ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน ตุลาคม 2549
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2549 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2549
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนตุลาคม 2549 เท่ากับ 115.5 สำหรับเดือนกันยายน 2549 เท่ากับ 115.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกันยายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.4
2.2 เดือนตุลาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.8
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2549 สูงขึ้นค่อนข้างมาก ร้อยละ 0.4 (กันยายนลดลงร้อยละ 0.3) สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาผักสด อันเนื่องมาจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเป็นวงกว้างในภาคเหนือและภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูก ทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาผักสดหลายชนิดสูงขึ้นมาก ประกอบกับช่วงปลายเดือนเป็นเทศกาลกินเจ ถึงแม้ในเดือนนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดโดยเฉลี่ยราคาลดลงก็ตาม
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.4 (เดือนกันยายน สูงขึ้นร้อยละ 1.0) สาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดผักสด ร้อยละ 30.6 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม ผักที่มีราคาสูงขึ้นมากได้แก่ ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม และขึ้นฉ่าย เป็นต้น นอกจากนี้ดัชนีราคาข้าวสารเหนียวยังคงสูงขึ้นร้อยละ 3.7 ไก่สดสูงขึ้นร้อยละ 1.7 และผลไม้ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.6 ส่วนเนื้อหมู และไข่ไก่ราคาลดลง
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.7 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 5.4 โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด เฉลี่ยลดลง 30 สตางค์ต่อลิตร (ลดลง 2 ครั้ง และขึ้น 1 ครั้ง) นอกจากนี้อุปกรณ์สื่อสารและเครื่องใช้ไฟฟ้ามีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องรับโทรศัพท์ โทรทัศน์ ตู้เย็น และเครื่องเล่นเทป - ดิสก์ เป็นต้น สำหรับค่ากระแสไฟฟ้า (ตค. - มค.) มีการปรับค่าเอฟที (Ft) ลดลงจาก 0.8544 บาทต่อหน่วยเหลือ 0.7842 บาทต่อหน่วย แต่มีการยกเลิกในส่วนมาตรการช่วยเหลือ (ลด 10 สตางค์ต่อหน่วย) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ทำให้ดัชนีราคาค่ากระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 0.2
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนตุลาคม 2548 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.8เป็นอัตราสูงขึ้นที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า (กันยายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.7) สาเหตุมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 5.3 อันเนื่องมาจากการสูงขึ้นของราคาผักสดร้อยละ 22.6 ข้าวสารเหนียวร้อยละ 32.1 สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.4 โดยมีผลเกี่ยวเนื่องมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาค่าโดยสารสาธารณะร้อยละ 11.8 ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 7.7 เป็นสำคัญ ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดัชนีราคาลดลงร้อยละ 3.8
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2549 เท่ากับ 105.0 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนกันยายน 2549 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
5.2 เดือนตุลาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.8
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์