การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 18, 2011 15:16 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 4 /2554

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่

เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(ฉบับที่ 2)

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) คำว่า “หุ้นกู้ระยะสั้น” “หุ้นกู้อนุพันธ์” “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” “บริษัทย่อย” “ผู้บริหาร” “ผู้มีอำนาจควบคุม” “นิติบุคคลเฉพาะกิจ” และ “กิจการตามกฎหมายต่างประเทศ” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

“ผู้ขออนุญาตอาจกำหนดให้หุ้นกู้ที่ออกใหม่ซึ่งขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) มีการชำระค่าหุ้นกู้เป็นสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินตราต่างประเทศก็ได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่กำหนดให้ชำระค่าหุ้นกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ให้ผู้ขออนุญาตปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 4/1 ด้วย”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (4) ของข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

“(4) ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเสนอโครงการของนิติบุคคลเฉพาะกิจเป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ และนิติบุคคลเฉพาะกิจจะเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่โดยให้ชำระค่าหุ้นกู้เป็นสกุลเงินบาท นิติบุคคลเฉพาะกิจจะต้องได้รับการอนุญาตให้ออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทยจากกระทรวงการคลัง”

ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 6/1 ในกรณีผู้มีสิทธิเสนอโครงการเป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ หรือเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่โดยมีการชำระค่าหุ้นกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศพร้อมกันหรือในระยะเวลาใกล้เคียงกันในประเทศอื่นด้วย ผู้เสนอขายหุ้นกู้อาจยื่นข้อมูลหรือเอกสารต่อสำนักงาน ที่จัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ หากข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวแปลมาจากข้อมูลหรือเอกสารที่เป็นภาษาอื่น ผู้เสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ดำเนินการให้ผู้แปลรับรองความถูกต้องว่า สาระของการแปลถูกต้องตรงตามสาระของข้อมูลหรือเอกสารที่เป็นต้นฉบับ

(2) ผู้เสนอขายหุ้นกู้ต้องรับรองว่า สาระของข้อมูลหรือเอกสารที่แปลนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริง และมิได้มีการปกปิดข้อเท็จจริงที่พึงเปิดเผยเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานตามประกาศนี้ หากได้จัดทำเป็นภาษาใดในครั้งแรก ให้จัดทำโดยใช้ภาษานั้นต่อไปทุกครั้ง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นสมควรและได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความใน (2) (3) และ (4) ของข้อ 8 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(2) แสดงได้ว่าไม่อยู่ระหว่างค้างส่งรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 57 และไม่อยู่ระหว่างมีประเด็นในการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนทั่วไปในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี

(ข) ถูกสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน หรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบ มาตรา 56 หรือมาตรา 57 แล้วแต่กรณี หรือ

(ค) ถูกสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งให้ดำเนินการตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี

(3) มีกรรมการและผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การแสดงชื่อบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

(4) ในกรณีที่ผู้มีอำนาจควบคุมมิได้เป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้มีอำนาจควบคุมมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยอนุโลม”

ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 10 และข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 10 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการตามคำขออนุญาตได้

(1) นิติบุคคลเฉพาะกิจหรือการเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือประกาศนี้

(2) การเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ

(3) การเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม หรือ

(4) การเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 11 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการที่ได้รับอนุญาตได้

(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว

(2) นิติบุคคลเฉพาะกิจมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(3) นิติบุคคลเฉพาะกิจมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

การผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้นิติบุคคลเฉพาะกิจต้องปฏิบัติด้วยก็ได้”

ข้อ 8 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 20 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) เป็นทรัพย์สินหรือการค้ำประกันที่มีการดำเนินการให้มีผลบังคับได้ตามกฎหมายโดยคำนึงถึงสภาพของหลักประกันแต่ละประเภท สามารถดำรงได้ตลอดอายุหุ้นกู้ตามโครงการ และดูแลได้โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่เป็นหรือเกี่ยวข้องกับหลักประกันซึ่งเป็นทรัพย์สินอื่นใด ที่มิใช่ตราสารทางการเงิน ทรัพย์สินดังกล่าวต้องอยู่ในประเทศไทย”

ข้อ 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 4/1 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเฉพาะสำหรับโครงการที่จะเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ข้อ 36/1 และข้อ 36/2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 13/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

“หมวด 4/1

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเฉพาะสำหรับโครงการที่จะเสนอขาย

หุ้นกู้ที่ออกใหม่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

_______________________________

ข้อ 36/1 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะกับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามโครงการที่มีข้อตกลงให้ชำระค่าหุ้นกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

ข้อ 36/2 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางในการควบคุมการใช้เงินตราต่างประเทศสำหรับผู้ลงทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมิได้อนุมัติให้ลงทุนในเงินตราต่างประเทศได้โดยตรง นิติบุคคลเฉพาะกิจต้องจัดให้มีผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามโครงการในกรณีดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการในกรณีทั่วไปตามหมวด 2 ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ออกใหม่

(2) การเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการในวงจำกัดตามหมวด 3 ให้แก่ผู้ลงทุนที่ไม่เข้าลักษณะของผู้ลงทุนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารในต่างประเทศและอนุพันธ์”

ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อรองรับให้นิติบุคคลเฉพาะกิจสามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามโครงการเป็นสกุลเงิน

ตราต่างประเทศได้ และแก้ไขข้อกำหนดอื่นให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศอื่น จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ