รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 25, 2006 13:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                                  สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคม 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 161.64 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 (165.72) ร้อยละ —1.5 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (155.81) ร้อยละ 6.1
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2549 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง การแปรรูปผลไม้และผัก
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 67.30 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 (68.66) ร้อยละ —2.0 และลดลงเล็กน้อยจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (68.45) ร้อยละ —1.7
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2549
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะชะลอตัวเล็กน้อยจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวตามระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทรงตัว รวมถึงราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงนอกจากนี้การส่งออกไก่แปรรูปไปสหภาพยุโรป กำลังมีข่าวเกี่ยวกับการปรับอัตราภาษีสินค้าไก่หมักเกลือและไก่แช่เย็นแช่แข็ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มมีปัจจัยลบเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนกอีกรอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลด้านจิตวิทยาต่อการบริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกได้
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิต ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนกันยายน 2549 จะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม แต่การจำหน่ายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง เนื่องจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนระมัดระวังหรือลดการใช้จ่ายลง ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับแนวโน้มในเดือนตุลาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสำรองไว้ช่วงไตรมาสที่ 4 เพราะต่างประเทศจะมีการนำเข้าสินค้าก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กล้า สถานการณ์เหล็กในเดือน ส.ค. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังคงทรงตัว ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นผลมาจากโครงการ Mega Projectของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตภาครัฐได้มีแผนที่จะก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้าง 3 สายแรกและคาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในเดือนมกราคม 2550 ซึ่งการก่อสร้างจะเริ่มไตรมาส 2 ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขยายการผลิต สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ยังคงทรงตัว เป็นผลมาจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งผู้ผลิตได้ขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนกับอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2549 คาดว่าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เพราะค่ายรถยนต์อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย และมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน 2549 คาดว่าการจำหน่ายในประเทศจะลดลง เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว แต่ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทดแทนภาวะการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวการณ์ผลิตและขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนสิงหาคม 2549 ชะลอตัวเล็กน้อยจากปัจจัยทางด้านวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ทองแดง และตลาดหลักของการส่งออกชะลอตัวบ้างในสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น และตู้เย็น เป็นต้น ตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าหลักที่ดึงให้ความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้น
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
มิ.ย. 49 = 165.72
ก.ค. 49 = 161.64
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี ลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
มิ.ย. 49 = 68.66
ก.ค. 49 = 67.30
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกในเดือนหน้าคาดว่าจะชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มชะลอตัวลง สำหรับการจำหน่ายในประเทศอาจจะชะลอตัวตามภาวะเงินเฟ้อและข่าวการระบาดของไข้หวัดนกรอบใหม่
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 10.2 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 9.4 โดยสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 4.3 แป้งมันสำปะหลังร้อยละ 58.8 กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 12.2 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 11.1 และไก่แช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 3.0 สำหรับการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ปาล์มน้ำมัน มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และอาหารสุกรผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เนื่องจากมีการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 4 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 5
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ มูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 8.5 และ 8.3 เนื่องจากเทศกาลวันหยุดต่อเนื่อง จากงานบุญเข้าพรรษาและเป็นผลสืบเนื่องจากพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทำให้มีการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการจัดงานมหกรรมลดราคาสินค้าทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงกลางปี
2) ตลาดต่างประเทศ ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 1.5 และ 0.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออกหลัก ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ลดลงร้อยละ 14.1 และไก่แปรรูป ร้อยละ 1.5 น้ำตาลทราย ร้อยละ 10.4 เป็นผลทางด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ ประกอบกับข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทยอีกครั้ง
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะชะลอตัวเล็กน้อยจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวตามระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทรงตัว รวมถึงราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงนอกจากนี้การส่งออกไก่แปรรูปไปสหภาพยุโรป กำลังมีข่าวเกี่ยวกับการปรับอัตราภาษีสินค้าไก่หมักเกลือและไก่แช่เย็นแช่แข็ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มมีปัจจัยลบเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนกอีกรอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลด้านจิตวิทยาต่อการบริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกได้
2.อุตสาหกรรมน้ำตาล (มิถุนายน)
1. น้ำตาลทราย
1.1 การผลิต
ตั้งแต่มีการปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 โรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงงานในประเทศได้หยุดการผลิตน้ำตาลทรายดิบ แต่มีบางโรงงานได้นำน้ำตาลทรายดิบไปละลายเพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยมีการผลิตน้ำตาลทรายรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2549 (6 เดือน) จำนวนทั้งสิ้น 4,339,289.11 ตัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 1,659,362.10 ตัน หรือ 38% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
1.2 การบริโภค
ในเดือนมิถุนายน 2549 มีการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ จำนวน 176,879.60 ตัน ลดลง 16% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีการบริโภค จำนวน 211,245.20 ตัน สำหรับการบริโภคโดยรวม ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2549 (6 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,173,530.26 ตัน เพิ่มขึ้น 6% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
1.3 การส่งออก
ในเดือนมิถุนายน 2549 ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำตาลจำนวน 206,217.41 ตัน เพิ่มขึ้น 28% จากเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งส่งออกได้จำนวน 147,935.66 ตัน และการส่งออกน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2549 (6 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 869,739.40 ตัน เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 476,985.73 ตัน หรือ 55% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด โดยปริมาณการส่งออกในเดือนมิถุนายนของปีนี้ลดลง 37% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
1.4 การนำเข้า
ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2549 (6 เดือน) มีการนำเข้าน้ำตาลทราย จำนวนทั้งสิ้น10,412.48 ตัน ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2549 ไม่มีการนำเข้าน้ำตาลทรายจากต่างประเทศ
2. กากน้ำตาล
ในเดือนมิถุนายน 2549 มีการผลิตกากน้ำตาล จำนวน 3,468.20 ตัน ลดลง 1 % จากในช่วงเดียวกันของปี 2548 ส่วนผลผลิตกากน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2549 (6 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,984,958.54 ตัน
การส่งออกกากน้ำตาลในเดือนมิถุนายน 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 39,270.46 ตัน หรือประมาณ 2% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ส่วนการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2549
3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“...แนวโน้มในเดือนตุลาคมคาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสำรองไว้ช่วงไตรมาสที่ 4 ”
1. การผลิตและการจำหน่าย
ภาวะการผลิตเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2549 การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.0 ขณะที่การผลิตผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 3.7 และ 0.1 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อยังมีไม่มากนักประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยังชะลอ ตัว แต่เมื่อพิจารณาจากการจำหน่ายยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การขยายตัวนั้นชะลอตัวตามการบริโภคที่ลดลงเนื่องจากระมัด ระวังการใช้จ่ายในภาคประชาชน ประกอบการนำเข้าเสื้อผ้าราคาถูก จากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น จีน อินเดียและเวียดนาม
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2549 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.1 และช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 ในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป (-5.8%)ผ้าผืน (-1.7%) ด้ายฝ้าย (-0.9%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (-13.1%) และเส้นใยประดิษฐ์ (-11.3%) ขณะที่ผลิตภัณฑ์เครื่องยกทรง ฯ ส่งออกเพิ่มขึ้น (+4.0%) เคหะสิ่งทอ (+32.8%) และผ้าปักและผ้าลูกไม้ (+23.6%)
ตลาดส่งออกหลักคือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.3, 20.2, 10.4 และ 6.2 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าหมวดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.8 โดยเส้นใยใช้ในการทอนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอินเดีย ด้ายทอผ้าฯนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่นและไต้หวัน ผ้าผืน นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ตลาดนำเข้าหลัก คือ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และ ฮ่องกง เสื้อผ้าสำเร็จรูปนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.3 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง และอิตาลี
ในขณะที่นำเข้าเครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้าลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอรมนี และไต้หวัน
4. แนวโน้ม
การผลิต ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนกันยายน 2549 จะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม แต่การจำหน่ายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง เนื่องจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนระมัดระวังหรือลดการใช้จ่ายลง ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับแนวโน้มในเดือนตุลาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสำรองไว้ช่วงไตรมาสที่ 4 เพราะต่างประเทศจะมีการนำเข้าสินค้าก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
4. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในช่วงครึ่งปีแรกปริมาณการนำเข้าสูงถึง 20.1 ล้านตัน อันดับสองได้แก่ประเทศในกลุ่มยุโรปซึ่งนำเข้าเพียง 16.6 ล้านตัน อันดับที่สามได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งปริมาณการนำเข้า 10.4 ล้านตัน อันดับถัดไปได้แก่ ประเทศจีน แคนาดา ตุรกี และไทย ตามลำดับ โดยสหรัฐอเมริกาได้นำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป HRC และ CRC เพิ่มมากขึ้น โดยนำเข้าจากประเทศจีน รัสเซีย กลุ่มประเทศยุโรป เกาหลีใต้ ตุรกี อินเดีย ออสเตรเลีย และอียิปต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่นำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และบราซิล ลดลง ร้อยละ 5
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ก.ค. 49 ชะลอตัวลงถึงร้อยละ 26.13 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 122.05 เป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กทรงแบน ร้อยละ 33.88 โดย เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 60.68 เนื่องจากเดือนนี้ผู้ผลิตโรงงานหนึ่งได้หยุดเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร รองลงมาคือเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 12.48 เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กชนิดนี้ได้หยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงประจำปี สถานการณ์การตลาดของเหล็กทรงแบน พบว่า ตลาดในประเทศยังคงทรงตัว ผู้ผลิตจึงได้ขยายตลาดเพื่อการส่งออก ซึ่งทิศทางในการส่งออกของเหล็กแผ่นรีดร้อน พบว่า ขยายตัวขึ้นโดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรปและตะวันออกกลาง
สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 8.01 โดยเหล็กลวดและเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 17.32 และ 16.66 ตามลำดับ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ประกอบกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ยังไม่แน่นอน จึงทำให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตชะลอตัวลงเล็กน้อย ร้อยละ 2.74 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ชะลอตัวลงมากที่สุด ร้อยละ 14.41 โดยเหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 33.75 และเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 22.42 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 3.21 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกขยายตัวมากที่สุด ร้อยละ 119.05 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ขยายตัว ร้อยละ 114.43
2.ราคาเหล็ก
การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนสิงหาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กแทบทุกตัวชะลอตัวลง โดยเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต ลดลงจาก 408 เป็น 396 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 2.97 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 605 เป็น 590 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 2.48 เหล็กแผ่นรีดเย็นลดลงจาก 630 เป็น 618 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 1.90 เหล็กเส้นลดลงจาก 444 เป็น 439 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 1.07 ซึ่งสาเหตุที่ราคาเหล็กเส้นลดลงเนื่องจากความต้องการของประเทศสหรัฐอเมริกา อัฟริกาเหนือ ตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศยุโรปที่ลดลง สำหรับเหล็กแท่งแบนกลับมีราคาโดยเฉลี่ยทรงตัว คือ 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน ส.ค. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังคงทรงตัว ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นผลมาจากโครงการ Mega Projectของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตภาครัฐได้มีแผนที่จะก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้าง 3 สายแรกและคาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในเดือนมกราคม 2550 ซึ่งการก่อสร้างจะเริ่มไตรมาส 2 ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขยายการผลิต สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ยังคงทรงตัว เป็นผลมาจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งผู้ผลิตได้ขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนกับอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง
5. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2549 ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อรอดูรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ประกอบกับตลาดส่งออกบางประเทศประสบปัญหาจากภาวะราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง รวมถึงภัยทางธรรมชาติ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 93,713 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการผลิต 99,806 คัน ร้อยละ 6.10 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2548 ร้อยละ 1.79
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 50,638 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 55,532 คัน ร้อยละ 8.81 และลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2548 ร้อยละ 0.46 โดยเป็นการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภท
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 40,561 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการส่งออก 45,780 คัน ร้อยละ 11.40 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2548 ร้อยละ 6.60
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2549 คาดว่าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เพราะค่ายรถยนต์อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย และมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2549 มีการผลิต และการจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและในปีนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในทุกภาคของประเทศ ส่งผลกระทบต่อฐานลูกค้าที่สำคัญของตลาด โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 171,421 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการผลิต 186,868 คัน ร้อยละ 8.27 และลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2548 ร้อยละ 10.66
- การจำหน่าย จำนวน 162,973 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 187,448 คัน ร้อยละ 13.06 และลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2548 ร้อยละ 3.34
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 9,932 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการส่งออก 8,482 คัน ร้อยละ 17.10 แต่ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2548 ร้อยละ 4.85
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2549 คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในประเทศจะทรงตัวจากเดือนกรกฎาคม 2549 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน
6.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิตปูนซีเมนต์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่การจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลงเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเพิ่มการผลิตเพื่อขยายการส่งออกทดแทนตลาดภายในประเทศที่ชะลอตัวลง”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตปูนซีเมนต์ในเดือนกรกฎาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.62 และ 4.51 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 3.03 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.06 ทั้งนี้การผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการได้ขยายการผลิตรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการจำหน่ายในประเทศที่ลดลงตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาครัฐและเอกชน
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกรกฎาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.79 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.86 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านใน อาเซียนเพิ่มมากขึ้น
3.แนวโน้ม
ในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน 2549
คาดว่าการจำหน่ายในประเทศจะลดลง เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว แต่ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทดแทนภาวะการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
7. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ภาวะการผลิตและการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือน ก.ค.49 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของ HDD และ IC
- ฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ทุ่มเงินทุนเกือบ 300 ล้านบาท ขยายพื้นที่โรงงานเพิ่มกำลังการผลิตในจังหวัดลำพูนและอยุธยา รองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
- แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนส.ค.คาดว่ายังจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก.ค.ทั้งในกลุ่มสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่ายังจะมียอดการผลิตที่สูงตามภาวะความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดโลก
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ค. 2549
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 42,252 -5 19
IC 21,878 -6 23
เครื่องรับโทรทัศน์สี 5,849 -22 13
เครื่องปรับอากาศ 5,318 -25 -13
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 124,962 -6 7
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2549 ชะลอตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 225 ลดลงร้อยละ 2 โดยเป็นการปรับตัวลดลงส่วนใหญ่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทุกชนิด ได้แก่ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เป็นการปรับตัวตามฤดูกาล เครื่องรับโทรทัศน์ขนาดใหญ่ มีการผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังค่อนข้างสูง ประกอบกับฐานของตัวเลขในเดือนก่อนหน้านี้มีคำสั่งซื้อค่อนข้างสูง ส่วนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กยังคงลดลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีน หากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะHDD และ IC ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. การส่งออก
การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 124,962 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนได้แก่ส่วนประกอบเครื่องวีดีโอ, VCD, DVD มีมูลค่าส่งออก 3,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 จากเดือนก่อน เนื่องจากการขยายตัวของตลาดอียูถึงร้อยละ 663 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยคำสั่งซื้อพิเศษจากเดนมาร์ก มูลค่าส่งออก 1,619 ล้านบาท จากเดิมเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่เครื่องรับโทรทัศน์สีมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากการขยายตัวจากตลาดสหรัฐและอียู
สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 78,671 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงจากทุกรายการโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ PCB/PCBA หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14 เป็นผลจากตัว IC ที่มีมูลค่า 21,878 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวในตลาดอาเซียนและจีน สูงถึงร้อยละ 54 และ 36 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการของจีนในผลิตภัณฑ์ IC ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญมีมากทำให้จีนเองผลิตไม่ทันจึงต้องนำเข้าจากไทย
3. แนวโน้ม
ภาวการณ์ผลิตและขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนสิงหาคม 2549 ชะลอตัวเล็กน้อยจากปัจจัยทางด้านวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ทองแดง และตลาดหลักของการส่งออกชะลอตัวบ้างในสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น และตู้เย็น เป็นต้น ตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าหลักที่ดึงให้ความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้น
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2549 มีค่า 161.64 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 (165.72) ร้อยละ 2.5 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (155.81) ร้อยละ 3.7
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ