หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday October 19, 2001 11:47 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                 ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ. 38/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
_______________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 44/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 8/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 5 เมษายนพ.ศ. 2542
ข้อ 2 ในประกาศนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(1) คำว่า "บริษัทใหญ่" "บริษัทย่อย" "ผู้ถือหุ้นรายใหญ่" "ผู้มีอำนาจควบคุม" และ "ผู้ที่เกี่ยวข้อง" ให้อนุโลมตามบทนิยามของคำดังกล่าวในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์
(2) "หลักทรัพย์" หมายความว่า หุ้น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(3) "ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย" หมายความว่าใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยโดยบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(4) "หลักทรัพย์อ้างอิง" หมายความว่า หลักทรัพย์อ้างอิงของใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย
(5) "ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
(6) "ผู้บริหาร" หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปที่รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์หรือสายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าว
(7) "ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน" หมายความว่า ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีหน้าที่จัดหาหุ้นส่วนเกินเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ได้รับการจัดสรรหรือส่งคืนให้แก่ผู้ให้ยืมตามข้อผูกพันในการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน
(8) "จัดสรรหุ้นส่วนเกิน" หมายความว่า การจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดจำหน่าย โดยการจัดสรรหุ้นเกินจำนวนดังกล่าวได้กระทำไปพร้อมกับการเสนอขายหุ้นที่จัดจำหน่าย
(9) "หุ้นส่วนเกิน" หมายความว่า หุ้นที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จัดสรรให้แก่ผู้จองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดจำหน่าย
(10) "บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ
(11) "บริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง" หมายความว่า
(ก) บริษัทหลักทรัพย์ที่ถือหุ้นในผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์นั้น
(ข) บริษัทหลักทรัพย์ที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทหลักทรัพย์นั้น
(ค) บริษัทหลักทรัพย์ที่มีผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นทั้งในบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าว และในผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทหลักทรัพย์และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์
(12) "หนังสือชี้ชวน" หมายความว่า หนังสือชี้ชวนที่มีข้อความตรงกับร่างหนังสือชี้ชวนที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน
(13) "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่รับจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ให้แก่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน
ข้อ 4 ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ต้องดำเนินการจัดสรรหลักทรัพย์ตามวิธีการที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน
ข้อ 5 ห้ามมิให้ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จัดสรรหลักทรัพย์ให้แก่ตนเอง ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย ของตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้องของบุคคลดังกล่าว หรือจัดสรรให้แก่บุคคลที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ถูกห้ามมิให้จัดสรรหลักทรัพย์ให้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ เว้นแต่เป็นการจัดสรรหลักทรัพย์ที่เหลือจากการจองซื้อของผู้จองซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด
ข้อ 6 ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้มีหนังสือชี้ชวนสำหรับผู้จองซื้อหลักทรัพย์อย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาการจองซื้อหลักทรัพย์ โดยหนังสือชี้ชวนหนึ่งเล่มต้องจัดให้มีใบจองซื้อหลักทรัพย์ไม่เกินห้าใบ ในการนี้ ต้องจัดให้มีหนังสือชี้ชวนไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ทำการแห่งใหญ่ของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และสถานที่ที่ใช้ในการรับใบจองซื้อหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้จองซื้อหลักทรัพย์หรือผู้ที่สนใจสามารถตรวจดูได้ตลอดเวลาทำการ
ใบจองซื้อหลักทรัพย์อย่างน้อยต้องมีรายการเกี่ยวกับผู้จองซื้อหลักทรัพย์ในเรื่องชื่อที่อยู่ เลขที่ประจำตัวตามบัตรประชาชนหรือตามทะเบียนบ้าน เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ถ้ามี) และจำนวนหลักทรัพย์ที่จองซื้อ และต้องมีข้อความโดยชัดเจนเตือนให้ผู้จองซื้อหลักทรัพย์ทราบว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ย่อมมีความเสี่ยง และก่อนตัดสินใจจองซื้อหลักทรัพย์ ผู้จองซื้อหลักทรัพย์ควรจะได้อ่านหนังสือชี้ชวนอย่างรอบคอบแล้ว
ข้อ 7 ห้ามมิให้ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เปิดเผยข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ไม่ปรากฏในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจจองซื้อหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์จากสำนักงาน หรือตั้งแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ไม่ต้องขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์จากสำนักงาน จนถึงวันปิดการเสนอขาย
ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อตกลงกับผู้เสนอขายหลักทรัพย์เพื่อให้มีการปฏิบัติตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 8 ห้ามมิให้ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เผยแพร่บทความหรืองานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยตนเองหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ตนเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือหลักทรัพย์อื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่ตนเป็นผู้จัดจำหน่ายในลักษณะที่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับหลักทรัพย์นั้นอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาของหลักทรัพย์ที่ตนเป็นผู้จัดจำหน่าย ตั้งแต่สิบห้าวันก่อนวันกำหนดราคาเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวจนถึงวันปิดการเสนอขาย ในกรณีทั่วไป หรือจนถึงวันที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินได้ครบตามจำนวนที่มีหน้าที่ส่งมอบหรือส่งคืน ในกรณีหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายเป็นหุ้นและมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับบทความหรืองานวิจัยที่มีลักษณะครบถ้วนตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ และไม่เป็นบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหุ้นที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (initial public offering) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำหุ้นนั้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเกี่ยวกับใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่มีหุ้นดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง
(1) เป็นบทความหรืองานวิจัยที่แสดงอยู่ในเอกสารที่จัดทำและเผยแพร่ต่อสาธารณชนอยู่เป็นประจำในธุรกิจปกติ
(2) เนื้อหาของบทความหรืองานวิจัยเป็นการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมข้อมูลที่เคยเผยแพร่มาก่อนหน้านั้น
(3) เนื้อหาของบทความหรืองานวิจัยต้องไม่เน้นหรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายหรือหลักทรัพย์อื่นที่มีความเกี่ยวข้อง โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับบทความหรืองานวิจัยในหลักทรัพย์อื่นทั่วไปที่เคยจัดทำและเผยแพร่มาก่อน และ
(4) ในบทความหรืองานวิจัยมีข้อความที่แสดงให้ผู้อ่านข้อมูลทราบอย่างชัดเจนถึงส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้จัดทำบทความหรืองานวิจัยดังกล่าวในหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายนั้น
ข้อ 9 ในระหว่างระยะเวลาต่อไปนี้ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะเผยแพร่บทความหรือ งานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยตนเองหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับ หลักทรัพย์ที่ตนเคยเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือหลักทรัพย์อื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่ตนเคยเป็นผู้จัดจำหน่ายในลักษณะที่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับหลักทรัพย์นั้นอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาของหลักทรัพย์ที่ตนเคยเป็นผู้จัดจำหน่าย ได้ต่อเมื่อมีการแสดงข้อความอย่างชัดเจนในบทความหรืองานวิจัยนั้นเพื่อให้ผู้อ่านข้อมูลทราบถึงส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้จัดทำบทความหรืองานวิจัยดังกล่าวในหลักทรัพย์ที่มีการจัดจำหน่ายนั้น และผู้ลงทุนสามารถติดตามผลการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์นั้นได้จากรายงานผลการขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนตามมาตรา 81 ซึ่งผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้ยื่นต่อสำนักงาน
(1) สามสิบวันนับแต่วันปิดการเสนอขาย ในกรณีที่หลักทรัพย์นั้นไม่ได้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
(2) ตั้งแต่วันพ้นจากวันปิดการเสนอขาย จนครบสามสิบวันหลังจากวันแรกที่หลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายนั้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกรณีที่หลักทรัพย์นั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
(3) สามสิบวันนับแต่วันที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินได้ครบตามจำนวนที่มีหน้าที่ส่งมอบหรือส่งคืน ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายเป็นหุ้นและมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน
ข้อ 10 ในการดำเนินการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติดังนี้ (1) ต้องนำเงินค่าจองซื้อหลักทรัพย์เข้าบัญชีเพื่อการจองซื้อหลักทรัพย์ของผู้เสนอขายหลักทรัพย์ หรือแยกบัญชีรับเงินค่าจองซื้อหลักทรัพย์ออกจากบัญชีทรัพย์สินของตนโดยต้องไม่นำเงิน ที่แยกไว้ในบัญชีดังกล่าวไปใช้ในกิจการใด ๆ
(2) ต้องจัดให้มีข้อตกลงกับผู้เสนอขายหลักทรัพย์ในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การคืนเงินค่าจองซื้อหลักทรัพย์ให้แก่ผู้จองซื้อหลักทรัพย์ที่ไม่ได้รับการจัดสรรภายในสิบสี่วันนับแต่วันปิดการเสนอขาย หากไม่สามารถคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อหลักทรัพย์ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องมีข้อกำหนดให้ผู้จองซื้อหลักทรัพย์ที่ไม่ได้รับการจัดสรรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลานั้น(ข) การห้ามมิให้มีการนำเงินที่ได้รับเป็นค่าจองซื้อหลักทรัพย์ในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่คาดว่าจะได้รับจากการเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งหมดไปใช้ในกิจการใด ๆ ก่อนที่จะดำเนินการเพื่อคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อหลักทรัพย์ที่ไม่ได้รับการจัดสรรแล้วเสร็จ
(3) ต้องรายงานผลการจัดสรรหลักทรัพย์ต่อสำนักงานร่วมกับผู้เสนอขายหลักทรัพย์ พร้อมกับรายงานผลการขายตามมาตรา 81
(4) ต้องไม่เสนอขายหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งร่วมกับหลักทรัพย์อื่น เว้นแต่จะได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวน
ข้อ 11 ในกรณีหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายเป็นหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่อาจแปลงสภาพแห่งสิทธิเป็นหุ้น ห้ามมิให้ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ซื้อหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้นหรือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่มีหุ้นดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ตั้งแต่ห้าวันทำการก่อนวันกำหนดราคาเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวจนถึงวันปิดการเสนอขาย ในกรณีทั่วไป หรือจนถึงวันที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินได้ครบตามจำนวนที่มีหน้าที่ส่งมอบหรือส่งคืน ในกรณีหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายเป็นหุ้นและมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน เว้นแต่เป็นการซื้อในกรณีต่อไปนี้
(1) การซื้อจากผู้เสนอขายหลักทรัพย์ตามสัญญาการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
(2) การซื้อเพื่อบัญชีหลักทรัพย์ของตนเอง ซึ่งเป็นผลจากความผิดพลาดในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า
(3) การซื้อเพื่อบัญชีหลักทรัพย์ของตนเอง โดยปฏิบัติตามความในข้อ 3(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2541 เรื่อง การจัดสรรหุ้นเกินกว่าจำนวนที่จัดจำหน่าย ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2541
(4) การซื้อตามคำสั่งของลูกค้าซึ่งมิได้เกิดจากการชี้นำหรือชักจูงของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (unsolicited purchase)
ข้อ 12 ในกรณีหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายเป็นหุ้นและสัญญาการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์มีการระบุข้อผูกพันเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไว้ ห้ามมิให้ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ขายหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้นหรือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่มีหุ้นดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ตั้งแต่วันกำหนดราคาเสนอขายหุ้นดังกล่าวจนถึงวันที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินได้ครบตามจำนวนที่มีหน้าที่ส่งมอบหรือส่งคืน หรือจนถึงวันปิดการเสนอขาย ในกรณีที่ไม่มีการจัดสรรหุ้นเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดจำหน่าย
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีที่เป็นการขายแก่ผู้ลงทุนตามสัญญาการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือการขายตามคำสั่งของลูกค้าซึ่งมิได้เกิดจากการชี้นำหรือชักจูงของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (unsolicited sale)
ข้อ 13 ให้นำความในข้อ 8 และข้อ 9 มาใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง โดยอนุโลม ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเผยแพร่บทความหรืองานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยตนเองหรือผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ อันเป็นบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหรือหลักทรัพย์อื่นที่มีความเกี่ยวข้อง
ให้นำความในข้อ 11 และข้อ 12 มาใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องโดยอนุโลมทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ซึ่งผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหรือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่มีหุ้นดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง
ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ