ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 89/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน ประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 17, 2015 14:19 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 89/2558

เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวม

เพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน

ประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล

______________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 109 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีข้อความใดในประกาศนี้ที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย

“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป” หมายความว่า กองทุนรวมที่ประสงค์จะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป โดยไม่ได้จำกัดผู้ลงทุนที่จะซื้อหน่วยลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุน ที่มิใช่รายย่อย

“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” หมายความว่า กองทุนรวมที่ประสงค์จะเสนอขายและจำกัดการถือหน่วยลงทุนไว้เฉพาะต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยหรือผู้มีเงินลงทุนสูง โดยมีนโยบายการลงทุนในลักษณะผ่อนคลายกว่ากองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน” หมายความว่า กองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานให้จัดตั้งอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับซึ่งมีผู้ถือหน่วยทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ทั้งนี้ ตามบทนิยามคำว่า “ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน” แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม หรือบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี

“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่

“ผู้มีเงินลงทุนสูง” หมายความว่า ผู้ที่จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในครั้งแรกตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป (initial minimum subscription)

“ผู้จัดการกองทุน” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนรวมหรือผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือหาดอกผลโดยวิธีอื่น

“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม

“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคลเพื่อให้บริษัทจัดการดูแลและจัดการกองทุนดังกล่าวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญ และด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้มีวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ

ข้อ 3 ในการจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนต้องแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนในลักษณะที่เหมาะสม โดยบุคคลที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการกองทุนจะต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข้อ 4 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยผลการดำเนินงานตลอดจนข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับความเป็นไปของกองทุนนั้นในแต่ละช่วงเวลาเช่น รายละเอียดการลงทุน ฐานะการเงิน ค่าใช้จ่าย และความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและบุคคลทั่วไปด้วยวิธีการที่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนและบุคคลทั่วไปรับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องทุกช่วงเวลาให้เหมาะสมกับสถานการณ์

การวัดผลการดำเนินงาน และการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนให้เป็นไปตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งให้บริษัทจัดการปฏิบัติเพิ่มเติมจากมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สมาคมกำหนดตามวรรคสอง

ข้อ 5 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำงบการเงินของกองทุนรวมให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติทางการบัญชีว่าด้วยการบัญชีสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุนตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ งบการเงินดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศของสำนักงานว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่บุคคลซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีของ International Accounting Standards Board หรือ American Institution of Certified Public Accountants หรือ Financial Accounting Standards Board โดยงบการเงินดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีที่สามารถประกอบธุรกิจการเป็นผู้สอบบัญชีได้โดยชอบในประเทศที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้น ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการ

(2) กรณีที่เป็นการจัดทำงบการเงินประจำงวดการบัญชีของกองทุนรวมที่มีการเลิกกองทุนภายใน 15 เดือนนับแต่วันที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม หรือเป็นการจัดทำ งบการเงินประจำงวดการบัญชีสุดท้ายของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจจัดทำงบการเงินประจำงวดการบัญชีดังกล่าว ณ วันเลิกกองทุนรวมเพียงครั้งเดียวได้ โดยมีระยะเวลาเกิน 12 เดือน แต่ไม่เกิน 15 เดือน

ข้อ 6 ในการจัดการกองทุน ให้สำนักงานเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติเพื่อให้มีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของกองทุนหรือลูกค้า เช่น กองทุนรวมมีประกัน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ลูกค้าที่มีลักษณะการลงทุนเป็นแบบเดียวกัน เป็นต้น

ข้อ 7 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะก่อภาระผูกพันใด ๆ ในนามของกองทุนส่วนบุคคลได้ต่อเมื่อเป็นการก่อภาระผูกพันที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลที่สามารถดำเนินการได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน

ข้อ 8 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามสิทธิที่พึงได้รับ และเพื่อให้มีมาตรฐานการดำเนินงานเป็นอย่างเดียวกัน ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการถือปฏิบัติได้

(1) การขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม การเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนหรือ การจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกของกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตลอดจนเมื่อเกิดการคำนวณจำนวนหน่วยหรือมูลค่าผิด

(2) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุน

(3) การควบหรือรวมกองทุนรวม

(4) การรับชำระหนี้ด้วยหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นของกองทุน

(5) การดำเนินการให้กองทุนรวมเปิดดำรงสภาพคล่องและวิธีปฏิบัติในกรณีที่ไม่สามารถดำรงสภาพคล่องได้ตามที่กำหนด

(6) ข้อกำหนดอื่นใดเกี่ยวกับการจัดการกองทุนเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุนหรือเพื่อให้มีมาตรฐานการดำเนินงานเป็นอย่างเดียวกัน

ข้อ 9 นอกจากที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้

ข้อ 10 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมีเหตุจำเป็นโดยไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้หรือหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอื่นใดที่ออกตามประกาศนี้ สำหรับการจัดการกองทุนรวมใดที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในประเทศไทยให้กับบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงได้ว่าการขอผ่อนผันดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนในประเทศที่กองทุนรวมมีการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้น (host country)

ข้อ 11 ในกรณีที่ปรากฏเหตุดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมได้

(1) มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการหรือข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว

(2) มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนโดยบริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้ปฏิบัติหรือดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนและการเสนอขายหน่วยลงทุน

(3) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ระบุไว้ในโครงการ

(4) บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ

ในกรณีที่สำนักงานสั่งเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที

ข้อ 12 เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นไปตามนโยบายหรือหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้นหรือเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน ในกรณีที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งการให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่สำนักงานเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่กำหนด

(1) กองทุนรวมมีการจัดการที่มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามที่ประกาศเกี่ยวข้องกำหนด แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการจัดการกองทุนรวมนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติหรือหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(2) การจัดการกองทุนรวมอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน

(3) การจัดการกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม

(4) การจัดการกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการ ตัดสินใจลงทุน

(5) การดำเนินการของกองทุนรวมไม่สอดคล้องกับโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน

อำนาจสั่งการตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงการสั่งการในเรื่องดังนี้

(1) ชี้แจง หรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม

(2) แก้ไขลักษณะของกองทุนรวมให้ถูกต้อง

(3) ระงับการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม

ข้อ 13 ในกรณีที่สำนักงานยังไม่ได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้

ข้อ 14 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนส่วนบุคคล ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 15 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออก หรือวางแนวปฏิบัติ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับ ตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 17/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้ง จัดการและลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 16 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ