ในไตรมาสที่ 2/2549 เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศจะทำให้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง แต่ประเทศจีน และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย สามารถเร่งการผลิตและการค้าในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง เนื่องจากการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญยังคงเป็นปัจจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ทะยานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาภาวะสงคราม และภัยธรรมชาติในหลายประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลให้ภาคการผลิตและการเงินในประเทศผู้ผลิตต้องชะลอตัวลง หรืออาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในระยะปานกลาง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2/2549 เนื่องจากการเติบโตในอัตราที่ลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ แม้ว่าดุลการค้าจะขาดดุลลดลงจนสามารถเกินดุลได้เป็นครั้งแรกอันเป็นผลมาจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าการขาดดุลจะกลับมาอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว และการทุ่มงบประมาณเพื่อการทำสงครามในต่างประเทศ จะฉุดให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงต่อเนื่อง
ทางด้านสหภาพยุโรป ยังคงเติบโตอย่างช้าๆต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน ยังไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก แม้ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น จากความเชื่อมมั่นของภาคธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะปานกลาง และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถฉุดให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปได้
ส่วนประเทศจีน ยังคงต้องพยายามควบคุมไม่ให้ GDP ขยายตัวอย่างร้อนแรงมากเกินไป จนอาจนำไปสู่เศรษฐกิจฟองสบู่ได้ ทั้งด้านการลงทุนที่ยังต้องอาศัยการลงทุนภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นในหลายๆสาขาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการพัฒนาและการกระจายรายได้ไปสู่ชนบทให้มากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องหามาตรการเข้ามากำกับการลงทุนในภาคการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทางด้านประเทศญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ทั้งด้านการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ แต่ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการขยายตัวดี ส่วนด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้ญี่ปุ่นต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหกปี
สำหรับเศรษฐกิจไทย จากการประมาณการผลิตภัณฑ์ประชาชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2549 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.2-4.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากกว่าในปี 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง และสนับสนุนการขยายตัวได้น้อยกว่าในปี 2548 ประกอบกับยังมีความเสี่ยงและข้อจำกัดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น
สำหรับภาคอุตสาหกรรม จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม (ในระดับ ISIC 4 หลัก) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 2.4 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นทางธุรกิจพบว่ามีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ส่วนสถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 63,619.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 30,997.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 32,622.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.86 และการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.87 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.09 และมูลค่าการนำเข้าชะลอลงเหลือร้อยละ 3.34 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดุลการค้าขาดดุล 1,625.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคม มีมูลค่ารวม 16,357.32 ล้านบาท ลดลงร้อยละ —40.17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,574.52 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคม 5,782.80 ล้านบาทส่วนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 601 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.80 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่มีเงินลงทุน 199,100 ล้านบาท ลดลงร้อยละ —40.26 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100 % จำนวน 198 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 70,600 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 200 โครงการ เป็นเงินลงทุน 95,200 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตในสินค้าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ค่อนข้างทรงตัว โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.06 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮาร์ตดิสไดรฟ์ (HDD) และ IC ในขณะที่การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างทรงตัวร้อยละ 0.88 โดยลดลงในสินค้าในรายการต่างๆ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์สีขนาดเล็ก เป็นต้น ส่วนภาวะการส่งออกไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 380,342 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 19 ในขณะที่สินค้าไฟฟ้าหลายตัวมีมูลค่าการส่งออกลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวป หม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นต้น
ในขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 มีมูลค่า 305,213 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าทั้งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 138 ทั้งนี้เนื่องจากชิ้นส่วนสำคัญในการประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ในปัจจุบัน เช่น จอ LCD ยังไม่สามารถผลิตได้ในไทยทำให้ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 2 ปี 2549 การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 9,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าการนำเข้า 22,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปุ๋ยมีมูลค่านำเข้า 12,008 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปริมาณพืชผลที่สำคัญของประเทศมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับในครึ่งปีแรกของปี 2549 พื้นที่ทำการเกษตรประสบภัยแล้งเพียง 1.3 ล้านไร่ ในขณะที่ปี 2548 พื้นที่ทำการเกษตรประสบภัยแล้งถึง 14 ล้านไร่
เครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 4,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศให้ความสำคัญต่อรูปลักษณ์ภายนอกมากขึ้น จึงก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมความงามเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการนวดด้วยกรรมวิธีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากมาย หรือที่เรียกว่า Spa เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้มีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น
ทางด้านการส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2549 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่า 4,230 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 1,913 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 6,045 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 2.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยมีมูลค่าการส่งออก 534 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจาก ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ประเทศคู่ค้าของไทยก็มีการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ปริมาณการสั่งซื้อปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้น แหล่งส่งออกที่สำคัญได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ปิโตรเคมี ไตรมาส 2 ปี 2549 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตบางรายกลับมาเดินเครื่อง ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน หลังจากปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตามผู้ผลิต PE ในประเทศบางรายลดปริมาณการผลิตลงในเดือนมิถุนายน เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคา PE-เอทิลีนที่แคบลงมาก จึงไม่มีความต้องการซื้อเอทิลีนในตลาด spot เพิ่มขึ้น สำหรับการผลิต Mono Ethylene Glycol (MEG) ซึ่งเป็นหน่วยผลิตใหม่ มีกำลังการผลิต 300,000 ตัน/ปี ได้เลื่อนกำหนดเดินเครื่องการผลิตจากกลางเดือนมิถุนายน เป็นสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2549
สำหรับในไตรมาส 2 ปี 2549 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 5,787.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 120.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 10,610.97 ล้านบาท เพิ่มร้อยละ 4.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 14.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 16,163.24 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2549 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 8,025.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 20.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 11,860.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 165.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 38,451.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดจนปัญหาทางด้านการเมืองภายในประเทศ จึงทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง ประกอบกับการที่ผู้ผลิตเกรงว่าจะเกิดปัญหาต้นทุนสินค้าคงคลังสูงเมื่อราคาเหล็กมีความผันผวน ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตและสต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณที่ไม่มาก เช่นเดียวกันพ่อค้าคนกลางที่สต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น โดยเหล็กทรงยาวชะลอตัวลงทั้งการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศร้อยละ 27.08 และ 20.13 ตามลำดับ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว จากการที่ผู้ซื้อเกิดความไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ จึงชะลอการตัดสินใจซื้อลง ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการและภาคเอกชนก็มีแต่โครงการขนาดเล็ก สำหรับเหล็กทรงแบน การผลิตและการใช้ในประเทศชะลอตัวลงร้อยละ 3.64 และ ร้อยละ 14.72 เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศลดลง สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าโดยรวมชะลอตัวลงร้อยละ 28.83 และ 20.99 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุด ร้อยละ 77.12 รองลงมาคือเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 53.51 สำหรับการส่งออกโดยรวมชะลอตัวลงทั้งมูลค่าและปริมาณ ร้อยละ 21.01 และ 2.42 ตามลำดับ
ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 การผลิตมีการขยายตัว อันเนื่องมาจากการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ในขณะที่ตลาดในประเทศได้ชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจนส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในความมั่นใจด้านเศรษฐกิจการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2549 ที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ซึ่งตลาดรถยนต์ในประเทศโดยรวมก็ชะลอตัวด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2549 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.21 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.83 และ 8.95 ตามลำดับ แต่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 19.03 และหากเปรียบเทียบไตรมาสที่สองกับไตรมาสแรกของปี 2549 ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 3.73 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 แต่รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 4.81 และ 17.14 ตามลำดับ ในส่วนการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 และ 8.46 แต่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 6.24
ส่วนการจำหน่ายในประเทศไตรมาสที่สองของปี 2549 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 8.15 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 แต่รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUV ลดลงร้อยละ 6.93, 20.39 และ 45.16 ตามลำดับ และหากเปรียบเทียบไตรมาสที่สองกับไตรมาสแรกของปี 2549 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 3.05 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.99 แต่รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUV ลดลงร้อยละ 8.05, 5.88 และ 10.78 ตามลำดับ ในส่วนการส่งออกเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกเพิ่มร้อยละ 19.83 และเมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่สองกับไตรมาสแรกของปี 2549 แล้ว ลดลงร้อยละ 9.96
พลาสติก ไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 477.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ กลุ่มประเทศในอาเซียน ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศหลักที่ไทยส่งออกได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยสำหรับไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อและการส่งออกของ บางกลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด คือ แผ่นฟิมล์ฟอยล์และแถบ มีมูลค่าการส่งออก 136.3ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รองลงมาได้แก่ ถุงและกระสอบพลาสติก มีมูลค่าส่งออก 129.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 เทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ10.26 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ด้านการนำเข้าไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 553.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับแผ่นฟิมล์ ฟลอย์และแถบพลาสติก มีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หลอดและท่อพลาสติก มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 5.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังของไทยมีภาวะการผลิตหนังฟอกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนโดยเป็นผลมาจากการนำเข้าหนังดิบมาผลิตเป็นหนังฟอกและผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยหนังดิบและหนังฟอก ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2549 เทียบกับ ไตรมาสที่ 1 ปี 2549 มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การผลิตกระเป๋าลดลงจากไตรมาสก่อนเนื่องยังคงมีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเหลืออยู่มาก ดัชนีผลผลิตกระเป๋าไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ -31.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ -29.1 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ -23.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ -26.6 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 430.5 เช่นเดียวกับการผลิตรองเท้าก็ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกลดลง โดยรองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 มีมูลค่าการส่งออกทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.4
อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2549 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง และผักผลไม้ลดลงร้อยละ 39.7 และ 4.4 ตามลำดับ เป็นผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบจากภาวะภัยธรรมชาติ และหากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิต อุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงอย่างมาก ประมาณร้อยละ 56 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต สำหรับภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 พบว่า อัตราการผลิตหดตัวลง ร้อยละ 88.8 ตามการลดลงของผลผลิตอ้อยจากสภาวะแห้งแล้ง ด้านภาวะการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2549 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 106,302.7 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 จะพบว่าภาวะการส่งออกในรูปของมูลค่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ขณะที่ปริมาณส่งออกกลับลดลง จึงสรุปได้ว่ามูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนการผลิตด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบระหว่างครึ่งปี 2549 และ 2548 จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0
ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทย
ในไตรมาสที่ 2 ปี2549 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศปรับตัวลดลง ตามทิศทางการชะลอตัวลงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากผลกระทบของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้สินค้าไม้และเครื่องเรือน อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการก่อสร้างและการตกแต่งอาคารสถานที่มีการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลงตามไปด้วย ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีปริมาณการผลิต 4.43 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 16.73 และ19.60 ตามลำดับ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 มีปริมาณการผลิต 9.75 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตลดลงร้อยละ 12.48 ส่วนปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีปริมาณการจำหน่าย 1.12 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 15.79 และ 59.57 ตามลำดับ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ 2.45 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตลดลงร้อยละ 51.49
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตของผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาส 2 ของปี 2549 ส่วนใหญ่มีปริมาณการผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากราคายางพาราแปรรูปขั้นต้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้องรับภาระขาดทุนหากมีการรับออร์เดอร์ล่วงหน้าจากราคาต้นทุนที่คิดในปัจจุบัน จึงต้องมีการปรับลดการผลิตลงเพื่อประเมินสถานการณ์ใหม่ โดยการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง มีจำนวน 3,062,765 เส้น ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.48 ยางนอกรถจักรยานยนต์ จำนวน 5,624,624 เส้น ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.29 ยางนอกรถจักรยาน จำนวน 4,812,423 เส้น ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6.99 และยางในรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,402,809 เส้น ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.04 ยางในรถจักรยาน จำนวน 4,815,035 เส้น ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 10.68 และถุงมือยางจำนวน 2,240.55 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.33
สำหรับการส่งออก ยางแปรรูปขั้นต้น ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 จำนวน 1,185.00 ล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าปรับตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 5.35 และหากเปรียบเทียบไตรมาสเดียวกันกับปีที่แล้วมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65.39 โดยตลาดส่งออกสำคัญในหมวดนี้ ยังคงเป็นประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ทางด้านผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 จำนวน 749.50 ล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 8.40 และเติบโตจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 30.48 โดยตลาดส่งออกสำคัญในหมวดนี้ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ในไตรมาสนี้ทรงตัว โดยมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศชะลอตัว ต้นทุนการผลิตและขนส่งที่สูงขึ้นจากภาวะราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่แน่นอน แม้ว่าจะได้รับปัจจัยหนุนในประเทศ เช่น การจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพระราชพิธีฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง การเลือกตั้งระดับประเทศก็ตาม โดยภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 มีปริมาณการผลิต 248,576.7 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.3 การผลิตกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 มีปริมาณการผลิตรวม 883,247.2 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.1 และ 1.2 ตามลำดับ
ยา ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ สำหรับปริมาณการจำหน่ายปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.2 สำหรับการจำหน่ายในครึ่งแรกของปี 2549 มีปริมาณ 11,560.2 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับตลาดยาในประเทศมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าได้น้อยลง ด้านมูลค่าการนำเข้าและการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ายาต้นตำรับและยาที่มีสิทธิบัตร และส่งออกวัสดุที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโรค โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีมูลค่า 7,946.8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.6 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.7 โดยตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมที่สำคัญ ในไตรมาสที่ 2 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3,670.5 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 46.2 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมทั้งหมด ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 1,578.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.7
(ยังมีต่อ)