การให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลักสำหรับธุรกรรมในตลาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 6, 2012 15:02 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สช. 24 /2555

เรื่อง การให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและ

ผู้ประเมินหลักสำหรับธุรกรรมในตลาดทุน

โดยที่ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมในตลาดทุนเป็นข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของประชาชน การประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว จึงจำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และความรับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการ ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมในตลาดทุน จึงมีข้อกำหนดให้การประเมินมูลค่าทรัพย์สินข้างต้นต้องดำเนินการโดยบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดังกล่าว สำนักงานออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลัก เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“ทรัพย์สิน” หมายความว่า ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ สัญญาเช่า อสังหาริมทรัพย์ระยะยาว สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถประเมินหามูลค่าได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

“บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุน” หมายความว่า นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นทางค้าปกติ และประสงค์จะให้บริการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

“ผู้ประเมินหลัก” หมายความว่า บุคลากรของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินในรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

“ธุรกรรมในตลาดทุน” หมายความว่า การดำเนินการใด ๆ ที่ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดให้มีการจัดทำรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประกอบการดำเนินการดังกล่าว และให้หมายความรวมถึงการเปิดเผยข้อมูล การขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือการดำเนินการใด ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับตลาดทุนซึ่งจัดให้มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประกอบการดำเนินการดังกล่าวด้วย

“กฎหมายเกี่ยวกับตลาดทุน” หมายความว่า พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

“องค์กรวิชาชีพประเมิน” หมายความว่า สมาคมที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลสมาชิกที่ประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ตลอดจนมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยเฉพาะการประเมินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ

ข้อ 4 ในการขอความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและขอความเห็นชอบบุคลากรเป็นผู้ประเมินหลัก ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงานตามหมวด 1

ในกรณีที่มีองค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 แล้ว ให้การขอความเห็นชอบและการต่ออายุการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง เป็นไปตามการรับขึ้นทะเบียนที่องค์กรวิชาชีพประเมินตามหมวด 2 กำหนด

การพัก การเพิกถอน และการสิ้นสุดการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวด 1 หรือหมวด 2 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในหมวด 4

ข้อ 5 ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุน บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบตามมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และข้อกำหนดเพิ่มเติมในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ และในรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินต้องระบุวัตถุประสงค์ของการประเมินว่าเป็นการประเมินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งต้องมีการลงลายมือชื่อโดยบุคคลดังต่อไปนี้

(1) กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุน

(2) ผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวด 1 หรือหมวด 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุน โดยขณะที่ลงนามในรายงานนั้น ผู้ประเมินหลักดังกล่าวต้องไม่อยู่ระหว่างถูกสำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบหรือองค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 สั่งพักการขึ้นทะเบียน

หมวด 1

การขอความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ

ส่วนที่ 1

การยื่นคำขอความเห็นชอบ

ข้อ 6 บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินใดประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือขอความเห็นชอบบุคลากรเป็นผู้ประเมินหลัก ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้นยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงานพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน

ในกรณีเป็นการยื่นคำขอความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนครั้งแรก ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินยื่นคำขอความเห็นชอบบุคลากรอย่างน้อยสองคนเป็นผู้ประเมินหลักด้วย

ข้อ 7 ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ยื่นคำขอความเห็นชอบตามข้อ 6 ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอความเห็นชอบตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ พร้อมกับการยื่นคำขอดังกล่าว

ข้อ 8 ในการพิจารณาคำขอความเห็นชอบ สำนักงานอาจแจ้งให้ผู้ขอความเห็นชอบชี้แจง ดำเนินการ หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ในกรณีที่ผู้ขอความเห็นชอบไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง สำนักงานจะถือว่าบุคคลนั้นไม่ประสงค์จะยื่นคำขอความเห็นชอบอีกต่อไป

ข้อ 9 สำนักงานจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอความเห็นชอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์และระยะเวลาการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมิน

มูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลัก

ข้อ 10 ผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนตามหมวดนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

(2) มีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ชัดเจน รัดกุมและเพียงพอ รวมทั้งมีระบบงานที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะสามารถควบคุมให้การปฏิบัติงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ

(3) มีประสบการณ์ในการให้บริการด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(4) มีผู้จัดการและผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารที่รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(5) มีจำนวนผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรวมกันไม่น้อยกว่าห้าคน โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยสองคนต้องเป็นผู้ประเมินหลักซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามข้อ 11

(6) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินมีลักษณะต้องห้ามตามหมวด 3

(7) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการ ผู้จัดการ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารที่รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่ามีลักษณะต้องห้ามตามหมวด 3

(8) ไม่อยู่ระหว่างถูกสำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบ หรืออยู่ระหว่างระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดว่าจะไม่รับพิจารณาคำขอความเห็นชอบ

ข้อ 11 ผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ประเมินหลักตามหมวดนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ยื่นคำขอความเห็นชอบซึ่งปฏิบัติงานประจำให้บริษัทเต็มเวลา

(2) มีการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนยื่นคำขอความเห็นชอบ และยังคงปฏิบัติงานดังกล่าวอยู่ในขณะยื่นคำขอนี้

(3) มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในประเทศไทยอย่างน้อยตามระยะเวลาดังต่อไปนี้

(ก) กรณีสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี

(ข) กรณีสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาอื่น ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี

(ค) กรณีสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีแต่ไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญญาต้องมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปี

(ง) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดปี โดยมีบริษัทหรือหน่วยงานที่ตนปฏิบัติงานอยู่ให้การรับรอง

(4) แสดงได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ โดยต้องเคยเป็นผู้ประเมินที่ลงลายมือชื่อในรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้ความรู้ความสามารถเทียบเท่าการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ และใช้วิธีการประเมินครบทุกวิธีตามที่กำหนดในมาตรฐานในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินอย่างน้อยหนึ่งงานภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงาน

(5) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีลักษณะต้องห้ามตามหมวด 3

(6) ไม่อยู่ระหว่างถูกสำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบ หรืออยู่ระหว่างระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดว่าจะไม่รับพิจารณาคำขอความเห็นชอบ

(7) ผ่านการทดสอบหรืออบรมความรู้ความสามารถตามที่สำนักงานกำหนด (ถ้ามี)

ข้อ 12 ในกรณีที่สำนักงานปฏิเสธการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก แล้วแต่กรณี เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตามข้อ 10(7) หรือบุคลากรที่ขอความเห็นชอบเป็นผู้ประเมินหลักรายใดมีลักษณะต้องห้ามตามหมวด 3 สำนักงานอาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือบุคลากรที่ขอความเห็นชอบเป็นผู้ประเมินหลักรายนั้น แล้วแต่กรณี ในคราวต่อไป โดยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่สำนักงานปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ

ข้อ 13 การให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักตามหมวดนี้ มีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสองปีตามที่สำนักงานกำหนดไว้ในหนังสือให้ความเห็นชอบ

ข้อ 14 ในกรณีที่บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวดนี้รายใด ประสงค์จะต่ออายุการให้ความเห็นชอบเพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักได้อย่างต่อเนื่อง ให้การต่ออายุการให้ความเห็นชอบดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนยื่นคำขอต่ออายุการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือยื่นคำขอต่ออายุการให้ความเห็นชอบบุคลากรเป็นผู้ประเมินหลัก แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงาน

(2) ในกรณีที่บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนได้ยื่นคำขอต่ออายุการให้ความเห็นชอบล่วงหน้าอย่างน้อยหกสิบวันก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบ หากสำนักงานไม่แจ้งผลการพิจารณาคำขอความเห็นชอบภายในวันสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบ ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักรายนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าสำนักงานจะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

(3) บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักจะได้รับการต่ออายุการให้ความเห็นชอบต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีการต่ออายุของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 10

(ข) ในกรณีการต่ออายุของผู้ประเมินหลัก ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 11(1) (2) (5) (6) และ (7) โดยอนุโลม และบุคคลดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อในรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุนอย่างน้อยหนึ่งงานภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขอต่ออายุการให้ความเห็นชอบต่อสำนักงาน

ข้อ 15 ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันสุดท้ายของเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง

(1) เมื่อบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงผู้ประเมินหลักของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ประเมินหลักลาออกหรือมีผู้ประเมินหลักรายใหม่

(2) เมื่อบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่หรือหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุน

ข้อ 16 ในกรณีที่บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวดนี้รายใดไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่กำหนดในข้อ 10(5) ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนรายนั้นดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีลักษณะตามที่กำหนด ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงลักษณะนั้นได้

หมวด 2

กรณีได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์กรวิชาชีพประเมิน

ข้อ 17 ให้ถือว่าบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์กรวิชาชีพประเมินให้สามารถประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ เป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

องค์กรวิชาชีพประเมินตามวรรคหนึ่งต้องเป็นองค์กรที่สำนักงานเห็นว่ามีความเหมาะสมในการเป็นองค์กรกำกับดูแลและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 18

ข้อ 18 องค์กรวิชาชีพประเมินใดมีความประสงค์ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ ให้แจ้งความประสงค์ต่อสำนักงาน โดยสำนักงานจะพิจารณาความเหมาะสมในการเป็นองค์กรกำกับดูแลและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีนโยบายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการกำกับดูแลสมาชิกและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะให้มีความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานในระดับสากล

(2) กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานขององค์กรวิชาชีพประเมินเป็นผู้มีสัญชาติไทย

(3) มีคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงานเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพหรือกระบวนการในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องเป็นอิสระจากผู้ประกอบวิชาชีพประเมิน และกรรมการดังกล่าวต้องประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

(ก) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(ข) ผู้ใช้รายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(ค) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

(ง) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน

(4) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังต่อไปนี้ มีลักษณะต้องห้ามตามหมวด 3

(ก) กรรมการและบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานขององค์กรวิชาชีพประเมิน

(ข) บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในระดับบริหารซึ่งรับผิดชอบงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลสมาชิก หรือการพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(5) ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสมาชิกหรือการพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน องค์กรวิชาชีพประเมินต้องมีกลไกในการตรวจสอบบุคคลที่เป็นองค์คณะในคณะทำงานดังกล่าวให้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรวิชาชีพประเมินมีความน่าเชื่อถือ

(6) มีบุคลากรที่เป็นอิสระจากผู้ประกอบวิชาชีพประเมิน ซึ่งสามารถปฏิบัติงานประจำให้องค์กรวิชาชีพประเมินได้เต็มเวลา ในจำนวนที่เพียงพอที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(7) มีระบบงานที่ชัดเจน รัดกุม และเพียงพอที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะสามารถควบคุมดูแลให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพประเมิน ปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) การรับสมาชิกและการดำรงสถานะการเป็นสมาชิก ตลอดจนการรับขึ้นทะเบียนบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะที่ชัดเจนและเป็นธรรม โดยอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับขึ้นทะเบียนและลักษณะต้องห้ามของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินในทำนองเดียวกัน หรือเทียบเคียงได้กับหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบตามหมวด 1 และลักษณะต้องห้ามตามหมวด 3

(ข) การกำหนดหรือการรับมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ที่น่าเชื่อถือ และมีกลไกในการพัฒนามาตรฐานและจรรยาบรรณดังกล่าวให้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง

(ค) การกำกับดูแลและติดตามให้สมาชิกและผู้ปฏิบัติงานให้กับสมาชิกปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(ง) การรับข้อร้องเรียนและการจัดการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนอย่างเหมาะสม

(จ) การดำเนินการกับสมาชิกที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(ฉ) การจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง

(8) มีระบบการเก็บรักษาเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบงานตาม (7) รวมทั้งดูแลให้มีการเก็บรักษาเอกสารและหลักฐานดังกล่าว ให้ถูกต้องครบถ้วนและสามารถตรวจสอบได้

(9) มีข้อบังคับหรือมาตรการอื่นที่รองรับให้องค์กรวิชาชีพประเมินสามารถดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) แจ้งคำสั่งและส่งเอกสารหลักฐานการลงโทษทางวินัยแก่สมาชิกให้สำนักงานทราบโดยไม่ชักช้า

(ข) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือการกระทำผิดที่เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน หรือการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินของสมาชิก และการลงโทษสมาชิก รวมถึงข้อมูลอื่นใดที่ได้รับเนื่องจาก การเป็นองค์กรวิชาชีพประเมิน

(ค) แลกเปลี่ยนข้อมูลกับสำนักงานเกี่ยวกับสมาชิกและการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของสมาชิก การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินของสมาชิกและการลงโทษสมาชิก ได้โดยชอบ

(10) มีกลไกและมาตรการในการลงโทษสมาชิกอย่างเป็นธรรม โดยมีขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการที่ชัดเจน เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง และการลงโทษกระทำอย่างเหมาะสม ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของพฤติกรรมของผู้ถูกพิจารณา และดำเนินการ ภายในระยะเวลาอันสมควร

(11) จัดให้มีเว็บไซต์ขององค์กรวิชาชีพประเมินเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบันโดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) รายชื่อสมาชิกที่เป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดจนระยะเวลาการรับขึ้นทะเบียนบุคคลเหล่านั้น

(ข) มาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(ค) การดำเนินการกับสมาชิกที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(ง) ช่องทางในการรับข้อร้องเรียน

ข้อ 19 ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้องค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 แจ้งต่อสำนักงาน ภายในระยะเวลาที่กำหนด

(1) เมื่อองค์กรวิชาชีพประเมินมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบงานหรือข้อบังคับตามข้อ 18 ให้แจ้งต่อสำนักงานอย่างน้อยสิบสี่วันก่อนวันที่ระบบงานหรือข้อบังคับดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ

(2) เมื่อองค์กรวิชาชีพประเมินไม่สามารถดำรงลักษณะตามข้อ 18 ให้แจ้งต่อสำนักงานภายในระยะเวลาอันสมควร

(3) เมื่อองค์กรวิชาชีพประเมินมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ให้แจ้งคำสั่งและส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้า

(ก) สั่งลงโทษทางวินัยบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะซึ่งเป็นสมาชิกของตน เนื่องจากสมาชิกดังกล่าวฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ

(ข) สั่งพักหรือเพิกถอนการขึ้นทะเบียน หรือสั่งให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินพ้นจากการเป็นสมาชิกสำหรับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ

ข้อ 20 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลัก สำนักงานอาจแจ้งให้องค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมได้

ข้อ 21 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าองค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 รายใด ไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 18 สำนักงานอาจกำหนดระยะเวลาให้องค์กรวิชาชีพประเมินรายนั้นดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ และในระหว่างดำเนินการแก้ไขดังกล่าว สำนักงานอาจกำหนดให้องค์กรวิชาชีพประเมินรายนั้นแก้ไขการกระทำ หรือให้กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการได้ตามที่เห็นสมควร และอาจกำหนดระยะเวลาให้องค์กรวิชาชีพประเมินดังกล่าวต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ในกรณีที่องค์กรวิชาชีพประเมินไม่สามารถแก้ไขให้มีลักษณะถูกต้อง หรือไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งหรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมตามข้อ 20 ให้ถือว่าองค์กรวิชาชีพประเมินนั้นไม่ประสงค์ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะต่อไป และสำนักงานจะยกเลิกการพิจารณาการเป็นองค์กรกำกับดูแลและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามข้อ 17 วรรคสอง

ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักที่ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเนื่องจากได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์กรวิชาชีพประเมินที่สำนักงานยกเลิกการพิจารณาตามวรรคสอง ยังคงสามารถปฏิบัติงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุนต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์กรวิชาชีพประเมินนั้น เว้นแต่เข้ากรณีที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลงตามที่กำหนดในข้อ 30 หรือสำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่เหลืออยู่ หรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก แล้วแต่กรณี

ข้อ 22 ในกรณีที่องค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 วรรคสองรายใด ไม่ประสงค์จะทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะอีกต่อไป ให้องค์กรวิชาชีพประเมินดังกล่าวแจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักที่ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเนื่องจากได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์กรวิชาชีพประเมินดังกล่าว ยังคงสามารถปฏิบัติงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุนต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์กรวิชาชีพประเมินนั้น เว้นแต่เข้ากรณีที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลงตามที่กำหนดในข้อ 30 หรือสำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่เหลืออยู่ หรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก แล้วแต่กรณี

หมวด 3

ลักษณะต้องห้าม

ข้อ 23 ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามประกาศนี้ ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดทุน หรือมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามที่กำหนดไว้ในข้อ 24

(2) ลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีที่มีประวัติการถูกดำเนินการหรือ ถูกลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 25

(3) ลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกรณีที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อลูกค้า ผู้ลงทุน หรือตลาดทุนโดยรวม ในเรื่องที่มีนัยสำคัญซึ่งอาจมีผลต่อความน่าเชื่อถือในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 26

ข้อ 24 ให้กรณีดังต่อไปนี้ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(1) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือ

(2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือ

(3) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากถูกสำนักงานกล่าวโทษในความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับตลาดทุนดังต่อไปนี้

(ก) ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ข) ความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยทุจริตหรือการทำให้เสียหายต่อทรัพย์สิน ต่อเจ้าหนี้ หรือต่อประชาชน

(ค) ความผิดเกี่ยวกับการจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญอันควรแจ้งในเอกสารใด ๆ ที่ต้องเปิดเผยต่อประชาชนหรือยื่นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน

(4) เคยต้องคำพิพากษาในลักษณะดังต่อไปนี้ เนื่องจากการกล่าวโทษของสำนักงาน เว้นแต่จะพ้นการลงโทษหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันที่ยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงาน

(ก) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตาม (3) ในกรณีเป็นนิติบุคคล

(ข) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเนื่องจากการกระทำความผิดตาม (3) ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา

ข้อ 25 ให้กรณีดังต่อไปนี้ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2

(1) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวกล่าวโทษ ทั้งนี้ เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน และทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อสถาบันการเงินที่ตนสังกัดหรือต่อลูกค้า

(2) เคยต้องคำพิพากษาในลักษณะดังต่อไปนี้ เนื่องจากการกล่าวโทษของหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินตาม (1) เว้นแต่จะพ้นการลงโทษหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันที่ยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงาน

(ก) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน และทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อสถาบันการเงินหรือต่อลูกค้า ในกรณีเป็นนิติบุคคล

(ข) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเนื่องจากการกระทำความผิดในมูลเหตุตาม (ก) และทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อสถาบันการเงินที่ตนสังกัดหรือต่อลูกค้า ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา

(3) เคยต้องคำพิพากษาในลักษณะดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพ้นการลงโทษหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันที่ยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงาน

(ก) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน ในกรณีเป็นนิติบุคคล

(ข) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเนื่องจากการกระทำความผิดตาม (ก) ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา

(4) เป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกันและยังไม่พ้นสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

(5) เป็นผู้ที่หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ พิจารณาว่ามีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน

ข้อ 26 ให้กรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอต่อสำนักงานที่ทำให้พิจารณาได้ว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

(1) มีหรือเคยมีพฤติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือการให้บริการประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุน หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

(2) มีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

(3) มีหรือเคยมีพฤติกรรมในการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลหรือเอกสารอันเป็นเท็จที่อาจทำให้สำคัญผิด หรือโดยปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลหรือเอกสารที่ยื่นหรือจัดส่งต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือผู้ลงทุน หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

(4) มีหรือเคยมีพฤติกรรมในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในด้านอื่น ๆ ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาว่าการประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในด้านนั้น และพฤติกรรมดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อธุรกรรมในตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อ 27 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 มาแล้วเกินกว่าสิบปี หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวมิได้มีลักษณะร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่สมควรได้รับความไว้วางใจหรือความน่าเชื่อถือให้เป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือปฏิบัติงานเป็นผู้ประเมินหลัก แล้วแต่กรณี สำนักงานอาจไม่ยกข้อเท็จจริงในกรณีนั้นมาเป็นเหตุในการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้ามของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก

ข้อ 28 ในการพิจารณาความร้ายแรงตามข้อ 27 สำนักงานจะคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือการกระทำของบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุน หรือผู้ประเมินหลัก เป็นรายกรณี ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำนักงานนำมาใช้ประกอบการพิจารณาจะรวมถึง

(1) บทบาทความเกี่ยวข้องและนัยสำคัญของพฤติกรรม เช่น จำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง ปริมาณธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้รับประโยชน์จากผลของพฤติกรรม เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ระดับความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น

(2) การลงโทษอื่นที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว

(3) ความรุนแรงของผลกระทบหรือความเสียหายต่อธุรกรรมในตลาดทุน หรือต่อประชาชนโดยรวม

(4) การแก้ไขหรือดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ เพื่อแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมทำนองเดียวกันซ้ำอีก

(5) พฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน เช่น การให้ข้อเท็จจริงหรือหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหรือการดำเนินการ การปิดบังอำพรางหรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นต้น

(6) ความซับซ้อนของลักษณะการกระทำหรือเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำ เช่น การใช้ชื่อบุคคลอื่น หรือการตั้งบริษัทอำพราง เป็นต้น

(7) ประวัติพฤติกรรมในช่วงสิบปีก่อนที่สำนักงานจะพิจารณาการมีลักษณะต้องห้ามในแต่ละกรณี เช่น เป็นพฤติกรรมครั้งแรก หรือเป็นพฤติกรรมที่เกิดซ้ำหรือต่อเนื่อง เป็นต้น

ข้อ 29 เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจสั่งการของสำนักงานมีความชัดเจนและผ่านกระบวนการทบทวนตามสมควร ในการสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักเนื่องจากการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 สำนักงานจะดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

(2) ในกรณีเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ สำนักงานอาจเสนอข้อเท็จจริง ข้อกล่าวหา และข้อโต้แย้ง รวมทั้งคำชี้แจงของผู้ถูกพิจารณา (ถ้ามี) ให้คณะที่ปรึกษาเพื่อให้ความเห็นหรือข้อแนะนำสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาของสำนักงาน

หมวด 4

การสิ้นสุดการให้ความเห็นชอบและบทบังคับอื่น

ข้อ 30 การให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักจะสิ้นสุดลงเมื่อ

(1) บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักได้แจ้งต่อสำนักงานหรือองค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 เป็นหนังสือถึงความประสงค์ที่จะยุติการปฏิบัติงานเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก แล้วแต่กรณี

(2) บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบตามหมวด 1 หรือหมวด 2 มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 หรือมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ในข้อ 25(2) (3) (4) หรือ (5) หรือได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากสำนักงานว่ามีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ในข้อ 25(1)

(3) องค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 สั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหรือสั่งให้พ้นจากการเป็นสมาชิกสำหรับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ แล้วแต่กรณี

(4) สิ้นสุดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบ

ข้อ 31 สำนักงานอาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก ตามสมควรแก่กรณี เมื่อมีเหตุดังต่อไปนี้

(1) บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 10(1) (2) (4) หรือ (7) หรือไม่สามารถแก้ไขให้ตนเองดำรงลักษณะตามข้อ 10(5) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 16

(2) ผู้ประเมินหลักไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 11(7)

(3) บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

ในกรณีที่เกิดเหตุตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด และสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนการสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบก็ได้

ข้อ 32 ในกรณีที่สำนักงานกำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบอันเป็นผลให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลักไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่เหลืออยู่ หรือในกรณีที่สำนักงานสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ สำนักงานอาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของบุคคลรายนั้นในครั้งต่อไปไว้ด้วยก็ได้ โดยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ

ข้อ 33 ในกรณีที่บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพประเมินตามข้อ 17 รายใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ และองค์กรวิชาชีพประเมินนั้นได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยสมาชิกที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณดังกล่าวแล้ว สำนักงานจะไม่ดำเนินการกับสมาชิกขององค์กรวิชาชีพประเมินนั้นอีกก็ได้ หากเห็นว่าสมาชิกดังกล่าวได้รับโทษอย่างเหมาะสมแล้ว

ข้อ 34 การสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือผู้ประเมินหลัก ไม่มีผลกระทบต่อรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนได้จัดทำหรือผู้ประเมินหลักได้ลงลายมือชื่อในรายงานดังกล่าวแล้วและเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ต้องยื่นรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินต่อสำนักงานเพื่อประกอบการทำธุรกรรมในตลาดทุน รายงานการประเมินนั้นได้ยื่นต่อสำนักงานก่อนวันที่สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เว้นแต่

(ก) มีเหตุอันควรสงสัยว่ารายงานดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน หรือรายงานดังกล่าวเป็นเหตุหรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ และ

(ข) สำนักงานยังไม่มีการออกคำสั่งให้ทำธุรกรรมในตลาดทุนที่ใช้รายงานการประเมินนั้นได้

(2) ในกรณีอื่นนอกจาก (1) รายงานการประเมินนั้นได้ถูกนำไปใช้ในธุรกรรมในตลาดทุนก่อนวันที่สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ

หมวด 5

บทเฉพาะกาล

ข้อ 35 ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลัก เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 อยู่แล้วในวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศนี้ ตามระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่เหลืออยู่หรือจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556 แล้วแต่วันใดจะถึงภายหลัง

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลักที่เคยถูกสมาคมตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลัก เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พิจารณาว่ามีพฤติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่ หรือมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ในช่วงระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือผู้ประเมินหลักตามวรรคสองยื่นคำขอความเห็นชอบเป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนหรือความเห็นชอบเป็นผู้ประเมินหลักต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 1 การยื่นคำขอความเห็นชอบ ของหมวด 1 การขอความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือผู้ประเมินหลักดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าสำนักงานจะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบตามข้อ 10 และข้อ 11 และการกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบตามข้อ 12 มาใช้บังคับกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวด้วย

ให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามหมวด 3 รวมทั้งเหตุในการพัก เพิกถอน หรือสิ้นสุดการให้ความเห็นชอบ ตลอดจนอำนาจสั่งการของสำนักงานตามหมวด 4 มาใช้บังคับกับบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 36 ให้บรรดาคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลัก เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 37 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลัก เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ