง ให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ โดยไม่เกิดการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด
อ่างเก็บน้ำภูมิพลและอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 2,642 และ 2,883 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 27 และ 43 ของความจุใช้การได้ของอ่างตามลำดับ โดยมีปริมาตรน้ำใช้การได้ทั้งสองอ่างรวมกัน จำนวน 5,525 ล้าน ลบ.ม.
สภาพน้ำท่า จากสภาพฝนที่มากขึ้นในระยะนี้ ทำให้สภาพน้ำท่าในลำน้ำทั่วประเทศส่วนใหญ่มีระดับน้ำสูง แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
3. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาฯ ได้พิจารณาเห็นว่าภัยแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และแผ่ขยายเป็นวงกว้างมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ไม่ได้กักเก็บน้ำไว้ให้พอเพียง พัฒนาการสังคมได้ทำให้แหล่งที่เก็บกักน้ำธรรมชาติถูกทำลาย ทะเลสาบ แม่น้ำ คู คลอง ห้วย หนองบึง ลำธารตื้นเขิน โดยธรรมชาติอย่างหนึ่งและโดยการกระทำของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มีการขุดลอก ทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำของประเทศไทยลดหายไปกว่าครึ่ง จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำบางปะกง ดำเนินการศึกษาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการศึกษาโดย
1) รวบรวมข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง 2) จัดประชุมเสวนาร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน และ 3) จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็นและนำข้อมูล
ที่ได้มาประมวล และสังเคราะห์ เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น นำเสนอสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. สภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ และ 25 แม่น้ำสำคัญของประเทศ สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
4.1 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐขาดความชัดเจนในนโยบาย เป้าหมาย และแผนหลักโดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมและงานชลประทานเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้น้ำและการจัดสรรบนพื้นฐานของความเป็นธรรม
4.2 การกำหนดโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยังก่อให้เกิดความสับสน บทบาทและภารกิจยังขาดความชัดเจน การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ มีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงานทำให้เกิดปัญหาการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพ มีความซ้ำซ้อน และงานบางประเภทที่มีความสำคัญกลับไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน การปฏิบัติงานบางครั้งไม่สอดคล้องและไม่มีการประสานระหว่างหน่วยงาน
4.3 ปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งต้องจัดสรรอย่างต่อเนื่องและดำเนินการให้ครบทั้งโครงการ เพื่อการบริหารงานได้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การมีหน่วยงานระดับกระทรวงและกรม ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำจำนวนมาก ทำให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณไม่สามารถจัดสรรโดยยึดพื้นฐานการแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้เท่าที่ควร คงพิจารณาตามปริมาณงานในภาระการปฏิบัติที่แต่ละส่วนราชการจะกำหนดเป็นหลัก ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลให้การปฏิบัติงาน แต่ละอย่างเป็นไปตามงบประมาณที่แต่ละส่วนราชการได้รับมา การปฏิบัติงานที่เป็นไปในลักษณะ ต่างคนต่างทำตามภารกิจและงบประมาณที่ได้รับมา รวมทั้งขาดการประสานแผนปฏิบัติงานอย่างจริงจัง
เพราะอยู่ต่างกระทรวง จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่าการบริหารจัดการงบประมาณที่มีการกระจายมากเช่นนี้ย่อมไม่มีประสิทธิภาพ
4.4 กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำล้าสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ รวมทั้งผู้นำไปปฏิบัติไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง ในปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จ มีความซ้ำซ้อน ขาดความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาในลักษณะภาพรวมของทรัพยากรน้ำ ความเป็นเจ้าของในทรัพยากรน้ำ ความรับผิดชอบในความเสียหายของทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้น การจัดสรรน้ำในภาวะที่ขาดแคลน การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตลอดจนการแก้ไขด้านคุณภาพน้ำ รวมทั้งในประเด็นของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำสำคัญ ซึ่งยังขาดกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่ เพื่อให้มีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
4.5 ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลไว้เป็นฐานเดียวกันและข้อมูลจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ในด้านเงื่อนไขของเวลาและความถูกต้อง ในด้านข้อมูลทรัพยากรน้ำและข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่แต่ละหน่วยงานต่างจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลใช้ภายในหน่วยงาน โดยไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลและไม่มีการนำมารวมไว้ ณ ที่เดียวกัน จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และไม่ทราบว่าข้อมูลของหน่วยงานใดมีความถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด นอกจากนั้นยังขาดระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่ชัดเจน ทันสมัย สำหรับการวางแผนจัดการที่มีประสิทธิภาพ
5. การดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2548
5.1 กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาความแห้งแล้ง โดยให้ดำเนินการแก้ไขภัยแล้งในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม — มิถุนายน 2548 โดยให้จังหวัดที่ประสบภัยแล้งดำเนินการสรุปได้ดังนี้
1) ให้ประสานงานสำนักฝนหลวงเร่งปฏิบัติการฝนหลวงทันที เมื่อมีเมฆ หรือสภาวะอากาศเอื้ออำนวย
2) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดระบบการแจกจ่ายน้ำ โดยประสานกับจุดจ่ายน้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 2,000 แห่ง เพื่อรับน้ำไปแจกจ่ายให้กับหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งและแจ้งให้ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 528 หน่วยบริการ เตรียมการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 20 แจกจ่ายให้หมู่บ้านประสบภัยแล้ง
3) ให้จังหวัดประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งซ่อมบ่อบาดาลเดิม โดยเป่าล้างบ่อ 20,000 บ่อ ซ่อมเครื่องสูบน้ำบ่อบาดาล 9,500 เครื่อง ปรับระดับเครื่องสูบน้ำและขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติมในหมู่บ้านแล้งรุนแรง 4,628 บ่อ ให้แล้วเสร็จ ในเดือนเมษายน 2548 หากดำเนินการไม่ทันให้จ้างเอกชน
เข้าร่วมดำเนินการ
4) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างกำชับให้เกษตรกรงดการปลูกข้าว นาปรัง ครั้งที่ 2 โดยเด็ดขาด สำหรับในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤต 6 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี ให้จังหวัดประกาศให้เกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและสงวนน้ำไว้ใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น
5) ให้จังหวัดพิจารณาขุดลอกแหล่งน้ำขนาดเล็ก ก่อสร้างฝายประชาอาสา จัดหาถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณในเบื้องต้น หากเกินขีดความสามารถให้ร้องขอไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่อไป
6) ให้จังหวัดประกาศเชิญชวนผู้ประสงค์ที่จะทำการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย โดยวัสดุที่ได้จากการขุดลอก ผู้ขุดลอกนำไปเป็นประโยชน์ของตนแทนค่าจ้าง โดยให้ตีราคาของวัสดุ แล้วให้หักกลบจากค่าจ้าง ถ้ามีราคาเกินกว่าค่าจ้างผู้ขุดลอกต้องจ่ายเงินส่วนเกินคืนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
7) ให้จังหวัดบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ทั่วถึงเป็นธรรม
8) รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเรื่องจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคในหมู่บ้านแล้งรุนแรง ได้ดำเนินการ ดังนี้
1) ในกรณีรุนแรงให้ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขุดเจาะบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้นเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน
2) การซ่อมแซมและพัฒนาบ่อบาดาลตามหลักเกณฑ์ โดยเป็นบ่อน้ำบาดาลที่มีการใช้งาน และยังไม่ได้รับการพัฒนาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ ทรายอุดตัน เป็นบ่อน้ำบาดาลที่ชำรุด แต่สามารถซ่อมให้กลับสู่สภาพเดิมได้ อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการซ่อมและเป่าล้างบ่อใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2546
5.2 กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กรมชลประทานได้ประสานกับทางจังหวัด เพื่อเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยได้ดำเนินการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และการอุปโภคบริโภคทั่วประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานแล้ว จำนวน 947 เครื่อง แยกเป็นภาคเหนือ 210 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 316 เครื่อง ภาคกลาง 201 เครื่องภาคตะวันออก 98 เครื่อง ภาคตะวันตก 54 เครื่อง และภาคใต้ 68 เครื่อง สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ 1,285,971 ไร่ โดยแยกเป็น ข้าวนาปรัง 1,177,200 ไร่ พืชไร่ 108,771 ไร่ ในส่วนของรถยนต์บรรทุกน้ำได้สนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำเข้าไปช่วยเหลือหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 295 คัน สามารถช่วยเหลือคิดเป็นปริมาณน้ำ จำนวน 91,332 ล้านลิตร ช่วยเหลือได้ 61 หมู่บ้าน 7,017 ครัวเรือน
5.3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จังหวัดชุมพรและระนอง ซึ่งได้สั่งการไปแล้ว 4 เรื่อง คือ 1) ต้องมีจุดแจกจ่ายน้ำทั่วประเทศ 2,000 จุด ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใด 2) การล้างบ่อบาดาล 20,000 บ่อ ในพื้นที่ประสบภัยแล้งให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2548 ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว ร้อยละ 60 3) การซ่อมแซมปั๊มน้ำที่อยู่ใต้ดินเสียไปกว่า 7,000 แห่ง ต้องซ่อมให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2548 และ 4) บ่อบาดาลที่จะเจาะใหม่ทั่วประเทศ 4,628 บ่อ ซึ่งต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2548
6. ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย สถานภาพทรัพยากรน้ำและศักยภาพในการพัฒนาทั้งจากทรัพยากรน้ำผิวดินและแหล่งน้ำบาดาลในภูมิภาคต่างๆ สภาพปัญหาเกี่ยวกับน้ำ รวมทั้งปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอดีตถึงปัจจุบัน ต้องมีการปฏิรูปปรับปรุงระบบและยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ให้ประชาชนพ้นจากความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน ด้วยแนวคิดของนโยบายที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความเป็นจริง สามารถปฏิบัติได้โดยอาศัยข้อมูล ความรอบรู้ และสติปัญญาของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีการบริหารด้วยความคิดและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เร่งรัดดำเนินงานตามนโยบาย และคำนึงถึงกระบวนการที่จะให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้ประชาชนหมดความเดือนร้อนเรื่องน้ำ
สรุปประเด็นสำคัญๆได้ดังนี้
6.1 กำหนดให้นโยบาย เป้าหมาย และแผนหลักในการจัดการทรัพยากรน้ำของชาติมีความ ชัดเจน และดำเนินการในเชิงบูรณาการ นโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ มิใช่เป็นนโยบายของรัฐบาลใด
รัฐบาลหนึ่ง รัฐบาลชุดใดที่รับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดินจะต้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง ตราบจนสภาพปัญหาเกี่ยวกับน้ำจะได้รับการแก้ไขอย่างสัมฤทธิผลทั่วถึง ซึ่งนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ ควรมีสาระสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1) มุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและกิจการต่างๆ อันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร เพื่อการอุตสาหกรรมและอื่นๆ โดยการพัฒนาและจัดหาน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ที่เหมาะสม ได้แก่ น้ำฝน แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำบาดาล โดยดำเนินการในทุกพื้นที่และลุ่มน้ำที่มีศักยภาพ สามารถดำเนินการได้โดยเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
2) เน้นการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมและเป็นธรรมในการใช้น้ำด้านต่างๆ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ ให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนภายใต้กติกาการจัดสรรน้ำที่ชัดเจน ส่งเสริมให้ผู้ใช้น้ำมีส่วนรับผิดชอบในการได้รับการบริการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมของแต่ละท้องถิ่นและความสามารถในการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับประโยชน์
3) เร่งรัดให้มีการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ปรับปรุงฟื้นฟู และบูรณะแหล่งน้ำที่มีอยู่ ตามธรรมชาติและแหล่งน้ำที่รัฐได้สร้างไว้ ไม่ให้มีสภาพเสื่อมโทรม ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและโดยการกระทำของมนุษย์ รวมทั้ง ควบคุมไม่ให้เกิดการบุกรุก รุกล้ำ และละเลยของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
6.2 ภาครัฐควรพิจารณาบนความถ่องแท้ในผลและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อเดือนตุลาคม 2545 ซึ่งขาดบทสรุปอันควรมีข้อยุติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทและภารกิจของหน่วยงานที่ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณให้มีความต่อเนื่อง และสามารถดำเนินการให้ครบทั้งโครงการ เช่น ลักษณะงานของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับโอนงานมาจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับโอนงานมาจาก สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท
6.3 ต้องมีกฎหมายแม่บทว่าด้วยการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งกำหนดกฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติ ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบในกิจกรรมต่างๆให้ชัดเจน และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่ให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ
6.4 ควรมีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อให้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการฯมีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในอัตราส่วนที่สูงขึ้น
6.5 ควรรวบรวมและจัดกลุ่มข้อมูลจัดทำเป็นศูนย์ข้อมูลและฐานความรู้เชื่อมโยงทั้งระบบให้สมบูรณ์ รวมทั้ง จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ ความรู้ของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น
6.6 พัฒนากลไกกระบวนการบริหารจัดการเชิงบูรณาการ ระบบการติดตามและตรวจสอบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดการทรัพยากรน้ำจะต้องพัฒนากลไกและกระบวนการบริหารจัดการเชิงบูรณาการ โดยเสริมสร้างเครือข่ายการประสานงานและการทำงานร่วมกันของฝ่ายราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น ในการพัฒนาแหล่งน้ำหรือจัดหาน้ำ เพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ การจัดสรรและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ทรัพยากรน้ำและแหล่งน้ำ ให้ความรู้แก่แกนนำชุมชนและเยาวชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้และริเริ่มในชุมชน พัฒนาระบบรวบรวมและจัดทำข้อมูลระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกัน พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและแนวคิดอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางสังคม สามารถร่วมกันนำพาให้การจัดการทรัพยากรน้ำทุกด้านดังกล่าว เป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
6.7 จัดทำแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในระดับลุ่มน้ำเป็นแผนหลัก ซึ่งประกอบด้วย ยุทธศาสตร์และวิธีการที่จะดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบ สัมพันธ์กันในแต่ละลุ่มน้ำหรือระหว่างลุ่มน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของทุกๆ สิ่งในสังคมและเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งคน สัตว์ พืช และอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีทิศทางและวิธีการปฏิบัติในแต่ละพื้นที่และแต่ละชุมชนที่จะดำเนินการในระยะยาวอย่างชัดเจน
6.8 สร้างจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ทุกคนควรร่วมมือกันในการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องน้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งด้านปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำ และมาตรการในการใช้น้ำจากแหล่งน้ำร่วมกัน บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ความเสมอภาค และให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการดำเนินการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1) บรรจุความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้เยาวชน เข้าใจถึงสภาพทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำต่างๆ สภาพปัญหาและกระบวนการแก้ไข
2) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทุกลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงศักยภาพ และสภาพปัญหาเกี่ยวกับน้ำในระดับท้องถิ่นและระดับลุ่มน้ำอย่างถูกต้องชัดเจน
3) สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลและความถูกต้องขององค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ โดยเอกสาร หรือการจัดประชุมสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็นระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและประชาชน
6.9 ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้
1) ภาครัฐควรมีการสำรวจอย่างแท้จริงในจำนวน และสภาพแหล่งน้ำในทุกลักษณะ รูปแบบ และปริมาณน้ำกับส่วนขาดตามความต้องการโดยรวมของประเทศ
2) ภาครัฐต้องดำเนินการเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนโดยรวมของประเทศ กับการเก็บกักไว้ในลักษณะต่างๆ เพื่อสนองตอบความต้องการโดยรวม ทั้งในพื้นที่ชลประทานและนอกพื้นที่ ชลประทาน
3) รัฐต้องเร่งดำเนินการภายใต้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ในเรื่องแหล่งเก็บกักน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิง Know How ให้สอดคล้องกับสังคมและกำลังการเงินการคลังของประเทศ
4) นโยบายของผู้บริหารประเทศต้องมีความชัดเจน ด้วยสำนึกตระหนักอันแท้จริง อย่างเป็นรูปธรรมและโปร่งใสในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ และ 25 แม่น้ำสำคัญของประเทศ โดยคำนึงถึงภัยน้ำท่วม ภัยน้ำแล้ง และภัยน้ำเสีย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ