นำส่งประกาศชุด streamline เอกสารที่ใช้ในการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 30, 2011 14:36 —ประกาศ ก.ล.ต.

เรียน ผู้จัดการ

บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมทุกบริษัท

ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

เรื่อง นำส่งประกาศชุด streamline เอกสารที่ใช้ในการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

ด้วยสำนักงานได้ออกประกาศจำนวน 5 ฉบับ1/ ดังนี้

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 19/2554 เรื่อง ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (“ประกาศข้อผูกพัน”)

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 27/2554 เรื่อง รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (“ประกาศโครงการ”)

(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2554 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (“ประกาศจัดตั้ง”)

(4) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 29/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (“ประกาศจัดการ”)

(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 30/2554 เรื่อง แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับเอกสารของกองทุนรวม ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (“ประกาศเอกสาร”)

โดยประกาศทั้ง 5 ฉบับข้างต้นมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 เป็นต้นไป

สำนักงานได้ดำเนินการปรับปรุงเอกสารที่ใช้ในการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ได้แก่ ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม (“ข้อผูกพัน”) รายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวม (“โครงการ”) และหนังสือชี้ชวน โดยจัดแบ่งข้อมูลใหม่ให้มีความครบถ้วนและเหมาะสมกับเอกสารแต่ละประเภท เพื่อลดความซ้ำซ้อนกัน และลดภาระในการแก้ไขข้อมูลที่ไม่มีผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนให้ทำได้ง่ายขึ้น โดยสรุปได้ดังนี้

1. ข้อผูกพัน — ให้มีแต่ข้อมูลเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทจัดการกองทุนรวมกับผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อให้มีผลผูกพันกันในทางกฎหมาย เช่น ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ถือหน่วยลงทุน ความผูกพันของผู้ถือหน่วยลงทุนตามข้อผูกพัน เป็นต้น

2. โครงการ — ให้มีแต่ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของกองทุนรวมและบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม และ

3. หนังสือชี้ชวน (ซึ่งสำนักงานจะนำเสนอในโอกาสถัดไป) — ให้มีข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างเพียงพอและเข้าใจได้ง่าย โดยหนังสือชี้ชวนประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

  • หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (KID) ระบุข้อมูลเฉพาะที่สำคัญ ๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน โดยมีเนื้อหากระชับ (ไม่เกิน 2-4 หน้า) ชัดเจน เข้าใจง่าย และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกองทุนต่าง ๆ ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมและตัวแทนขายต้องแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญไปพร้อมกับใบสั่งซื้อหน่วยลงทุน
  • หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม (Q&A) ซึ่งจะมีการสรุปรายละเอียดโครงการฯ มาแสดงในรูปคำถามและคำตอบ โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ซึ่งส่วนนี้จะมีรายละเอียดเนื้อหามากกว่า KID รวมทั้งกำหนดให้โครงการฯ และข้อผูกพันระหว่างบริษัทจัดการกับผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นเอกสารประกอบสำหรับหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม โดยผู้ขายต้องจัดให้มี ณ จุดขาย เพื่อให้ผู้ลงทุน
ได้รับข้อมูลเมื่อร้องขอ
  • หนังสือชี้ชวนส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วน กำหนดให้บริษัทจัดการรับรองว่า ข้อมูลที่เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนถูกต้อง ไม่เป็นเท็จ ไม่ทำให้ผู้อื่นสำคัญผิด และไม่ขาดข้อมูลที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ

สำนักงานขอนำส่งประกาศ และขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยรายละเอียด ดังนี้

(1) ข้อผูกพัน

(1.1) รายการข้อมูลในข้อผูกพันจะมีแต่ข้อมูลเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทจัดการ กับผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อให้มีผลผูกพันกันในทางกฎหมาย เช่น ที่อยู่ วิธีติดต่อ และสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้ประกัน เป็นต้น การเปลี่ยนบริษัทจัดการและผู้ดูแลผลประโยชน์ สิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน วิธีการและข้อจำกัดในการจ่ายเงินปันผล การออกและส่งมอบเอกสารสิทธิในหน่วยลงทุน หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน และผลบังคับของมติ การชดใช้หรือเยียวยาความเสียหายแก่กองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุน ตลอดจนการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทจัดการและผู้ถือหน่วยลงทุน การชำระบัญชี เมื่อเลิกกองทุนรวม ทั้งนี้ ให้โครงการเป็นเอกสารแนบท้ายซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อผูกพัน (ข้อ 3 ของประกาศข้อผูกพัน)

(1.2) มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดที่สำคัญที่ต้องระบุเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการในแต่ละด้าน (ข้อ 4 — 10 ของประกาศข้อผูกพัน) เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีการชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งและอำนาจหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ ข้อกำหนดว่าผู้ถือหน่วยลงทุนมีความรับผิดจำกัดไม่เกินค่าหน่วยลงทุน ข้อกำหนดว่าผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ว่าทอดใด ๆ ยอมรับที่จะผูกพันตามข้อกำหนดในข้อผูกพันซึ่งลงนามโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม

ข้อกำหนดว่าผู้ดูแลผลประโยชน์ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกับผลประโยชน์ของกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุน ข้อกำหนดว่าบริษัทจัดการต้องจัดทำใบหน่วยลงทุนให้ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจำเป็นต้องใช้ใบหน่วยลงทุน เป็นต้น

(1.3) มีการกำหนดวิธีการแก้ไขข้อมูลในข้อผูกพัน ดังนี้

1) ส่วนที่มีนัยสำคัญกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน จะต้องได้รับมติเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุน

2) ส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน สามารถให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ในฐานะตัวแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขได้เลย เช่น การให้สิทธิในการใช้อนุญาโตตุลาการ การแก้ไขเกี่ยวกับวิธีการชำระบัญชี การเปลี่ยนแปลงวิธีแก้ไขโครงการตามประกาศที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข (ข้อ 11 ของประกาศข้อผูกพัน)

(1.4) สำหรับส่วนของหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน และผลบังคับของมติ จะต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีการนับมติ จำนวนเสียงที่ใช้เป็นมติ และวิธีการนับมติ และต้องมีข้อกำหนดที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ข้อกำหนดที่แสดงว่าหากบริษัทจัดการได้ดำเนินการตามมติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับมาโดยชอบแล้ว ให้ถือว่าผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงเห็นชอบและยอมรับที่จะผูกพันตามมติ ข้อกำหนดที่แสดงว่ามติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ให้ดำเนินการที่ขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมาย ให้ถือว่ามตินั้นเสียไป เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน จะต้องระบุความแตกต่างของหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดด้วย (ข้อ 12 ของประกาศข้อผูกพัน)

ทั้งนี้ กรณีที่บริษัทจัดการมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือแต่งตั้งตัวแทนขายเพิ่มเติม ให้บริษัทจัดการแจ้งปรับปรุงข้อมูลรายชื่อตัวแทนขายในระบบงานจัดตั้งและจัดการกองทุน Online Fund Approval and Management System (OFAM) ให้เป็นปัจจุบันด้วย

(2) โครงการ

(2.1) รายการข้อมูลในโครงการจะมีแต่ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของกองทุนรวมและบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม เช่น ชื่อโครงการ ชื่อบริษัทจัดการ ชื่อผู้ดูแลผลประโยชน์ ประเภท วัตถุประสงค์ และ อายุของกองทุนรวม จำนวนเงินทุนโครงการ นโยบายการลงทุน การแบ่งชนิดหน่วยลงทุน เงื่อนไขการขายและการรับซื้อคืน นโยบายการจ่ายเงินปันผล ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม และการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ เป็นต้น (ข้อ 3 และ 4 ของประกาศโครงการ)

(2.2) มีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเพื่อลดภาระในการแก้ไขข้อมูลที่ไม่มีผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนให้ทำได้ง่ายขึ้น ดังนี้

1) กำหนดให้โครงการสามารถระบุลักษณะการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการที่ถือว่าได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนแล้วได้ ดังต่อไปนี้ (ข้อ 13 ของประกาศโครงการ)

  • เป็นการแก้ไขที่ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น การลดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อขายหน่วยลงทุน การเพิ่มช่องทางซื้อขายหน่วยลงทุน การลดเวลาส่งคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนล่วงหน้า การเพิ่มความถี่ในการซื้อขายหน่วยลงทุนโดยไม่กระทบสถานะการลงทุนของกองทุนอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น
  • เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎหมาย
  • เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อและรายละเอียดของบุคคลเดิมให้ถูกต้อง (ไม่ได้เปลี่ยนตัวบุคคล)

ทั้งนี้ การแก้ไขดังกล่าวยังถือว่าเป็นการแก้ไขตามมาตรา 129 แห่ง พรบ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งต้องประกาศในหนังสือพิมพ์และแจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบ ทั้งนี้ การยื่นแก้ไขโครงการลักษณะดังกล่าว ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ความเห็นว่าเป็นการแก้ไขที่เป็นไปตามลักษณะที่กำหนดข้างต้นซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขโดยได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว บริษัทจัดการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแก้ไขโครงการ

2) ในกรณีที่โครงการมีการระบุหลักทรัพย์หลักที่จะลงทุนอย่างชัดเจนไว้เป็นการเฉพาะในวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน (Core Investment) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถระบุว่า “ประเภทหลักทรัพย์ที่จะลงทุนและอัตราส่วนการลงทุนเป็นไปตามประกาศที่เกี่ยวข้อง” ได้ โดยไม่ต้องระบุรายละเอียด เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถทราบขอบเขตการลงทุนได้จากวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากสำนักงานมีการแก้ไขประกาศเพิ่มเติมประเภทหลักทรัพย์และอัตราส่วนการลงทุน และบริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะลงทุนตามประกาศใหม่ในส่วนที่ไม่กระทบต่อ Core Investment ที่กำหนดไว้ดังกล่าว ให้สามารถลงทุนได้เลยโดยไม่ต้องแก้ไขโครงการ

3) ในกรณีที่โครงการระบุชื่อบุคคลและมีการระบุเพิ่มเติมว่าอาจแต่งตั้งบุคคลในการปฏิบัติการกองทุนรวมตามรายชื่อบุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีคุณสมบัติในการปฏิบัติการกองทุนรวมดังกล่าว เช่น ที่ปรึกษา ผู้สอบบัญชี เป็นต้น หากมีการแต่งตั้งเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อในภายหลัง ให้สามารถทำได้โดยไม่ถือเป็นการแก้ไขโครงการ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่การแต่งตั้งดังกล่าวทำให้กองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่กำหนดไว้ในโครงการ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องขอแก้ไขโครงการในส่วนของค่าใช้จ่ายโดยการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน

(2.3) มีการกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลบังคับของโครงการ ดังนี้ (ข้อ 11 ของประกาศโครงการ)

1) ในกรณีที่โครงการมีข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับข้อกำหนดตามประกาศ ให้ถือว่าการปฏิบัติตามประกาศเป็นการปฏิบัติตามโครงการแล้ว

2) การลงนามในข้อผูกพันโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามที่ระบุไว้ในโครงการ ให้ถือว่าผูกพันผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวง

3) ให้ถือว่าผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ว่าในทอดใด ๆ ยอมรับที่จะผูกพันตามข้อกำหนดในโครงการและข้อผูกพัน

(3) สำหรับประกาศจัดตั้ง ประกาศจัดการ และประกาศเอกสาร เป็นการแก้ไขประกาศเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดแบ่งรายการข้อมูลตามข้อ (1) และ (2)

(4) บทเฉพาะกาลสำหรับกองทุนรวมเดิม

สำหรับกองทุนรวมเดิมที่ได้ยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมต่อสำนักงานแล้ว ให้สามารถใช้โครงการและข้อผูกพันเดิมต่อไปได้ หรือบริษัทจัดการจะดำเนินการแก้ไขโครงการและข้อผูกพันให้สอดคล้องกับประกาศนี้ก็ได้ โดยสามารถยื่นขอแก้ไขโครงการต่อสำนักงานได้ในกรณีที่ไม่มีการแก้ไขสาระสำคัญไปจากโครงการเดิมและต้องมีคำรับรองว่ามิได้มีสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งลงนามรับรองโดยผู้ดูแลผลประโยชน์และกรรมการที่มีอำนาจลงนามของบริษัท โดยกรณีนี้จะถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบให้แก้ไขได้โดยไม่ต้องได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ การแก้ไขโครงการลักษณะนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแก้ไขโครงการ (ข้อ 14 และ 15 ของประกาศโครงการ และข้อ 7 และ 8 ของประกาศจัดตั้ง)

สำนักงานขอเสนอชื่อเจ้าหน้าที่สำหรับการติดต่อสอบถาม คือ นางสาวศุภรา ผ่องศรี หมายเลขโทรศัพท์ 02-263-6040 หรือ subhara@sec.or.th

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

30 สิงหาคม 2554 สิ่งที่ส่งมาด้วย

(1) สำเนาประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 19/2554 เรื่อง ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ลงวันที่ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

(2) สำเนาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 27/2554 เรื่อง รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

(3) สำเนาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2554 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

(4) สำเนาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 29/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

(5) สำเนาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 30/2554 เรื่อง แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับเอกสารของกองทุนรวม ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

(6) ตัวอย่างโครงการและข้อผูกพันจากระบบงาน OFAM

หมายเหตุ: 1/ สำนักงานได้จัดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และมีการจัดประชุมกับบริษัทจัดการกองทุนรวมทุกแห่ง 2 ครั้ง ในวันที่ 16 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2552 และ 7 - 15 มีนาคม 2554 และได้จัดอบรมระบบงานจัดตั้งและจัดการกองทุน Online Fund Approval and Management System (OFAM) ซึ่งได้ปรับปรุงเพื่อรองรับหลักการตามประกาศดังกล่าวแล้ว 2 ครั้ง ในวันที่ 26 -27 มกราคม 2553 และ 18 - 19 สิงหาคม 2554

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ