สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2548 และ แนวโน้มปี 2549(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2006 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2548 ยังมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากการขยายตัวที่สูงในปี2547 ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2548 เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่สอง และขยายตัวเร่งขึ้นได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ สหภาพยุโรป มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา จากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้นตามอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกและการบริโภคภาคเอกชนที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ โดยภาพรวมการค้าในปี 2548 จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยภาคการส่งออกสินค้ามีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6.5 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 7.0 ในปีหน้า แต่ปัญหาแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง และความต้องการบริโภคทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในระดับปานกลางอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียบ้าง แต่ปัจจัยหนุนเชิงบวกจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรปที่ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ควรจะต้องตระหนัก คือ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และมาตรการควบคุมทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของกลุ่มประเทศ G-3 และยังส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน Katrina และ Rita ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเพียงในระยะสั้น ซึ่งทำให้ Fed ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เช่นกันมีสัญญานการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีแนวโน้มว่าภาวะเงินฝืดจะคลี่คลายในปี 2549 โดยที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้นโยบายสำคัญของนาย Koizumi คือ การแปรรูปกิจการไปรษณีย์น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว สำหรับทิศทางเศรษฐกิจยุโรป ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้ IMF และ ECB ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงตามอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้าๆ สำหรับภาวะอัตราเงินเฟ้อยังสูง ขณะที่การประชุมของ ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ที่ร้อยละ 2.0 และจะติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย ยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมาก ภาวะอัตราเงินเฟ้อหลายประเทศในภูมิภาคนี้มีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าหมวดพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังมีทิศทางที่เข้มงวดขึ้น โดยได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2548 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.6 และชะลอลงเป็นร้อยละ 3.4 ในปี 2549สำหรับประเด็นเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในปี 2548 มีดังนี้ 1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณการผลิตยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2548 อยู่ที่ 49.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับบาร์เรลละ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้บาร์เรลละ 52.66 ดอลลาร์ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนช่วงต้นปี 2549 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การขนส่ง และทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น 2. การปรับค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตรึงค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นระบบตะกร้าเงิน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 โดยอิงกับสกุลเงิน 5 สกุล ประกอบด้วย เยนญี่ปุ่น วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ ริงกิตมาเลเซีย และบาทไทย ส่งผลให้ค่าเงินหยวนของจีนที่อ่อนค่าให้มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น เพื่อจะช่วยปรับความสมดุลของเศรษฐกิจโลกได้บ้าง แต่การปรับครั้งนี้เป็นการปรับเพียงเล็กน้อย คาดว่าระยะสั้นอาจไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากมีการปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศคงต้องปรับตัวให้อยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะทำให้เกิดสเถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย 3. การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในประเทศต่างๆ เพื่อลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่จะยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและจากการที่ความต้องการสินค้าและบริการยังสูงอยู่ อัตราดอกเบี้ยหลายประเทศยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ Fed โดยที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน FOMC ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย federal fund rate อีก ร้อยละ 0.25 จากระดับร้อยละ 3.75 เป็น ร้อยละ 4.00 เมื่อวันอังคารที่ 1 พ.ย. 2548 เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 12 เพื่อจะชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาให้ลดระดับความร้อนแรงลง และคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไปจนถึงต้นปีหน้า สำหรับธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปและธนาคารแห่งประเทศอังกฤษก็อาจจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกภายในปีนี้ เพราะคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก และหากต้องการให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นตามเป้าหมายจำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เกิดความสมดุลกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สำหรับธนาคารกลางออสเตรเลียยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้คงเดิม แม้จะประสบภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่เห็นว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ระดับต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ช่วยปรับเศรษฐกิจให้สมดุลกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ และคาดว่าความต้องการสินค้าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2549 น่าจะต่ำกว่าในปี 2548 4.การขยายตัวด้านการค้าของโลกในปี 2548 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีการส่งออกสินค้าทั่วโลกขยายตัวในระดับ ร้อยละ 6.5 ลดลงจาก ร้อยละ 9.0 ในปีที่แล้ว ส่วนในปี 2549 คาดว่าจะมีการขยายตัวด้านการค้าของโลกน่าจะอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 7.0 อย่างไรก็ตามการขยายตัวด้านการค้าของโลกในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ คาดว่าราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 2548 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีซึ่งทำให้ความต้องการสินค้ายังเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศต่าง ๆเพิ่มขึ้นและทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินของโลกลดลงกว่าในปี 2548 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังขยายตัวเร่งขึ้นจากการบริโภคสินค้าคงทนและการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากพายุเฮอริเคน โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีทิศทางและแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากภาวการณ์จ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น และราคาบ้านที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนได้กดดันให้ราคาวัตถุดิบในภาคก่อสร้างและการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญานของการชะลอตัวลงในบางพื้นที่ โดยยอดการสร้างบ้านใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น และยอดการขายบ้านมือสองยังคงทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยอดการจำนองบ้านค่อย ๆ ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองในปัจจุบันได้ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคมปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนกันยายนด้วยผลของราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี คือที่ระดับ 75.4 จากระดับ 76.9 ในเดือนก่อน สำหรับภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะราคาสินค้าทุนเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา เดือนตุลาคม 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ประกอบกับภาวะการจ้างงานมีการปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนผู้มาขอรับสวัสดิการว่างงานเฉลี่ย 4 สัปดาห์ระหว่าง กันยายน-ตุลาคม 2548 มีจำนวน 355,000 คน ลดลง 20,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมากสุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พายุแคทรินาและพายุริต้าถล่ม อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีในเดือนกันยายน โดยอยู่ที่ร้อยละ 4.7 (yoy) หรือร้อยละ 1.2 (mom) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากร้อยละ 3.6 (yoy) เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.2 (yoy) ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.0 เนื่องจากเป็นการชะลอลงของค่าเช่าบ้านและค่าบริการโดยสารเครื่องบิน และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน Fed ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ต่อมาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้อีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 4.0 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 เพื่อชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ นาย Ben Bernanke อดีตกรรมการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดี George W. Bush เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2548 ให้ดำรงตำแหน่งประธาน Fed คนต่อไป ภายหลังจากนาย Alan Greenspan จะปลดเกษียณในวันที่ 31 มกราคม 2549 อย่างไรก็ตาม The Research Arm of Congress ประเมินว่า พายุเฮอริเคนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ในช่วงครึ่งหลังของปีลดลงไม่เกินร้อยละ 1.0 สำหรับปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะมีการชะลอตัวตามแนวโน้มปกติของวัฎจักรเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีการขยายตัว ร้อยละ 3.6 และในปี 2549 ร้อยละ 3.4เศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/2548 ยังคงขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง โดยขยายตัวประมาณร้อยละ 9.3-9.4 เมื่อเทียบต่อปี ซึ่งจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 9.0 เป็นไตรมาสที่ 10 ติดต่อกัน ต่อเนื่องมาเป็น โดยการขยายตัวน่าจะเป็นผลมาจากการลงทุนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ทำให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถยึดครองส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกได้อย่างแท้จริง นำไปสู่ภาวะกดดันจากประเทศที่ขาดดุลการค้ากับจีน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปหลายปีติดต่อกันแล้ว และอุตสาหกรรมของจีนจำนวนมากได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก หากแนวโน้มดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกในช่วงต้นทศวรรษหน้า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 จีนได้เปรียบดุลการค้าทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าได้เปรียบดุลการค้าทั้งปี 2547 ที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 4.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32 ขณะที่การนำเข้าในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 15 มีมูลค่ารวม 4.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศยังสดใสต่อเนื่องไปอีก จีนมีโอกาสเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นั้นคือการเพิ่มแรงกดดันให้ต้องปรับค่าเงินหยวน และความเสี่ยงในระบบการเงิน แต่การค้าระหว่างประเทศจะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและช่วยให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทางด้านอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2548 ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 1.3 ในเดือนสิงหาคม จีนจึงไม่มีปัญหาเรื่องแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ทำให้จีนยังรักษาเสถียรภาพราคาไว้ได้โดยไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนจากการตรึงค่าเงินหยวนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Fixed Exchange Rate) ไปเป็นระบบลอยตัวแบบจัดการ (Managed Floating Exchange Rate) โดยค่าเงินหยวนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดซึ่งอิงกับตะกร้าเงินมากขึ้น (Basket Currency) ซึ่งภายหลังการลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2 สำหรับผลกระทบจากการปรับค่าเงินหยวนโดยหลักการทั่ว ๆ ไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและจีน คือ การส่งออกของจีนไปตลาดโลกจะลดลง การนำเข้าของจีนจะเพิ่มมากขึ้น และการส่งออกของประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนเดิมจะเพิ่มสูงขึ้น และการนำเข้าของประเทศคู่ค้าเดิมจะลดลง อนึ่งสำหรับการปรับค่าเงินหยวนครั้งนี้เป็นการปรับเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและจีนมากนัก แต่นักวิเคราะห์จากประเทศต่าง ๆ อาจมองว่าในอนาคตค่าเงินหยวนจะปรับตัว แข็งค่าขึ้นกว่าปัจจุบันมากก็อาจทำให้มีการวางแผนรองรับทั้งทางด้านแนวทางการส่งออก นำเข้า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.5 และคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ในปี 2549เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในปี2548 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยที่ภาคธุรกิจและภาคการเงินเริ่มปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอดการค้าปลีกในเดือนกันยายนหดตัวลงเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในการซื้อเครื่องปรับอากาศและเชื้อเพลิงลงจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้จากผลการสำรวจความเห็นของ ผู้ประกอบการ (Tankan Survey) พบว่าในเดือนกันยายน 2548 ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ดัชนี PMI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดกิจกรรมการผลิต (manufacturing activity) โดยล่าสุดในเดือนกันยายน 2548 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.46 สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำให้มีแนวโน้มว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจะสามารถปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ด้านการส่งออกยังคงชะลอลง โดยในเดือนกันยายน 2548 ขยายตัวร้อยละ 8.8 เทียบกับร้อยละ 9.1 ในเดือนก่อน ตามการชะลอลงของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (IT) ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงเช่นกัน โดยขยายตัว ร้อยละ 17.4 เทียบกับร้อยละ 21.1 ในเดือนก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 957 พันล้านเยน จาก 113.8 พันล้านเยน ในเดือนก่อน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมยังคงติดลบเท่ากับเดือนกรกฎาคม ที่ร้อยละ 0.3 เนื่องจากการปรับลดราคาค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และการปรับลดราคาข้าว อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดแนวโน้มที่จะคลี่คลายในช่วงต้นปี 2549 เนื่องจากราคาค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และราคาข้าวที่ตกต่ำมีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2548 พรรค LDP ชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม สะท้อนว่าประชาชนยังสนับสนุนนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) เช่น ไปรษณีย์ และการลดขนาดของรัฐบาล (small government) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ทางการประกาศปรับเพิ่ม GDP ในไตรมาสที่ 2/2548 ของญี่ปุ่นจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 2.1 และ IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2548 และปี 2549 จากเดิมร้อยละ 0.8 และ 1.9 เป็นร้อยละ 2.0 และ 2.0 ตามลำดับเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ปี 2548 ภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรปค่อนข้างทรงตัว โดยอุปสงค์จากต่างประเทศและการอ่อนค่าของเงินยูโรช่วยให้ภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น สามารถชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงซบเซาจากภาวะที่อัตราการว่างงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.6 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 8.5 ในเดือนกรกฎาคม สำหรับดุลการค้าของสหภาพยุโรปเดือนสิงหาคม ขาดดุล 14.2 เพิ่มขึ้น 5.9 พันล้านยูโรเมื่อเทียบต่อปี และเพิ่มขึ้น 11.2 พันล้านยูโรเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยภาคการส่งออกของสหภาพ ยุโรปในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การผลิตอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 2.6 (yoy) หรือร้อยละ 0.8 (mom) จากเดือนก่อน ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนกันยายนปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 51.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.4 ในเดือนก่อน สำหรับ PMI ภาคบริการ (Service PMI) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 54.7 จากระดับ 53.4 ในเดือนก่อน ในการประชุม ECB Governing Council เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 นาย Trichet ประธาน ECB ยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังเหมาะสม และจะไม่ปรับในตอนนี้ แต่ ECB จะติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป ทางด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 สูงขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2 สูงกว่าเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 อย่างก็ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้นไม่มากและยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (refinancing rate) ไว้ที่ร้อยละ 2.0 ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าเสถียรภาพของระดับราคาได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ต้องติดตามแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป โดยประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2548 และ 2549 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1-2.3 และ 1.4-2.4 ตามลำดับ ดังนั้นในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 เท่านั้นเศรษฐกิจอาเซียน ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียโดยรวมยังคงขยายตัว แต่มีแรงกดดันมากขึ้นในด้านเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าเพื่อดูแลเสถียรภาพของเงินเฟ้อในประเทศ และภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากนัก โดยทางการในบางประเทศได้ปรับลดการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลง เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ทั้งนี้ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สำหรับอัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคเอเชียอยู่ในลักษณะผสม แต่ส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนเนื่องจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานและหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียยังมีทิศทางที่เข้มงวดขึ้น โดยธนาคารกลางไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนอย่างต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มเอเชียยังมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงขึ้นเนื่องจากได้รับแรงส่งของเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 จากปัจจัยการสนับสนุนด้านสนับสนุนด้านการส่งออก และคาดว่าความร่วมมือทางการค้าของกลุ่มอาเซียนจะทำให้การค้าในภูมิภาคขยายตัวมากขึ้น สิงคโปร์ เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 3/2548 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกสินค้าจำพวก Chemicals และ Pharmaceuticals ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 และเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 พิจารณาจากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น PMI และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเริ่มฟื้นตัว ธนาคารกลางของสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า ในปี 2549 GDP จะขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบต่อปี เนื่องจากความต้องการน้ำมันในตลาดโลกในปี 2549 ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศขยายตัวจาการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในไตรมาสที่ 3 ปี 2548 เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบต่อปี ส่วนธนาคารกลางสิงคโปร์ ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2548 ว่าจะยังคงดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Modest and Gradual Appreciation ต่อไป โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีในปี 2549 และเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาน้ำมันและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5มาเลเซีย ในปี 2548 เศรษฐกิจมาเลเซียเริ่มขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับดุลการค้าช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2548 เกินดุล 71.76 พันล้านริงกิต โดยการส่งออก มูลค่า 391.16 พันล้านริงกิต ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 319.4 พันล้านริงกิต โดยเป็นการเกินดุลเป็นเดือนที่ 95 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 เป็นต้นมา ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ประเทศในอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน ฮ่องกง และสหภาพยุโรป ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียในเดือนกันยายนปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบ (Pass through effect) จากการขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาอาหารและค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และ 7.1 ตามลำดับ ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2548 สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 อัตรากลางมาเลเซียได้ประกาศปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการตรึงค่าเงินริงกิตกับดอลลาร์สหรัฐฯ ไปสู่ระบบการลอยตัวค่าเงินแบบมีการจัดการ (Managed Float) ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับจาก 3.80 ริงกิต/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็น 3.778 ริงกิต/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.8ฟิลิปปินส์ ในปี2548 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีแนวโน้มชะลอตัวลง สำหรับการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่า 29.958 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.4 ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2548 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.0 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์เดือนกันยายนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงแต่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 จากร้อยละ 7.2 ในเดือนสิงหาคม ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ ร้อยละ 9.25 โดยถึงแม้ว่าเงินเฟ้อเดือนล่าสุดจะปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์เชื่อว่าสภาพคล่องในตลาดสูงกว่าที่คาดไว้จากการไหลเข้าของเงินทุน จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ตามในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.7อินโดนีเซีย เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 3/2548 ค่อนข้างชะลอตัวลงจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลง การใช้จ่ายภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และจากการที่ราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดไว้มาอยู่ที่ร้อยละ 9.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.3 โดยมีปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่ง อันเป็นผลการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันให้แก่ผู้ใช้ในอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า กอปรกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก ทำให้สินค้าและวัตถุดิบนำเข้ามีราคาสูงขึ้น ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย SBI ระยะ1 เดือน ร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.0 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 เพื่อชะลอเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน โดยอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในภูมิภาค และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2548 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.3 เศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียไต้หวัน ในไตรมาส 3/2548 เศรษฐกิจไต้หวันเริ่มชะลอตัวลง ภาคการส่งออกยังขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 โดยผลจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับไต้หวันแม้จะได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นในช่วงปลายเดือนกันยายน แต่ราคาอาหารไม่สูงขึ้นมากเท่าที่คาดไว้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ในเดือนกันยายน เทียบกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.6ฮ่องกง (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ