การกำหนดให้การประกอบธุรกิจของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 20, 2012 14:10 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ กช. 1 /2555

เรื่อง การกำหนดให้การประกอบธุรกิจของสถาบันจัดอันดับ

ความน่าเชื่อถือไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน

________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 16 ข้อ 17 และข้อ 18 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 15/2552 เรื่อง การกำหนดให้การประกอบธุรกิจของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 9/2553 เรื่อง การกำหนดให้การประกอบธุรกิจของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 6/2554 เรื่อง การกำหนดให้การประกอบธุรกิจของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การประเมินฐานะและความสามารถของรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม หรือกิจการใด ๆ ในการชำระคืนหนี้ตามตราสารใดตราสารหนึ่ง หรือการชำระหนี้คืนทั้งหมด หรือการปฏิบัติตามภาระผูกพันตามหุ้นบุริมสิทธิ และแสดงผลการประเมินด้วยการให้สัญลักษณ์

“สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า ผู้ซึ่งประกอบธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นทางค้าปกติ

“ตราสารหนี้” หมายความว่า พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วเงิน และให้หมายความรวมถึงศุกูก

“ตราสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน (structured finance product)” หมายความว่า ตราสารทางการเงินที่มีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้

(1) เป็นตราสารที่ออกโดยนิติบุคคลเฉพาะกิจตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) หรือโครงการทางการเงินอื่นใดที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน

(2) ความเสี่ยงในการได้รับชำระคืนหนี้ตามตราสารขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินทรัพย์ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกระแสรายรับที่จะนำมาชำระคืนหนี้ตามตราสารดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามตราสารหรือไม่ก็ตาม

(3) มีการจัดโครงสร้างกระแสรายรับที่ทำให้ไม่อาจพิจารณาความเสี่ยงในการได้รับชำระคืนหนี้ตามตราสารจากคุณภาพของสินทรัพย์ได้โดยลำพัง

“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

“บริษัทใหญ่” หมายความว่า

(1) บริษัทที่ถือหุ้นในผู้ออกตราสารหนี้เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกตราสารหนี้

(2) บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทตาม (1) เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิ ออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น

(3) บริษัทที่ถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทตาม (2) โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น

(4) บริษัทที่ถือหุ้นในผู้ออกตราสารหนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกตราสารหนี้นั้น

การถือหุ้นของบริษัทตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภทด้วย

“ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกรายและให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารที่รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า

หมวด 1

บททั่วไป

____________

ข้อ 4 การให้คำแนะนำแก่ประชาชนในลักษณะของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน

(1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามที่กำหนดไว้ในหมวด 2

(2) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 5

ข้อ 5 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศตามข้อ 4(2) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ประกอบธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้โดยชอบตามกฎหมายของประเทศที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวจัดตั้งขึ้น และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO)

(2) ไม่มีสถานประกอบธุรกิจในประเทศไทยไม่ว่าในรูปแบบใด เว้นแต่เป็นการถือหุ้นในสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบตามข้อ 4(1)

(3) ดำเนินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือภายใต้ขอบเขตตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6

ข้อ 6 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศต้องดำเนินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือภายใต้ขอบเขตดังต่อไปนี้

(1) จัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับการออกตราสารที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) ตราสารหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีบริษัทใหญ่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

(ข) ตราสารหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยในกรณีใด กรณีหนึ่งดังนี้

1. ตราสารหนี้ที่ออกและเสนอขายในประเทศและต่างประเทศในคราวเดียวกัน

2. หุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกและเสนอขายในประเทศไทย

3. หุ้นกู้เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่มีผู้มีสิทธิเสนอโครงการเป็นหน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ

ค) ตราสารหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ หน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

(ง) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยธนาคารต่างประเทศหรือบริษัทประกันภัยต่างประเทศ ซึ่งมีสาขาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจประกันภัย ในประเทศไทย แล้วแต่กรณี

(2) จัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับกิจการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตราสารในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) เป็นผู้ค้ำประกันหรือผู้รับอาวัลของตราสารหนี้ ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ หรือหน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

(ข) เป็นผู้ค้ำประกันของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(3) กรณีอื่นใดนอกจาก (1) และ (2) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศต้องดำเนินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับการออกตราสารหรือกิจการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตราสารเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกับต่างประเทศได้ เช่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือในลักษณะ international scale rating หรือ regional scale rating เป็นต้น

หมวด 2

การขอความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ

____________

ส่วนที่ 1

การยื่นคำขอความเห็นชอบ

____________

ข้อ 7 ให้บุคคลที่ประสงค์จะเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงานพร้อมเอกสารหลักฐานตามแนวทางและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน

ข้อ 8 ให้บุคคลที่ยื่นคำขอความเห็นชอบตามข้อ 7 ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอความเห็นชอบตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ พร้อมกับการยื่นคำขอดังกล่าว

ข้อ 9 ในการพิจารณาคำขอความเห็นชอบ สำนักงานอาจแจ้งให้ผู้ขอความเห็นชอบชี้แจง ดำเนินการ หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ในกรณีที่ผู้ขอความเห็นชอบไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง สำนักงานจะถือว่าบุคคลนั้นไม่ประสงค์จะยื่นคำขอความเห็นชอบอีกต่อไป

ข้อ 10 สำนักงานจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอความเห็นชอบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบ

____________

ข้อ 11 ผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามหมวดนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(2) มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาท

(3) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่ากรรมการหรือผู้บริหารมีพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดความน่าเชื่อถือหรือความน่าไว้วางใจ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) มีประวัติเคยถูกไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการกระทำทุจริต

(ข) มีประวัติการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต

(ค) มีประวัติการบริหารงาน หรือการกระทำอื่นใดอันเป็นเหตุให้มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อย่างร้ายแรง อันแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบในการบริหารงาน

(4) มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถหรือประสบการณ์ในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เพียงพอเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(5) แสดงได้ว่าจะสามารถจัดให้มีระบบงานในการติดตามดูแลการปฏิบัติงานเพื่อให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ

(6) มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่รัดกุมและเชื่อถือได้ ตลอดจนสามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระและสามารถให้ความเห็นได้อย่างเป็นกลางและเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

(7) มีสัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) เป็นสิ่งที่ใช้กันในความหมายสามัญหรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ

(ข) เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอย่างใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในการพิจารณาลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารตามวรรคหนึ่ง (3) ให้สำนักงานนำประวัติพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวย้อนหลังไม่เกินสิบปีมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ในการพิจารณาลักษณะต้องห้ามของบุคคลดังกล่าวให้คำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรม หรือผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือหรือความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้วย

ข้อ 12 ให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวดนี้ประกอบธุรกิจภายใต้ขอบเขตดังต่อไปนี้

(1) การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(2) การให้คำชี้แจงหรือเหตุผลประกอบการพิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณา

(3) การให้บริการข่าวสารข้อมูลที่ได้รับมาเนื่องจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นต้น

(4) ธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือไม่มีลักษณะที่ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างเป็นอิสระ

ส่วนที่ 3

หน้าที่ภายหลังได้รับความเห็นชอบ

____________

ข้อ 13 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวดนี้ต้องมีระบบงานที่ชัดเจน รัดกุม และเพียงพอที่จะสามารถควบคุมดูแลให้การดำเนินงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างเป็นระบบ มีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 14

(2) สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระ และให้ความเห็นได้อย่างเป็นกลางและเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 15

(3) มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างเพียงพอ โดยข้อมูลดังกล่าวต้องสื่อสารได้อย่างชัดเจนและไม่ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยคำนึงถึงผู้ใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 16

(4) มีการจัดการข้อมูลที่ได้รับมาเนื่องจากการให้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ข้อมูล โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 17

ข้อ 14 เพื่อให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เผยแพร่แก่ประชาชน (public rating) มีการจัดทำอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดวิธีการและขั้นตอนในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (methodology and procedure) ที่สามารถกลั่นกรองและให้ความเห็นในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้อย่างมีคุณภาพและสะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ตามตราสารหรือของกิจการที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตลอดจนทบทวนวิธีการและขั้นตอนที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ

(2) ใช้ข้อมูลประกอบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถอ้างอิงได้

(3) มอบหมายให้บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในตราสารอย่างเพียงพอเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารนั้น

(4) ทบทวนผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เผยแพร่แก่ประชาชนเพื่อให้ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ตามตราสารหรือของกิจการที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้อย่างทันเหตุการณ์

(5) ทบทวนผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในกรณีที่ผู้ซึ่งเคยเป็นบุคลากรและมีส่วนร่วมในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้แก่กิจการใด ได้เข้าร่วมงานกับกิจการนั้น (look-back review)

ข้อ 15 เพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะสามารถจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้อย่างเป็นอิสระ และให้ความเห็นได้อย่างเป็นกลางและเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้มีการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยต้องครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้

(1) สายงานบังคับบัญชาและโครงสร้างการจ่ายผลตอบแทนในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งมาตรการป้องกันมิให้บุคลากรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น

(2) การไม่รับจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้แก่กิจการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) กิจการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ที่ออกโดยกิจการดังกล่าวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยกิจการนั้น เว้นแต่เป็นการถือหลักทรัพย์หรือมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยผ่านบุคคลที่ได้รับมอบหมายซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพจัดการเงินทุนหรือการลงทุนให้กับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่สามารถแทรกแซงหรือสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นได้

(ข) กิจการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของกิจการหรือตราสารที่ออกโดยกิจการนั้น

(3) มาตรการที่มิให้ผู้บริหารและพนักงานที่มีความสัมพันธ์กับกิจการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้แก่กิจการนั้น

(ก) กิจการที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ที่ออกโดยกิจการนั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือกิจการที่ออกหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสินค้าอ้างอิงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่บุคคลดังกล่าวเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น เว้นแต่เป็นการถือหลักทรัพย์หรือเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยผ่านบุคคลที่ได้รับมอบหมายซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพจัดการเงินทุนหรือการลงทุนให้กับบุคคลดังกล่าว และบุคคลดังกล่าวนั้นไม่สามารถแทรกแซงหรือสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นได้

(ข) กิจการที่บุคคลดังกล่าวทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของกิจการหรือตราสารที่ออกโดยกิจการนั้น

(ค) กิจการที่บุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้อย่างเป็นอิสระ หรือไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างเป็นกลาง

(4) มาตรการที่ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่ออกโดยกิจการซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าว หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีหลักทรัพย์นั้นเป็นสินค้าอ้างอิง เว้นแต่การซื้อขายหลักทรัพย์หรือการเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวกระทำโดยบุคคลที่ได้รับมอบหมายซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพจัดการเงินทุนหรือการลงทุนให้กับบุคคลดังกล่าว และบุคคลดังกล่าวนั้นไม่สามารถแทรกแซงหรือสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นได้

(5) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในรายงานประจำปี โดยต้องเปิดเผยสัดส่วนของรายได้จากการประกอบธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเทียบกับรายได้จากการประกอบธุรกิจอื่น ทั้งนี้ ในกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีรายได้ จากการให้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้แก่กิจการหนึ่งกิจการใดตั้งแต่ร้อยละสิบขึ้นไปของรายได้ทั้งหมดในรอบปีบัญชี สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องเปิดเผยรายชื่อกิจการดังกล่าวด้วย

ข้อ 16 เพื่อให้ประชาชนซึ่งใช้ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีข้อมูลอย่างเพียงพอ และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเหมาะสม สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อประชาชนอย่างทันเหตุการณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งระบุเหตุผลประกอบการพิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องประกาศให้ประชาชนทราบโดยไม่ชักช้า

(2) เปิดเผยวิธีการและขั้นตอนในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางการประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไว้อย่างชัดเจนและเป็นปัจจุบัน

(3) มีสัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย พร้อมทั้งอธิบายความหมายของสัญลักษณ์ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบในกรณีที่เป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องใช้สัญลักษณ์ที่แตกต่างจากสัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ทั่วไป พร้อมทั้งอธิบายความหมายของสัญลักษณ์ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน และเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบด้วย

(4) เปิดเผยการวิเคราะห์กระแสเงินสดของสินทรัพย์อ้างอิงและผลกระทบต่อผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ (rating sensitivity) รวมทั้งข้อจำกัดในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(5) เปิดเผยข้อมูลความผิดพลาดในการประเมินผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในอดีต (historical default rate) โดยให้เปิดเผยข้อมูลสถิติและรายละเอียดย้อนหลังเป็นระยะเวลาสิบปี ทั้งนี้ ในกรณีที่ประกอบธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ถึงสิบปี ให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตั่งแต่เริ่มประกอบธุรกิจจนถึงปัจจุบัน

ข้อ 17 เพื่อให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปฏิบัติต่อข้อมูลที่ได้รับมาเนื่องจากการให้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างเหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ข้อมูล สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องดำเนินการมิให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่ได้รับมานั้นไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือใช้เพื่อการอื่นใดนอกจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า หรือนำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงกับผู้ให้ข้อมูลหรือลูกค้า เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมาย

ข้อ 18 ในกรณีที่เป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยไม่ได้รับการว่าจ้างจากผู้ออกตราสาร (unsolicited rating) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในกรณีดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

(2) ในการเผยแพร่ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อประชาชนทุกครั้ง ให้เปิดเผยข้อมูลดังนี้อย่างถูกต้องครบถ้วน

(ก) การจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ได้รับการว่าจ้างจากผู้ออกตราสารและผู้ออกตราสารมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่

(ข) แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 19 ให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวดนี้ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ส่งผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เผยแพร่แก่ประชาชนต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่เผยแพร่ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น

(2) จัดทำและส่งงบการเงินสำหรับงวดประจำปีบัญชีและรายงานประจำปีเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อสำนักงานภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

(3) แจ้งการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิ่มเติมสัญลักษณ์ หรือความหมายของสัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อสำนักงานก่อนการใช้สัญลักษณ์หรือความหมายของสัญลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิ่มเติมนั้น

(4) แจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้บริหารหรือคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหาร พร้อมทั้งส่งรายละเอียดเกี่ยวกับคุณวุฒิและประวัติการทำงานของกรรมการและผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งใหม่ และหนังสือรับรองคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารนั้น ต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้า

(5) แจ้งการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญต่อโครงสร้างการถือหุ้นหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้า

(6) เก็บรักษาข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไว้ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบข้อมูลได้ทันที (audit trail) เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองปีนับแต่วันที่มีการเผยแพร่ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(7) ยื่นรายงานหรือแสดงเอกสารเกี่ยวกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่สำนักงานกำหนด และทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความรายงานหรือเอกสารที่ยื่นตามที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 20 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานเข้าไปในสถานที่ตั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในระหว่างเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามประกาศนี้

ส่วนที่ 4

การสิ้นสุดการให้ความเห็นชอบและบทบังคับอื่น

____________

ข้อ 21 สำนักงานอาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามสมควรแก่กรณี เมื่อมีเหตุดังต่อไปนี้

(1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 11

(2) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประกอบกิจการนอกขอบเขตธุรกิจที่ระบุในข้อ 12

(3) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 3 และการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าหรือผู้ใช้ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น

ในกรณีที่เกิดเหตุตามวรรคหนึ่ง สำนักงานอาจสั่งให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

ข้อ 22 ในการสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวดนี้ สำนักงานอาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของบุคคลรายนั้นในครั้งต่อไปไว้ด้วยก็ได้ โดยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่สำนักงานสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

____________

ข้อ 23 ให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2536 หรือประกาศคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 15/2552 เรื่อง การกำหนดให้การประกอบธุรกิจของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 อยู่แล้วในวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศนี้ และให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับของประกาศนี้

ข้อ 24 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2536 หรือประกาศ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 15/2552 เรื่อง การกำหนดให้การประกอบธุรกิจของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

(นางสาวนวพร เรืองสกุล)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ