เพื่อให้การพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการส่งออกที่สุจริต เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์แก่การส่งออกของประเทศ กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดีของกรมสรรพากรตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.596/2545 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2545 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นมา จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้ ปุจฉา ผู้ประกอบการส่งออกที่ดีมีกี่ประเภทอะไรบ้าง วิสัชนา ผู้ประกอบการส่งออกที่ดีมีสองประเภท คือ ผู้ประกอบการส่งออกทั่วไป และผู้ส่งของออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากร ปุจฉา คุณสมบัติของผู้ประกอบการส่งออกทั่วไปที่ขอรับการจัดระดับให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีมีอย่างไรบ้าง วิสัชนา คุณสมบัติของผู้ประกอบการส่งอกทั่วไปมีดังนี้ 1.เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป 3.มีการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศในอัตราส่วนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปของ ยอดขายรวมสำหรับระยะเวลา 12 เดือน ก่อนยื่นคำขอรับการจัดระดับ และได้นำเงินตราต่างประเทศ จากการนั้นเข้ามาในประเทศไทยหรือมีหลักฐานการหักกลบลบหนี้ 4.มีความมั่นคง ต่อเนื่องและน่าเชื่อถือในการประกอบการ และมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน ฯลฯ 5.มีทรัพย์สินสุทธิมากกว่าหนี้สินสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีสุดท้ายก่อนยื่นคำขอรับการจัดระดับ 6.มีประวัติการเสียภาษีที่ดี มีการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของกิจการ ไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษี 7.เป็นสมาชิกของสมาคมหรือองค์กรภาคเอกชน (ในทางการค้า) เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ และสมาคมหรือองค์กรดังกล่าวรับรองฐานะการเงินว่ามีความมั่นคงและเชื่อถือได้ ปุจฉา คุณสมบัติของผู้ประกอบการส่งออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากรที่ขอรับการจัดระดับให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีมีอย่างไรบ้าง วิสัชนา คุณสมบัติของผู้ประกอบการส่งออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากรมีดังนี้ 1.เป็นผู้ส่งของออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากร 2.เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.มีการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศในอัตราส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ของยอดขายรวม สำหรับระยะเวลา 12 เดือน ก่อนขอรับการจัดระดับ และได้นำเงินตราต่างประเทศ จากการนั้นเข้ามาในประเทศไทยหรือมีหลักฐานการหักกลบลบหนี้ 4.มีความมั่นคง ต่อเนื่องและน่าเชื่อถือในการประกอบการ และมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน ฯลฯ 5.มีทรัพย์สินสุทธิมากกว่าหนี้สินสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีสุดท้ายก่อนขอรับการจัดระดับ 6.มีประวัติการเสียภาษีที่ดี มีการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของกิจการไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษี 7.เป็นสมาชิกของสมาคมหรือองค์กรภาคเอกชน (ในทางการค้า) เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ และสมาคมหรือองค์กรดังกล่าวรับรองฐานะการเงินว่ามีความมั่นคงและเชื่อถือได้ ปุจฉา นอกจากคุณสมบัติดังกล่าว ผู้ประกอบการส่งออกพึงมีคุณสมบัติอื่นใดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีได้บ้าง วิสัชนา คุณสมบัติอื่นที่ผู้ส่งออกพึงมี ได้แก่ 1.มีระบบการจัดการ และระบบการควบคุมภายในที่ดี เช่น มีระบบการตรวจสอบภายใน การจัดทำประมาณการแผนการส่งออก มีงบการเงินเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส 2.ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน (ISO) แขนงต่างๆ จากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม 3.ได้รับรางวัลหรือประกาศเกียรติคุณด้านต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาลและหรือภาคเอกชน 4.คุณสมบัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น อนึ่ง กรณีที่ผู้ประกอบการส่งออกที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน แต่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการพิจารณาจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี อาจพิจารณายกเว้นคุณสมบัติดังกล่าวให้ได้ ปุจฉา ผู้ประกอบการส่งออกที่จะได้รับการจัดระดับให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใดบ้าง วิสัชนา ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 1.ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ตามวิธีปฏิบัติในการขอให้นำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แนบท้ายคำสั่งนี้ 2.กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ต้องได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน 3.ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่รับรองงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ยื่นคำขอต้องได้รับการแต่งตั้งจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้แจ้งชื่อ เลขทะเบียนของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พร้อมทั้งชื่อสำนักงานผู้สอบบัญชี และให้แจ้งชื่อผู้ทำบัญชีพร้อมทั้งสำนักงานบัญชีด้วย ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com-ดท-