โครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ขององค์กร

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 21, 2012 11:32 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ ขส. 8 /2555

เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร

_______________________

ตามที่สำนักงานได้มีประกาศที่ ขส. 3/2550 เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550 แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน โครงสร้างการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงาน หน้าที่ของแต่ละส่วนงาน และสถานที่ติดต่อของสำนักงาน มาเพื่อทราบโดยทั่วกันแล้ว นั้น

โดยที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้อนุมัติให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับภารกิจต่าง ๆ ของสำนักงาน โดยเพิ่มส่วนงานจากเดิม 17 ฝ่าย เป็น 21 ฝ่าย 2 ศูนย์ และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของส่วนงานต่าง ๆ ของสำนักงาน เพื่อให้การบริหารจัดการสำนักงานเป็นไปโดยสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงาน

สำนักงานจึงขอแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนงานขององค์กรและอำนาจหน้าที่ของส่วนงานภายในสำนักงานมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน โดยขอยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ ขส. 3/2550 เรื่อง โครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และให้ใช้ประกาศนี้แทน ดังนี้

ข้อ 1 โดยที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 บัญญัติให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน”) และกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“คณะกรรมการ ก.ล.ต.”) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และต่อมาพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพิ่มเติม

ข้อ 2 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยผ่านการคัดเลือกตามที่กำหนดในมาตรา 31/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 จำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคนเป็นกรรมการ โดยในจำนวนนี้อย่างน้อย ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านบัญชี และด้านการเงินด้านละหนึ่งคน และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ การออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อำนาจดังกล่าวรวมถึง

(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาตหรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต

(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ

(4) ออกระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับเกี่ยวกับการพนักงาน ระบบพนักงานสัมพันธ์การบรรจุแต่งตั้งถอดถอน และวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน การกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ

(5) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(6) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ดังต่อไปนี้

อำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540

(1) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(2) กำกับดูแลให้นิติบุคคลเฉพาะกิจปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าว

(3) กำหนดประเภทของสินทรัพย์และหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(4) ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดดังกล่าว

(5) กำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดดังกล่าว

(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมาย

(7) วางระเบียบเกี่ยวกับการประชุมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ

(8) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดดังกล่าว

อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อำนาจหน้าที่ดังกล่าวรวมถึง

(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต การขอจดทะเบียน การขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบ

(3) กำหนดขอบเขตและวิธีปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

(4) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว

อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง

(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต การอนุญาต หรือการประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

(3) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว

ข้อ 3 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกอบด้วยเลขาธิการเป็นประธานกรรมการ รองเลขาธิการซึ่งเลขาธิการมอบหมายหนึ่งคน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือรองผู้อำนวยการที่ได้รับมอบหมายหนึ่งคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยผ่านการคัดเลือกตามที่กำหนดในมาตรา 31/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อีกไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยสองคนต้องมีประสบการณ์ในการบริหารกิจการบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์

ให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่น โดยต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.

อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้รวมถึง

(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดในเรื่องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี นายทะเบียนหลักทรัพย์ สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ

(2) รายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

(3) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ข้อ 4 สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงาน ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวเลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.

สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 หรือตามกฎหมายอื่น

อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน

(1) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยนโอน รับโอน หรือ ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้

(2) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินและลงทุนหาผลประโยชน์

(3) กำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ

(4) รับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานกำหนด และโดยที่สำนักงานได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2543 ให้เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา สำนักงานจึง มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย

ข้อ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป โครงสร้างการดำเนินงานของสำนักงานโดยอนุมัติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. แบ่งออกเป็นส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้

(1) ฝ่ายกฎหมายและพัฒนา

(2) ฝ่ายกำกับตลาด

(3) ฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน

(4) ฝ่ายกำกับและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์

(5) ฝ่ายคดี

(6) ฝ่ายงานเลขาธิการ

(7) ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ — ตราสารทุน

(8) ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ — ตราสารหนี้และตราสารอื่น

(9) ฝ่ายบริหารทั่วไป

(10) ฝ่ายใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์

(11) ฝ่ายพัฒนากฎเกณฑ์

(12) ฝ่ายพัฒนาบริษัท

(13) ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน

(14) ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน

(15) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

(16) ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

(17) ฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ

(18) ฝ่ายวิเคราะห์และตรวจสอบธุรกิจหลักทรัพย์

(19) ฝ่ายวิจัยและบริหารความเสี่ยงตลาดทุน

(20) ฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน

(21) ฝ่ายส่งเสริมความสัมพันธ์องค์กร

(22) ศูนย์คดีปกครอง

(23) ศูนย์ส่งเสริมบรรษัทภิบาล

ข้อ 6 ฝ่ายกฎหมายและพัฒนา มีหน้าที่

(1) ศึกษา พัฒนา ยกร่าง และแก้ไขกฎหมาย

(2) เสนอข้อเท็จจริงและปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการของ

(ก) คณะอนุกรรมการกฎหมาย

(ข) อนุญาโตตุลาการ

(3) ให้คำปรึกษาและความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อกฎหมาย รวมทั้งยกร่างคำสั่งและสัญญาต่าง ๆ ทั้งที่ใช้กับงานภายในของสำนักงาน กรรมการ และพนักงานของสำนักงาน

(4) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 7 ฝ่ายกำกับตลาด มีหน้าที่

(1) พัฒนาและกำกับดูแลองค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุนให้ได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ระบบการซื้อขายทางเลือก (alternative trading system) สำนักหักบัญชี ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency) เป็นต้น ซึ่งรวมถึงการให้ความเห็นชอบกฎเกณฑ์ การพิจารณาเรื่องร้องเรียน และการตรวจสอบ

(2) ติดตามสภาพการซื้อขายในตลาดต่าง ๆ ในภาพรวม

(3) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 8 ฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน มีหน้าที่

(1) พัฒนาด้านการบัญชีที่เกี่ยวกับตลาดทุน

(2) ให้ความเห็นชอบและกำกับดูแลผู้สอบบัญชี ตั้งแต่การวางกฎเกณฑ์กำกับดูแล การติดตาม การพิจารณาเรื่องร้องเรียน และการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

(3) ตรวจทานการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ในกรณีต่าง ๆ เช่น การพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ การสุ่มตรวจทานงบการเงินรายไตรมาสและรายปี การพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับงบการเงิน เป็นต้น

(4) ให้คำปรึกษาและความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการบัญชีและการสอบบัญชี

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 9 ฝ่ายกำกับและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ มีหน้าที่

(1) พัฒนาและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท ซึ่งรวมถึงธุรกิจจัดการกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน ธุรกิจค้าและจัดจำหน่ายตราสารหนี้ ธุรกิจนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (LBDU) และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (เช่น ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้รับฝากหลักทรัพย์ บริษัทจัดอันดับกองทุนรวม นายทะเบียนหลักทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (TSFC) เป็นต้น) รวมถึงประสานงานและกำกับดูแลการทำหน้าที่ของสมาคมหรือองค์กรกำกับดูแลตนเอง

(2) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 10 ฝ่ายคดี มีหน้าที่

(1) พิจารณาการดำเนินการลงโทษทางปกครองกับนิติบุคคลและผู้ประกอบวิชาชีพที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลต่าง ๆ รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับเรื่องมาจากส่วนงานต้นเรื่อง

(2) เสนอข้อเท็จจริงและปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการของ

(ก) คณะกรรมการเปรียบเทียบ

(ข) คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง ภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

(3) ประสานงานและติดตามคดีที่อยู่ในกระบวนการดำเนินคดีอาญา

(4) เป็นผู้แทนหรือให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและคดีในกรณีที่มีผู้ยื่นฟ้องคดีแพ่งหรืออาญาต่อสำนักงาน กรรมการ และพนักงานของสำนักงาน ในคดีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 11 ฝ่ายงานเลขาธิการ มีหน้าที่

(1) ปฏิบัติงานด้านเลขานุการและธุรการของคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และผู้บริหารระดับสูง

(2) กลั่นกรองงานที่เสนอผู้บริหารระดับสูง

(3) กำหนดท่าทีในการสื่อสารประเด็นที่เป็นข่าว รวมทั้งงานสื่อมวลชนสัมพันธ์

(4) ดำเนินการด้านสื่อสารองค์กรผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น Quarterly Bulletin และรายงานประจำปี เป็นต้น

(5) ศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป

(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 12 ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ — ตราสารทุน มีหน้าที่

(1) ส่งเสริมและพัฒนาการระดมทุนแบบมีกลยุทธ์ รวมถึงการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพเชิงยุทธศาสตร์ และนิติบุคคลร่วมลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น private equity และ venture capital fund เป็นต้น

(2) วางหลักเกณฑ์และพิจารณาคำขออนุญาตเกี่ยวกับ

(ก) ตราสารทุนและตราสารที่คล้ายทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น และตราสารกึ่งทุน

(ข) ตราสารการเงินเพื่อการลงทุนใน real assets เช่น property fund/REITs และกองทุนรวมสาธารณูปโภค (infrastructure fund) เป็นต้น

(3) ให้ความเห็นชอบ วางหลักเกณฑ์ในการทำหน้าที่ พิจารณาเรื่องร้องเรียน รวบรวมข้อมูลกรณีที่สงสัยว่าอาจมีการกระทำหน้าที่บกพร่องของที่ปรึกษาทางการเงินและผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

(4) ขึ้นทะเบียนรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 13 ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ — ตราสารหนี้และตราสารอื่น มีหน้าที่

(1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการออกตราสารประเภทใหม่ ๆ ในเชิงรุก

(2) วางหลักเกณฑ์และพิจารณาคำขออนุญาตเกี่ยวกับ

(ก) การเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้และตราสารที่มีอนุพันธ์แฝง

(ข) การอนุมัติจัดตั้งและแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการในการจัดตั้งกองทุน รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุน

(ค) การออกตราสารประเภทอื่น ๆ เช่น structured products เป็นต้น

(3) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 14 ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่

(1) บริหารงานพัสดุและธุรการทั่วไป

(2) รับผิดชอบงานการลงทุน การเงิน การบัญชี และการงบประมาณของสำนักงาน

(3) รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล ข้อมูล ข่าวสาร และทรัพย์สินของสำนักงาน รวมถึงการตรวจสอบประวัติบุคลากร

(4) รับผิดชอบงานดูแลรักษาอาคารสถานที่ทำงาน

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 15 ฝ่ายใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ มีหน้าที่

(1) ให้ใบอนุญาต/รับขึ้นทะเบียนการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งหมด เช่น นายทะเบียนหลักทรัพย์ที่มิได้เป็นบริษัทในกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน เป็นต้น รวมถึงพิจารณาอนุญาตให้เริ่มประกอบธุรกิจ

(2) ให้ความเห็นชอบบุคลากรที่ปฏิบัติงานในธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท เช่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้บริหาร ผู้ขายตราสาร ผู้จัดการกองทุน เป็นต้น

(3) พิจารณาเรื่องร้องเรียนและรวบรวมข้อมูลกรณีที่สงสัยว่าผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน มีการกระทำความผิด รวมถึงการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต

(4) ดำเนินการในฐานะนายทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 รวมทั้งการตอบข้อหารือที่เกี่ยวข้อง การเผยแพร่ความรู้ในเรื่องบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการให้สมาชิกกองทุนตระหนักถึงการรักษาและปกป้องสิทธิประโยชน์

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 16 ฝ่ายพัฒนากฎเกณฑ์ มีหน้าที่

(1) ยกร่างและปรับปรุงประกาศและข้อบังคับที่ออกตามกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล สอดคล้องกับหลักกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ และเกื้อหนุนต่อการพัฒนาของภาคธุรกิจ

(2) ส่งเสริมให้ประกาศและข้อบังคับอ่านเข้าใจได้ง่าย เช่น การจัดทำคู่มือฉบับประชาชน เป็นต้น

(3) ให้คำปรึกษาและความเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประกาศและข้อบังคับ

(4) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 17 ฝ่ายพัฒนาบริษัท มีหน้าที่

(1) ส่งเสริมและพัฒนาภาคธุรกิจในการปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ เช่น การควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้าง การซื้อกิจการโดยการใช้หนี้หรือเงินกู้ (leverage buy out) เป็นต้น โดยครอบคลุมทั้งบริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าจดทะเบียน

(2) กำกับดูแลการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ซึ่งรวมถึง การวางหลักเกณฑ์กำกับดูแล การพิจารณาคำขอ การผ่อนผัน และการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งการกำกับดูแลการทำหน้าที่ของที่ปรึกษาการเงินที่เกี่ยวข้อง

(3) ติดตามการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน การได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

(4) พัฒนาระบบและสอบทานการเปิดเผยข้อมูล ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หลังการเสนอขายหลักทรัพย์

(5) พิจารณาเรื่องร้องเรียนและกรณีที่สงสัยว่าอาจมีการกระทำความผิด ที่เกี่ยวข้องกับ (2) — (4) รวมทั้งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของที่ปรึกษาการเงิน และผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว

(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 18 ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน มีหน้าที่

(1) ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานภายใน

(ก) เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่กำหนด

(ข) มีระบบการควบคุมภายในที่รัดกุม

(ค) ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ของสำนักงาน

(ง) เป็นไปตามแนวทางการเสริมสร้างบรรษัทภิบาลที่ดี

(2) เสนอข้อเท็จจริงและปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการตรวจสอบ

(3) ให้คำปรึกษาและความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในที่ดี

(4) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 19 ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน มีหน้าที่

(1) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายและการกระทำความผิดในมาตราที่สำคัญอื่น

(2) ติดตามข่าวสารและพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขาย

(3) ประสานงานและสนับสนุนด้านข้อมูลกับฝ่ายคดี พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ

(4) จัดการระบบฐานข้อมูลลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 20 ฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่

(1) ศึกษาและติดตามเทคนิคการบริหารจัดการเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านพนักงานใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในงานสำนักงาน

(2) รับผิดชอบงานด้านบริหารบุคคลของสำนักงาน ซึ่งรวมถึงการจัดโครงสร้างองค์กร จัดทำแผนอัตรากำลัง การสรรหาพนักงาน การประเมินผล และการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการ

(3) รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาพนักงาน รวมถึงการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหาร การฝึกอบรม การพัฒนาสายงานอาชีพ การพัฒนาพนักงานที่มีศักยภาพและการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่ง รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้

(4) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานรวมถึงการสื่อสารและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้เป็นองค์กรน่าทำงาน

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 21 ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีหน้าที่

(1) ติดตามและนำเสนอการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ถูกนำมาใช้ในงานด้านต่าง ๆ ของสำนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(2) บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารการจัดการเครือข่ายข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ

(3) วิเคราะห์ จัดหา และออกแบบระบบงานเพื่อการใช้งานภายใน

(4) บริหารจัดการระบบสารสนเทศกลาง

(5) ให้คำปรึกษาและความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 22 ฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ มีหน้าที่

(1) ศึกษา กำหนดท่าที นโยบาย และยุทธศาสตร์ของตลาดทุนไทย ให้สามารถ แข่งขันได้ในระดับสากล รวมถึงการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมและสินค้าใหม่ ๆ ในตลาดทุน และการมีพัฒนาการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

(2) กำหนดท่าที นโยบาย และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน

(3) ผลักดันและบริหารให้มีการดำเนินการตามท่าที นโยบาย และยุทธศาสตร์ที่กำหนดตาม (1) และ (2)

(4) สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศในเชิงรุก และส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาด

(5) ผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานตลาดทุนไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

(6) เป็นศูนย์กลางในการติดต่อและประสานงานกับต่างประเทศ

(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 23 ฝ่ายวิเคราะห์และตรวจสอบธุรกิจหลักทรัพย์ มีหน้าที่

(1) ติดตาม ตรวจสอบ และพิจารณาเรื่องร้องเรียน ที่เกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เช่น นายทะเบียนหลักทรัพย์ที่มิได้เป็นบริษัทในกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (TSFC) เป็นต้น

(2) พิจารณาเรื่องร้องเรียน และรวบรวมข้อมูลกรณีที่สงสัยว่าบริษัทผู้ประกอบธุรกิจผู้บริหาร และผู้จัดการกองทุนปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

(3) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 24 ฝ่ายวิจัยและบริหารความเสี่ยงตลาดทุน มีหน้าที่

(1) เป็นศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อตลาดทุนทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ รวมทั้งโครงสร้างตลาดทุนในเชิงจุลภาค (micro structure of market) และพิจารณาผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน

(2) เป็นศูนย์กลางในการจัดการ systemic risk และเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว

(3) ศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รองรับการบริหารจัดการในตลาดทุน

(4) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 25 ฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน มีหน้าที่

(1) ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการเงิน การลงทุน และตลาดทุนให้แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป

(2) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 26 ฝ่ายส่งเสริมความสัมพันธ์องค์กร มีหน้าที่

(1) เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในเชิงรุก ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรและภาคธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศ

(2) ดำเนินการด้านสื่อสารองค์กรผ่านสื่อและกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เว็บไซต์ กิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

(3) ดำเนินการสื่อสารภายในองค์กร

(4) พัฒนาและดำเนินการให้องค์กรทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility)

(5) ดำเนินการเกี่ยวกับห้องสมุดของสำนักงาน

(6) ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์ระดมทุน” ประสานงานเชิงรุกกับองค์กรและภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการระดมทุนตามแผนกลยุทธ์

(7) ปฏิบัติงานร่วมกับองค์กร สมาคม และภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจมีบทบาทในการพัฒนาตลาดทุนและการกำกับดูแลตนเองมากขึ้น เช่น โครงการ Institute of Independent Investment Advisor (IIA) เพื่อส่งเสริมให้มีจำนวนผู้วิเคราะห์ในตลาดทุนมากขึ้น และจัดให้มีตัวชี้วัดอุตสาหกรรม (industry indicator) ที่น่าเชื่อถือ โครงการ Central Suitability Bureau เพื่อให้มีส่วนงานกลาง ทำหน้าที่ประเมินความเหมาะสมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การลงทุน ฐานะการเงิน และระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ของลูกค้า เป็นต้น

(8) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 27 ศูนย์คดีปกครอง มีหน้าที่

(1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานทางปกครองของสำนักงาน

(2) พิจารณาการอุทธรณ์ในคดีปกครอง

(3) ปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์

(4) เป็นผู้แทนเพื่อแก้ต่างให้สำนักงาน กรรมการ ก.ล.ต. และพนักงานของสำนักงานในกรณีที่ถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 28 ศูนย์ส่งเสริมบรรษัทภิบาล มีหน้าที่

(1) กำหนดแนวทางการเสริมสร้างบรรษัทภิบาลที่ดี การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) สำหรับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการต่อต้านการทุจริตและคอรัปชั่น

(2) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 29 ที่ทำการของสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้น 10 และชั้น 13-16 อาคารจีพีเอฟ วิทยุ เลขที่ 93/1 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทรศัพท์ 0-2695—9999 และ 0—2263—6499 โทรสาร 0—2256-7711

การติดต่อสำนักงาน หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถกระทำผ่านสำนักงานได้ตามสถานที่ทำการข้างต้น หรือทาง email: info@sec.or.th

นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th

ประกาศ ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


แท็ก ข้อมูล   ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ