การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (ฉบับที่ 3)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday February 4, 2000 20:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 4/2543
เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (ฉบับที่ 3)
______________________________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 ข้อ 1(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง หลักเกณฑ์และกำหนดเวลาในการยื่นรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และข้อ 3 วรรคสอง แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 37/2540 เรื่อง การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2540 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกส่วนที่ 1 หน้า 1 และส่วนที่ 2 ถึงส่วนที่ 4 ของแบบ บ.ล. 4/1 ที่แนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 50/2540 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 40/2541 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2541 และให้ใช้แบบที่แนบท้ายประกาศนี้แทน
ข้อ 2 ให้ยกเลิกหน้า 3 ถึงหน้า 6 หน้า 8 ถึงหน้า 10 หน้า 14 และหน้า 16 ถึงหน้า 29 ของคำอธิบายประกอบการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามแบบ บ.ล. 4/1 ที่แนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 50/2540 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 40/2541 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2541 และให้ใช้คำอธิบายที่แนบท้ายประกาศนี้แทน
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป เว้นแต่บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ใดเข้ามีภาระผูกพันในลักษณะใดดังต่อไปนี้ภายหลังจากวันที่ประกาศนี้ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา แต่ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ให้ประกาศนี้มีผลใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้นตั้งแต่วันที่บริษัทเข้ามีภาระผูกพันดังกล่าวเป็นต้นไป
(1) ภาระผูกพันในฐานะเป็นผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative warrants)หรือออปชัน (Options) ไม่ว่าออปชันนั้นจะเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ หรือ
(2) ภาระผูกพันในฐานะเป็นคู่สัญญาตามอนุพันธ์ประเภทฟิวเจอร์ (Futures) ฟอร์เวิร์ด (Forwards) สวอป (Swaps) หรือสัญญาอื่นในทำนองเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์อื่นใดที่มิใช่เพื่อการป้องกันความเสี่ยงตามที่สำนักงานยอมรับ
ประกาศ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ