หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการตั้งตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday October 19, 2001 11:52 —ประกาศ ก.ล.ต.

                      ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ. 39/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการตั้งตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์
_____________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 24/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการตั้งตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2539
ข้อ 2 ในประกาศนี้
"หลักทรัพย์" หมายความว่า หลักทรัพย์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน
"บริษัทหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 บริษัทหลักทรัพย์จะตั้งตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ได้เฉพาะกรณีต่อไปนี้
(1) เป็นการตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 4 หรือ
(2) เป็นการตั้งสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลในต่างประเทศเป็นตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ในต่างประเทศ โดยบุคคลดังกล่าวต้องสามารถประกอบธุรกิจการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น และจะจำหน่ายหลักทรัพย์ในประเทศมิได้ ไม่ว่าจะกระทำโดยตรงหรือผ่านสำนักงานผู้แทน
การตั้งตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นการตั้งตัวแทนเฉพาะคราวโดยกำหนดห้ามมิให้ตัวแทนดังกล่าวตั้งตัวแทนช่วง และบริษัทหลักทรัพย์ที่ตั้งตัวแทนนั้นต้องจัดให้มีสัญญาตั้งตัวแทนแยกต่างหากจากสัญญาอื่น โดยต้องมีข้อสัญญาที่กำหนดให้ตัวแทนดังกล่าวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และประกาศนี้ และบริษัทหลักทรัพย์ต้องดูแลให้ตัวแทนนั้นปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าวด้วย
ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์จะตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศได้ตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(1) บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศต้องเป็นบุคคลที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศกับสำนักงาน
(2) เป็นการจัดจำหน่ายหุ้นที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) การจัดจำหน่ายหุ้นของนิติบุคคลที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือ
(ข) การจัดจำหน่ายหุ้นของนิติบุคคลที่มีจำนวนหุ้นที่เสนอขายตั้งแต่ 100 ล้านหุ้นหรือมีมูลค่าการเสนอขายตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป
(3) เป็นการตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศเพื่อทำหน้าที่เฉพาะกิจการดังนี้
(ก) แจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือเอกสารการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นที่จำหน่าย
(ข) แจกจ่ายหรือรับใบจองซื้อหุ้น
(ค) รับชำระเงินค่าจองซื้อหุ้น
(ง) ยืนยันการจองซื้อหุ้น
(จ) ส่งมอบหุ้นให้ผู้จองซื้อที่ได้รับการจัดสรรหุ้น
(ฉ) คืนเงินค่าจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรรหุ้น
ข้อ 5 ในการตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่บริษัทหลักทรัพย์ถูกห้ามมิให้จัดสรรหุ้นให้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ให้ตัวแทนจำหน่ายหุ้นทราบด้วย
ข้อ 6 บุคคลที่จะขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศกับสำนักงานต้องเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
(1) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต
(2) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น
(3) เคยต้องคำพิพากษาหรือถูกเปรียบเทียบปรับเนื่องจากกระทำความผิดตาม (1) หรือ (2)
ข้อ 7 เมื่อสำนักงานพิจารณาหนังสือแจ้งขอขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศของบุคคลใดแล้วเห็นว่าเป็นไปตามเกณฑ์ในข้อ 6 ให้สำนักงานดำเนินการขึ้นทะเบียนบุคคลดังกล่าวเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้น
ในการพิจารณาลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6(3) ให้สำนักงานพิจารณาประวัติการต้องคำพิพากษาหรือถูกเปรียบเทียบปรับของบุคคลที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นเฉพาะในช่วงระยะเวลาสองปีย้อนหลังนับแต่วันที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนเท่านั้น และถ้าพฤติกรรมอันเป็นเหตุที่ต้องคำพิพากษาหรือถูกเปรียบเทียบปรับของบุคคลนั้นไม่ร้ายแรง และไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าการให้บุคคลนั้นเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนหรือจะทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจหลักทรัพย์ ให้สำนักงานสามารถรับขึ้นทะเบียนบุคคลดังกล่าวเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นโดยจะกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติด้วยก็ได้
ข้อ 8 ตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดดังนี้
(1) ต้องปฏิบัติงานเฉพาะกิจการที่กำหนดในข้อ 4(3)
(2) ต้องนำเงินค่าจองซื้อหุ้นเข้าบัญชีเพื่อการจองซื้อหุ้นของนิติบุคคลที่ออกหุ้น หรือแยกบัญชีเพื่อการจองซื้อหุ้นออกจากบัญชีทรัพย์สินของตน
(3) ต้องไม่ยืนยันการจองซื้อหุ้นแก่บุคคลที่บริษัทหลักทรัพย์ถูกห้ามมิให้จัดสรรหุ้นให้ตามรายชื่อที่บริษัทหลักทรัพย์แจ้งให้ทราบในข้อ 5
(4) ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันมีผลทำให้การจัดจำหน่ายหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ไม่เป็นไปตามวิธีการที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน
(5) มีระบบควบคุมการปฏิบัติงานที่เหมาะสมในการป้องกันมิให้ผู้บริหารหรือพนักงานอาศัยช่องทางหรือโอกาสจากการปฏิบัติงานเบียดบังหรือแสวงหาประโยชน์ใด ๆ โดยมิชอบ ไม่ว่าเพื่อตนเอง เพื่อตัวแทนจำหน่ายหุ้น หรือเพื่อบุคคลอื่น
ข้อ 9 ตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศรายใดมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อ 8 ให้สำนักงานพิจารณาสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กำชับ
(2) ภาคทัณฑ์
(3) สั่งพักการปฏิบัติงานในการกำหนดระยะเวลาสั่งพักการปฏิบัติงานในกรณีตัวแทนจำหน่ายหุ้นมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6(3) หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อ 8 ให้สำนักงานคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประโยชน์ของประชาชนหรือทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจหลักทรัพย์ โดยระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พ้นโทษตามคำพิพากษาหรือถูกเปรียบเทียบปรับ หรือนับแต่วันที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด แล้วแต่กรณี สำหรับกรณีมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6(1) หรือข้อ 6(2) ให้สำนักงานสั่งพักการปฏิบัติงานจนกว่าการดำเนินคดีกับตัวแทนจำหน่ายหุ้นรายนั้นจะถึงที่สุด
ข้อ 10 ในกรณีที่ได้มีการตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศรายใดก่อนวันที่สำนักงานมีคำสั่งพักการปฏิบัติงานตัวแทนจำหน่ายหุ้นรายนั้น หากการปฏิบัติงานของตัวแทนจำหน่ายหุ้นรายนั้นยังไม่แล้วเสร็จและตัวแทนจำหน่ายหุ้นประสงค์จะปฏิบัติงานต่อไป ให้ตัวแทนจำหน่ายหุ้นรายนั้นขออนุญาตต่อสำนักงานเพื่อขอปฏิบัติงานต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ในการพิจารณาอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมที่เป็นเหตุให้สั่งพักการปฏิบัติงานตัวแทนจำหน่ายหุ้นรายนั้นและผลกระทบต่อการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ประกอบการพิจารณาด้วย
ข้อ 11 บริษัทหลักทรัพย์ใดได้ยื่นคำขออนุญาตตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศต่อสำนักงานและสำนักงานยังมิได้แจ้งผลการพิจารณาให้ทราบก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้สำนักงานพิจารณาคำขออนุญาตดังกล่าวตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ยกเลิกตามข้อ 1 ต่อไป ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหุ้นที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวจนกว่าการจัดจำหน่ายหุ้นนั้นจะแล้วเสร็จ
ข้อ 12 บริษัทหลักทรัพย์ใดได้รับอนุญาตให้ตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศจากสำนักงานก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้บริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหุ้นที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ยกเลิกตามข้อ 1 ต่อไปจนกว่าการจัดจำหน่ายหุ้นนั้นจะแล้วเสร็จ
ข้อ 13 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ