แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday December 24, 2001 09:55 —ประกาศ ก.ล.ต.

              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ นจ. 2/2544
เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
_____________________________
ที่มา
1. ข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ประเภทใบสำคัญแสดงสิทธิและหุ้นหรือหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิและการอนุญาต ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2535 กำหนดให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (warrant) ต้องปรับอัตราและราคาการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นดังกล่าว หากบริษัทได้ดำเนินการที่มีผลให้ผลประโยชน์ที่ผู้ถือ warrant จะได้รับด้อยไปกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น (split หุ้น) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นต้น
2. ที่ผ่านมาบริษัทส่วนมากกำหนดอัตราการใช้สิทธิตาม warrant ไว้ 1 warrant ต่อ 1 หุ้นในขณะที่ออก warrant เพื่อความสะดวกในการคำนวณราคาซื้อขาย แต่เมื่อมีเหตุการณ์ตามที่กำหนดในข้อ 1 เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับอัตราการใช้สิทธิทำให้ warrant หลายรายการมีอัตราการใช้สิทธิเปลี่ยนไปเช่น เป็น 1 warrant ต่อ 10 หุ้น ในกรณีมีการแตกหุ้น หรือบางรายการมีอัตราการใช้สิทธิที่เป็นจุดทศนิยม เช่น 1 warrant ต่อ 1.xxx หุ้น เป็นต้น ทำให้ไม่สะดวกในการคำนวณราคาซื้อขาย ดังนั้น จึงมีประเด็นพิจารณาว่าบริษัทจะสามารถปรับสิทธิ warrant โดยวิธีการออก warrant ใหม่เพื่อให้ผู้ถือมีจำนวนหน่วย warrant เพิ่มขึ้นตามอัตราการใช้สิทธิที่เปลี่ยนไป แต่ให้ warrant แต่ละหน่วยยังมีอัตราการใช้สิทธิ 1:1 เช่นเดิม แทนที่จะให้ผู้ถือยังคงมีจำนวนหน่วย warrant เท่าเดิม แต่มีอัตราใช้สิทธิเพิ่มขึ้น ได้หรือไม่ (เช่น แทนที่จะปรับอัตราใช้สิทธิ warrant จาก 1:1 เป็น 1:1.2 หุ้นตามประกาศข้างต้น บริษัทจะออก warrant ให้ผู้ถือ 1.2 หน่วย โดยแต่ละหน่วยมีอัตราการใช้สิทธิ 1:1) เนื่องจากทั้ง 2 วิธี จะยังทำให้ผู้ถือมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นรองรับจำนวนเท่ากัน และการเพิ่มจำนวน warrant ดังกล่าวถือเป็นการเสนอขาย warrant ใหม่หรือไม่
แนวทางการกำกับดูแลของสำนักงาน
สำนักงานเห็นว่าบริษัทสามารถเลือกใช้วิธีการปรับจำนวนหน่วย warrant แทนการปรับอัตราการใช้สิทธิได้ โดยสำนักงานจะไม่ถือว่าการออก warrant เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการออกและเสนอขาย warrant ใหม่ บริษัทจึงไม่ต้องขออนุญาตและยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานก่อนดำเนินการแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงานจะถือว่าบริษัทได้ปรับอัตราการใช้สิทธิของ warrant ตามประกาศข้างต้นแล้ว และบริษัทแตก (split) warrant นั้นในภายหลัง ซึ่งการ split warrant นี้ไม่ถือว่าเป็นการออกหลักทรัพย์ใหม่ เช่นเดียวกับที่การแตกมูลค่าหุ้น (split) ไม่ถือเป็นการออกหุ้นใหม่ โดยบริษัทสามารถจะ split warrant พร้อมกับการปรับอัตราการใช้สิทธิ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กำหนด หรือจะ split warrant ที่ได้เคยปรับอัตราใช้สิทธิไปแล้วก็ได้
สำนักงานจึงขอประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2544
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ