การเจรจาการค้านอกรอบ WTO เมืองต้าเหลียน ประเทศจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 14, 2005 15:37 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายทนง  พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี WTO  ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ  โดยเชิญรัฐมนตรีการค้าของประเทศสมาชิก WTO ที่มีบทบาทการเจรจาการค้ารอบโดฮารวม 33 ประเทศประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ประชาคมยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ไทย ฯลฯ มาร่วมกันหารือเพื่อประนีประนอมท่าทีระหว่างกันในวันที่ 12-13 กรกฎาคม ณ เมืองต้าเหลียน ประเทศจีน ทั้งนี้เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าและเพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม ณ เมืองฮ่องกง   
นายทนง พิทยะ ยังได้เข้าร่วมการประชุมกับกลุ่มจี-20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่รวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองให้มีการลดการอุดหนุนและเปิดตลาดสินค้าเกษตร และได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอรูปแบบการลดภาษีนำเข้า โดยแบ่งช่วงภาษีสำหรับการลดเป็น 4 ช่วง (bands) โดยจะลดช่วงภาษีสูงมากกว่าช่วงภาษีต่ำ ที่ประชุมโดยเฉพาะสหรัฐฯ และประชาคมยุโรปยอมรับที่จะใช้ข้อเสนอของจี-20 เป็นพื้นฐานหรือจุดเริ่มต้นในการเจรจากันต่อที่กรุงเจนีวา
ส่วนข้อเสนอในการลดการอุดหนุนภายในประชาคมยุโรปยอมรับที่จะให้แบ่งช่วงมูลค่าการอุดหนุนภายในออกเป็น 3 ช่วง โดยยอมที่จะอยู่ในช่วงสูงสุดที่จะต้องลดในอัตราสูงสุด ส่วนสหรัฐฯ ต้องการให้ประชาคมยุโรปลดลงมาให้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกันกับสหรัฐฯ และเตือนว่าเป็นโอกาสเดียวที่สหรัฐฯ จะทำการปฏิรูปการเกษตรเพราะเป็นช่วงที่จะมีการเสนอกฎหมายเกษตรฉบับใหม่เข้ารัฐสภาแทนกฎหมายฉบับปัจจุบันที่จะหมดอายุลงในปี 2550
แม้ว่าประเทศสมาชิกได้ตกลงกันที่จะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกแล้วแต่ยังไม่ตกลงกันว่าจะใช้เวลากี่ปี ซึ่งกลุ่มจี-20 ได้เสนอต่อที่ประชุมนานสุดไม่เกิน 5 ปี และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศในการประชุมจี-8 ณ สก๊อตแลนด์ ที่จะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกในปี 2553 แต่ประชาคมยุโรปต้องการให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อส่งออก การช่วยเหลือด้านอาหาร ในลักษณะที่เป็นการอุดหนุนส่งออกไปพร้อมกันด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมตกลงให้รัฐมนตรีการค้าสั่งการให้ผู้แทนถาวรประจำ WTO เจรจากันต่อไปโดยมีท่าประนีประนอมมากขึ้นเพื่อให้ได้รูปแบบการลดภาษีและลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในเดือนกรกฎาคมนี้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ