ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 88/2558 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 17, 2015 10:47 —ประกาศ ก.ล.ต.

ที่ สน. 88/2558

เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

เพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย

และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน

_____________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 3/2556 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 37/2556 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 37/2557 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

(4) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 80/2558 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“หนังสือชี้ชวน” หมายความว่า หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย หรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน แล้วแต่กรณี

“หนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุง” หมายความว่า หนังสือชี้ชวนดังต่อไปนี้

(1) หนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมเปิดที่ต้องจัดทำตามรอบระยะเวลาที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนและการเสนอขายหน่วยลงทุน

(2) หนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมปิดเพื่อการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม

“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมปิดและกองทุนรวมเปิด

“กองทุนรวมปิด” หมายความว่า กองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน

“กองทุนรวมเปิด” หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล

“กองทุนรวมที่จ่ายผลตอบแทนแบบซับซ้อน” หมายความว่า กองทุนรวมที่จ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยวิธีการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนให้ผันแปรไปตามสูตรการคำนวณหรือเงื่อนไขใด ๆ ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนทั่วไปไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย

“ประกาศการลงทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม

“ข้อผูกพัน” หมายความว่า ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ

“ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บุคคลที่บริษัทจัดการมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ของกองทุนรวม

“การลดความเสี่ยง” หมายความว่า การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะครบถ้วนดังนี้

(1) ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหาผลประโยชน์โดยการเก็งกำไร (speculate)

(2) มีผลให้ความเสี่ยงในการลงทุนโดยรวมของกองทุนลดลง

(3) เป็นการลดความเสี่ยงทั่วไปและความเสี่ยงเฉพาะของทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยง

(4) สามารถลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การลงทุนแบบซับซ้อนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีกลยุทธ์แบบซับซ้อน (complex strategic investment) หรือการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความซับซ้อน (exotic derivatives)

“ฐานะการลงทุนสุทธิ” (net exposure) หมายความว่า มูลค่าการลงทุนสุทธิในทรัพย์สินไม่ว่าเป็นการลงทุนโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในตราสารหรือสัญญาที่ให้ผลตอบแทนโดยอ้างอิงอยู่กับทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลให้กองทุนมีความเสี่ยงในทรัพย์สินนั้น

“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน

ข้อ 4 หนังสือชี้ชวนต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน โดยต้องมีลักษณะและวิธีการแสดงข้อมูลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ใช้ข้อความที่สามารถเข้าใจได้ง่าย

(2) ไม่แสดงข้อความหรือข้อมูลที่เป็นเท็จ เกินความจริง หรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ในการจัดทำหนังสือชี้ชวนตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการจะใช้วิธีการสื่อความหมายโดยแผนภาพหรือวิธีการอื่นใดแทนการสื่อความหมายโดยข้อความก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดในประกาศนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ข้อ 5 หนังสือชี้ชวนให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

(1) ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ

(2) ส่วนข้อมูลกองทุนรวม

(3) ส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วน

ข้อ 6 รายการและข้อมูลในหนังสือชี้ชวนในแต่ละส่วนตามข้อ 5 ให้เป็นดังนี้

(1) ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งมีรายการและข้อมูลตามหมวด 1 ส่วนที่ 1 และหมวด 3 ส่วนที่ 6

(2) ส่วนข้อมูลกองทุนรวม ซึ่งมีรายการและข้อมูลตามหมวด 1 ส่วนที่ 2 หมวด 2 และหมวด 3

(3) ส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วน ซึ่งมีรายการและข้อมูลตามหมวด 1 ส่วนที่ 3

การจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง (2) ให้แนบข้อผูกพันและโครงการที่มีสาระสำคัญไม่ต่างจากที่แสดงไว้ล่าสุดต่อสำนักงานไว้ท้ายหนังสือชี้ชวนส่วนดังกล่าวด้วย

ข้อ 7 หนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุงให้มีรายการและข้อมูลตามข้อ 6 ที่ปรับปรุงเป็นปัจจุบัน และมีรายการและข้อมูลเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ในหมวด 4

ข้อ 8 ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะเป็นกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศตามประกาศการลงทุน หนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมดังกล่าวต้องมีข้อมูลอย่างน้อยเกี่ยวกับวันที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมและสรุปสาระสำคัญของโครงการ โดยมิให้นำความในข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 มาใช้บังคับ

หมวด 1

รายการและข้อมูลในหนังสือชี้ชวน

_______________________________

ส่วนที่ 1

หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ

_______________________________

ข้อ 9 หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ให้อยู่ในส่วนแรกของหนังสือชี้ชวน โดยต้องเป็นไปตามแบบ 123-1 แนบท้ายประกาศนี้ และให้มีรายละเอียดตามที่กำหนดในคำอธิบายรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องเปิดเผยแนบท้ายแบบดังกล่าว

หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญตามวรรคหนึ่ง ต้องพิมพ์ด้วยตัวอักษรที่มีความคมชัด อ่านได้ชัดเจน และให้มีความยาวไม่เกิน 3 หน้ากระดาษ A4 เว้นแต่กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่จ่ายผลตอบแทนแบบซับซ้อนอาจมีความยาวได้ไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4

ส่วนที่ 2

หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม

_______________________________

ข้อ 10 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ประเภทและนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม รวมถึงผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากเงินลงทุน

(2) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับกองทุนรวม

(3) ปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนรวม

(4) สรุปอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม ตามแบบ 123-2 แนบท้ายประกาศนี้

(5) ค่าธรรมเนียม เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุน ตามแบบ 123-3 แนบท้ายประกาศนี้

(6) คำเตือนเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน

(7) ข้อมูลการจะถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้น โดยให้ระบุจำนวนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อาจเข้ามาถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดดังกล่าว พร้อมทั้งช่องทางการตรวจสอบข้อมูลสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นด้วย

(8) ข้อมูลอื่นที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

(9) รายการที่สำนักงานกำหนดให้กองทุนรวมเปิดเผยเพิ่มเติมเป็นรายกรณี

ข้อ 11 รายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับกองทุนรวม ให้แสดงคำถามและคำตอบอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมดังนี้

(ก) กองทุนรวมนี้เป็นกองทุนรวมที่มีการกำหนดประเภทของผู้ลงทุน หรือมีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุนหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน ให้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการแบ่งชนิด สิทธิประโยชน์และความเสี่ยงของผู้ถือหน่วยลงทุนแยกตามชนิดของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด

(ข) กองทุนรวมนี้มีจำนวนเงินทุนโครงการเท่าใด ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิด ให้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการเพิ่มเงินทุนโครงการภายหลังจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมด้วย(ถ้ามี)

(ค) กองทุนรวมนี้เหมาะสมที่จะเป็นทางเลือกสำหรับเงินลงทุนลักษณะใด และผู้ลงทุนควรลงทุนในระยะเวลาเท่าใด (กรณีที่สามารถระบุระยะเวลาการลงทุนในกองทุนรวมได้)

(ง) ปัจจัยใดที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเงินลงทุนของผู้ลงทุน

(จ) กองทุนรวมนี้เป็นกองทุนรวมที่มีผู้ประกันเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน หรือเป็นกองทุนรวมที่มุ่งรักษาเงินต้นหรือไม่ อย่างไร

(ฉ) กองทุนรวมนี้มีรอบระยะเวลาบัญชีอย่างไร

(2) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับข้อกำหนดในการซื้อขายและโอนหน่วยลงทุน ดังนี้

(ก) กองทุนรวมนี้มีวิธีการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอย่างไร

(ข) กรณีใดที่บริษัทจัดการสงวนสิทธิไม่ขายหน่วยลงทุน

(ค) กองทุนรวมนี้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลื่อนกำหนดเวลาชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน การไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งที่รับไว้แล้ว และการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนไว้อย่างไร

(ง) วิธีการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเป็นอย่างไร

(จ) กองทุนรวมนี้กำหนดวิธีการโอนหน่วยลงทุน และข้อจำกัดการโอนไว้อย่างไร

(ฉ) ผู้ถือหน่วยลงทุนจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน และราคาขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนได้จากช่องทางใด

(3) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนดังนี้

(ก) กองทุนรวมนี้มีการออกและส่งมอบหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนหรือไม่ อย่างไร

(ข) ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนี้อาจถูกจำกัดสิทธิในเรื่องใด ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ทั้งนี้ ให้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการถูกจำกัดสิทธิออกเสียงในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราที่ประกาศกำหนด หรือในกรณีอื่นด้วย (ถ้ามี)

(ค) ในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทใด ให้มีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับช่องทางและวิธีการที่ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถตรวจสอบแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงและการดำเนินการใช้สิทธิออกเสียงของบริษัทจัดการเพิ่มเติม

(ง) กองทุนรวมนี้มีช่องทางและวิธีการร้องเรียนของผู้ลงทุน และนโยบายการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนวิธีเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

(4) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกองทุนรวมซึ่งแสดงข้อมูลอย่างน้อยดังนี้

(ก) ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจัดการ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายชื่อกรรมการ กรรมการอิสระและผู้บริหาร จำนวนกองทุนรวมทั้งหมดภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(ข) รายชื่อคณะกรรมการการลงทุน

(ค) รายชื่อผู้จัดการกองทุน ประวัติการศึกษา และประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนรวม รวมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้จัดการกองทุนดังกล่าว

(ง) รายชื่อผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน นายทะเบียนหน่วยลงทุน และผู้ดูแลผลประโยชน์ รวมทั้งต้องจัดให้มีข้อความว่า นอกจากหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่งตั้ง ผู้ดูแลผลประโยชน์ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย

(5) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับช่องทางที่ผู้ลงทุนสามารถทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนรวมนี้

ข้อ 12 รายการปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนรวม ให้แสดงข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมนั้น ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว โดยเรียงลำดับตามโอกาสที่อาจเกิดขึ้นและนัยสำคัญของผลกระทบจากมากไปหาน้อย

การแสดงข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ปัจจัยความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร (business risk)

(2) ปัจจัยความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร (credit risk)

(3) ปัจจัยความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร (market risk)

(4) ปัจจัยความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร (liquidity risk)

(5) ปัจจัยความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน (exchange rate risk)

(6) ปัจจัยความเสี่ยงจากการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (leverage risk)

ข้อ 13 รายการคำเตือนเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน ให้มีข้อมูลคำเตือนอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำเตือนว่า “การพิจารณาร่างหนังสือชี้ชวนในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนี้มิได้เป็นการแสดงว่าสำนักงานได้รับรองถึงความถูกต้องของข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม หรือได้ประกันราคาหรือผลตอบแทนของหน่วยลงทุนที่เสนอขายนั้น”

(2) คำเตือนในกรณีที่บริษัทจัดการมีธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ดังกล่าว เช่น กรณีบริษัทจัดการมีการลงทุนเพื่อตนเองซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประโยชน์ของกองทุนรวม รวมทั้งต้องแสดงช่องทางและวิธีการที่ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถตรวจสอบรายละเอียด และสอบถามข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เช่น ทางเว็บไซต์ของบริษัทจัดการ เป็นต้น

การพิมพ์คำเตือนตามวรรคหนึ่งต้องพิมพ์ด้วยตัวอักษรที่มีความชัดเจนและมีขนาดไม่เล็กกว่าตัวอักษรปกติของหนังสือชี้ชวนนั้น

ส่วนที่ 3

หนังสือชี้ชวนส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วน

_______________________________

ข้อ 14 หนังสือชี้ชวนส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วน ให้อยู่ในส่วนท้ายของหนังสือชี้ชวน โดยต้องมีข้อความที่แสดงว่าบริษัทจัดการได้สอบทานข้อมูลในหนังสือชี้ชวนฉบับนี้ด้วยความระมัดระวังในฐานะผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมแล้ว และบริษัทจัดการขอรับรองว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องครบถ้วน ไม่เป็นเท็จ ไม่ทำให้ผู้อื่น สำคัญผิด และไม่ขาดข้อมูลที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ

ข้อ 15 หนังสือชี้ชวนส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วนต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้ ลงลายมือชื่อพร้อมทั้งประทับตราบริษัท (ถ้ามี)

(1) กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทของบริษัทจัดการ

(2) ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทจัดการ ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่รับผิดชอบงานในสายงานเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวม

หมวด 2

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมที่มีข้อกำหนด

หรือลักษณะเฉพาะบางประการ

_______________________________

ส่วนที่ 1

กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ

ตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

_______________________________

ข้อ 16 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง และสินค้าหรือตัวแปรของสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกับทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยง โดยหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ต้องมีรายการและข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ 17

(2) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง หรือมีนโยบายการลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง โดยหนังสือชี้ชวน ส่วนข้อมูลกองทุนรวม ต้องมีรายการและข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ 18 และหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้

(ก) ในกรณีที่นโยบายการลงทุนอาจทำให้กองทุนรวมมีฐานะการลงทุนสุทธิในสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิง (underlying) ของสัญญาหรือตราสารนั้นเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมต้องมีรายการและข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ 19

(ข) ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมต้องมีรายการและข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ 20

(ค) ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนแบบซับซ้อนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมต้องมีรายการและข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ 21

ข้อ 17 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมของกองทุนรวมตามข้อ 16(1) ให้แสดงคำเตือนในรายการคำเตือนเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนว่า “บริษัทจัดการกองทุนรวมใช้ข้อมูลในอดีตในการคำนวณค่าสัมบูรณ์ของค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (absolute correlation coefficient) กองทุนรวมจึงมีความเสี่ยง หากสินค้าหรือตัวแปรที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิง (underlying) และทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามข้อมูลในอดีต ซึ่งอาจส่งผลให้การเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่สามารถลดความเสี่ยงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

ข้อ 18 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมของกองทุนรวมตามข้อ 16(2) ให้แสดงรายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม โดยให้มีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่แสดงข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมกำหนดอัตราส่วนการลงทุนในสัญญาหรือตราสารดังกล่าวไว้อย่างไร

(2) ผลกระทบทางลบภายใต้สมมติฐานและความเชื่อมั่นที่สมเหตุสมผลจากการลงทุนในสัญญาหรือตราสารดังกล่าวต่อเงินทุนของกองทุนรวมเป็นอย่างไร

ข้อ 19 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมของกองทุนรวมตามข้อ 16(2) (ก) ให้แสดงรายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม โดยให้มีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับสินค้าหรือตัวแปรของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่แสดงข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ชื่อและลักษณะของสินค้าหรือตัวแปร ทั้งนี้ ในกรณีที่ตัวแปรเป็นดัชนี ให้แสดงข้อมูลดังนี้ด้วย

(ก) องค์ประกอบของดัชนี หรือแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของดัชนีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถเข้าถึงได้

(ข) กลยุทธ์การลงทุนของดัชนี ในกรณีที่เป็นดัชนีที่คำนวณผลตอบแทนโดยอ้างอิงกลยุทธ์การลงทุน

(ค) เหตุในการเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือยกเลิกการคำนวณดัชนี และแนวทางการดำเนินการของกองทุนในกรณีที่ปรากฏเหตุดังกล่าว

(2) ข้อมูลราคาหรือผลการดำเนินงานของสินค้าหรือตัวแปรย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี ทั้งนี้ ในกรณีที่ตัวแปรเป็นดัชนีที่ได้รับการพัฒนามาแล้วไม่ถึง 3 ปี ให้แสดงราคาหรือผลการดำเนินงานจำลองสำหรับปีที่ดัชนียังไม่ได้รับการพัฒนา

(3) ความผันผวนของราคาหรือผลการดำเนินงานของสินค้าหรือตัวแปรที่สัญญาหรือตราสารอ้างอิง

ทั้งนี้ ให้แสดงข้อความเพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่า ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) เป็นเพียงข้อมูลในอดีตหรือข้อมูลจำลองที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมีความเข้าใจในสินค้าหรือตัวแปรเท่านั้น ดังนั้น ราคา ผลการดำเนินงาน หรือความผันผวนของสินค้าหรือตัวแปรในอนาคตอาจเคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามข้อมูลในอดีตได้

ข้อ 20 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมของกองทุนรวมตามข้อ 16(2) (ข) ให้แสดงรายการและข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) รายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกองทุนรวม ให้มีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับชื่อ คุณสมบัติ ความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินของบุคคลใดบุคคลหนึ่งต่อไปนี้

(ก) ผู้จัดการกองทุน

(ข) บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการลงทุนดังกล่าว (ถ้ามี)

(2) รายการปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนรวม ให้แสดงข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยระบุข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้

(ก) สาระสำคัญของสัญญา และวัตถุประสงค์ในการลงทุน

(ข) ลักษณะของความเสี่ยง และเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยง

(ค) ผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น

ข้อ 21 ในกรณีที่เป็นการลงทุนแบบซับซ้อนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 16(2) (ค) ให้แสดงข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) วิธีการคำนวณมูลค่าความเสียหายสูงสุด (value-at-risk : VaR) ตามวิธีการใดระหว่างวิธีการ relative VaR approach หรือวิธีการ absolute VaR approach โดยระบุสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณตามวิธีการดังกล่าวด้วย อย่างน้อยดังนี้

(ก) ระดับความเชื่อมั่น (confidence interval)

(ข) ระยะเวลาการถือครองทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุน (holding period)

ทั้งนี้ กรณีที่ใช้วิธีการ relative VaR approach ให้ระบุ benchmark ที่ใช้ รวมถึงความเหมาะสมของ benchmark ดังกล่าวด้วย

(2) มูลค่าธุรกรรมตามหน้าสัญญาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่บริษัทจัดการประมาณการไว้ (expected gross leverage)

ส่วนที่ 2

กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับต่างประเทศ

_______________________________

ข้อ 22 ในส่วนนี้ คำว่า “ความเสี่ยงเกี่ยวกับต่างประเทศ” หมายความว่า ความเสี่ยงจากการลงทุนในทรัพย์สินหรือการเข้าเป็นคู่สัญญาในธุรกรรมทางการเงินในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือหลายลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ความเสี่ยงด้านผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญาในต่างประเทศ แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

(2) ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ข้อ 23 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมที่มีหรือจะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับต่างประเทศรวมกันเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

ข้อ 24 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงข้อมูลสรุปปัจจัยความเสี่ยงเกี่ยวกับต่างประเทศไว้ในรายการสรุปปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มเติมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ปัจจัยความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน (exchange rate risk)

(2) ปัจจัยความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ (country and political risk)

(3) ปัจจัยความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ (repatriation risk)

ในกรณีที่เป็นการลงทุนในตราสารของบริษัทที่จัดตั้งและเสนอขายในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion) รวมกันเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ให้เปิดเผยความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศดังกล่าว (ถ้ามี) เช่น การลงทุนมีความผันผวนสูง ตราสารมีสภาพคล่องต่ำ หรือสภาพตลาดการเงินในกลุ่มอนุภูมิภาคดังกล่าวอาจมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น เพิ่มเติมจากข้อมูลตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 25 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินไว้ในรายการประเภทและนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม โดยให้ระบุ ข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง ให้ระบุว่าแนวทางการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวเข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังนี้

(ก) มีการป้องกันความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้นทั้งหมด

(ข) มีการป้องกันความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้นบางส่วน โดยมีการกำหนดสัดส่วนไว้อย่างชัดเจน

(ค) มีการบริหารความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

(2) กรณีที่กองทุนรวมไม่มีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง ให้ระบุว่า “ไม่มีการป้องกันหรือบริหารความเสี่ยง”

การแสดงแนวทางการบริหารความเสี่ยงตามวรรคหนึ่ง (1) (ค) ให้แสดงปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย

ส่วนที่ 3

กองทุนรวมที่ลงทุนใน

หน่วยของกองทุนอื่น

_______________________________

ข้อ 26 กองทุนรวมที่มีหรือจะมีการลงทุนในหน่วยของกองทุนอื่นในลักษณะดังต่อไปนี้ ให้แสดงข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในข้อ 27 หรือข้อ 28 แล้วแต่กรณี

(1) กรณีที่มีหรือจะมีการลงทุนในหน่วยของกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่กองทุนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน) กองทุนใดกองทุนหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ให้แสดงข้อมูลตามข้อ 27

(2) กรณีที่มีหรือจะมีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่อยู่ภายใต้บังคับตามประกาศการจัดการกองทุน หรือหน่วยของกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นดังกล่าว รวมกันเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ให้แสดงข้อมูลตามข้อ 28

(3) กรณีที่มีหรือจะมีการลงทุนในหน่วยของกองทุนไม่ว่าที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน รวมกันเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ให้แสดงข้อมูลตามข้อ 28

เพื่อประโยชน์ของข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง (2) คำว่า “ประกาศการจัดการกองทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล

ข้อ 27 ในกรณีตามข้อ 26 วรรคหนึ่ง (1) หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับกองทุนต่างประเทศที่ระบุไว้ในโครงการ ไว้ในรายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) กองทุนต่างประเทศนั้นมีนโยบายการลงทุน ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญและผลการดำเนินงานอย่างไร

(2) ความผันผวนของผลการดำเนินงานของกองทุนต่างประเทศนั้นเป็นอย่างไร

ในกรณีที่การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศส่งผลให้กองทุนมีฐานะการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงตามส่วนที่ 1 ของหมวดนี้ ให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงของกองทุนต่างประเทศตามส่วนที่ 1 ของหมวดนี้ด้วย โดยอนุโลม

การแสดงคำถามและคำตอบตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนต่างประเทศดังกล่าว เท่าที่กองทุนต่างประเทศนั้นได้เปิดเผยไว้เป็นการทั่วไปหรือเท่าที่บริษัทจัดการสามารถเข้าถึงได้

ข้อ 28 ในกรณีตามข้อ 26 วรรคหนึ่ง (2) หรือ (3) หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมให้แสดงรายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม โดยมีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับนโยบายและอัตราส่วนการลงทุนในกรณีดังกล่าว ซึ่งกำหนดไว้ในโครงการ

ส่วนที่ 4

กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารที่มีอันดับ

ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้

หรือที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

_______________________________

ข้อ 29 ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนที่ส่งผลให้กองทุนรวมมีฐานะการลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ หรือที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมกันเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมให้มีข้อมูลคำเตือนเพิ่มเติมว่า “กองทุนรวมที่เสนอขายนี้มีการลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ หรือที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป เช่น ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร (credit risk) หรือความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร (liquidity risk) ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วนหรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุน ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม”

ส่วนที่ 5

กองทุนรวมที่จ่ายผลตอบแทนแบบซับซ้อน

_______________________________

ข้อ 30 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมที่จ่ายผลตอบแทนแบบซับซ้อน

ข้อ 31 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงคำถามคำตอบเกี่ยวกับการจ่ายผลตอบแทนไว้ในรายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมนี้กำหนดสูตรการคำนวณผลตอบแทน รูปแบบของผลตอบแทน รวมทั้งเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องไว้อย่างไร ทั้งนี้ ให้อธิบายรูปแบบของผลตอบแทนเป็นแผนภาพ (pay-off diagram) ด้วย

(2) ประมาณการผลตอบแทนในสถานการณ์ต่าง ๆ และผลขาดทุนสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ประมาณการดังกล่าวต้องใช้สมมติฐานที่มีความสมเหตุสมผลและกระทำด้วยความระมัดระวัง

(3) กองทุนรวมนี้เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่มีความคาดหวังอย่างไร

หมวด 3

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมตามลักษณะพิเศษ

_______________________________

ส่วนที่ 1

กองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของ

กองทุนรวมตลาดเงินตามประกาศการลงทุน

_______________________________

ข้อ 32 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมตลาดเงินที่ใช้เงินฝากเป็นดัชนีชี้วัด (benchmark) เพิ่มเติมในการเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

ข้อ 33 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงคำเตือนไว้ในรายการคำเตือนเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่า การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินไม่ใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน

คำเตือนตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงไว้ทุกจุดที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดที่เป็นเงินฝาก

ส่วนที่ 2

กองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของ

กองทุนรวมมีประกันตามประกาศการลงทุน

_______________________________

ข้อ 34 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมมีประกัน

ข้อ 35 ในส่วนนี้ คำว่า “ผู้ประกัน” ให้หมายความว่า บุคคลที่ให้การประกันว่า หากผู้ลงทุนได้ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีประกันจนครบตามระยะเวลาที่กำหนดในโครงการ ผู้ลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุนหรือผลตอบแทนจากการไถ่ถอนหรือขายคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้

ข้อ 36 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงคำเตือนในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ผู้ประกันเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน ที่แสดงว่ากองทุนรวมจะลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าว โดยให้ระบุชื่อผู้ประกัน อัตราส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินดังกล่าว และจำนวนเงินลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับคืนหากผู้ประกันไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ไว้ในคำเตือนด้วย

ข้อ 37 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงรายการและข้อมูลเกี่ยวกับการประกันดังต่อไปนี้

(1) รายการประเภทและนโยบายของกองทุนรวม ให้อธิบายข้อมูลดังนี้โดยสังเขป

(ก) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกัน รวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ประกัน

(ข) จำนวนเงินลงทุนที่ประกัน และผลตอบแทนที่ประกัน (ถ้ามี)

(ค) ระยะเวลาการประกัน และวันครบกำหนดระยะเวลาการประกันแต่ละงวด (ถ้ามี)

(ง) ประมาณการค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดให้มีผู้ประกันและสัดส่วนของประมาณการค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีผู้ประกัน เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนรวม

(2) รายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม ให้แสดงคำถามและคำตอบดังต่อไปนี้

(ก) ผลของการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาประกันและผลของการขายคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาประกันในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนสูงกว่ามูลค่าที่ประกัน เป็นอย่างไร

(ข) การจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ และการดำเนินการของบริษัทจัดการในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ได้ เป็นอย่างไร

(ค) ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของผู้ประกันหรือไม่ อย่างไร

ส่วนที่ 3

กองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของ

กองทุนรวมมุ่งรักษาเงินต้นตามประกาศการลงทุน

_______________________________

ข้อ 38 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมมุ่งรักษาเงินต้น

ข้อ 39 ในส่วนนี้ คำว่า “เงินต้น” ให้หมายความว่า เงินที่ผู้ลงทุนแต่ละรายชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมุ่งรักษาเงินต้น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน

ข้อ 40 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมมุ่งรักษาเงินต้น ดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมนี้แตกต่างจากกองทุนรวมมีประกันอย่างไร

(2) ผู้ลงทุนในกองทุนรวมนี้มีโอกาสที่จะไม่ได้รับคืนเงินต้นหรือไม่ อย่างไร

(3) กองทุนรวมนี้มีเงื่อนไขและกลไกการรักษาเงินต้นอย่างไร

ส่วนที่ 4

กองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของ

กองทุนรวมอีทีเอฟตามประกาศการลงทุน

_______________________________

ข้อ 41 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมอีทีเอฟ

ข้อ 42 ในส่วนนี้

(1) “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการให้ทำหน้าที่เพื่อให้ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรองสะท้อนมูลค่าหน่วยลงทุนที่คำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมดังกล่าวได้อย่างใกล้เคียงกัน

(2) “ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนที่ซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกับบริษัทจัดการในปริมาณหรือมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในโครงการซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือตามที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานเป็นรายกรณี

(3) “ผู้ค้าหน่วยลงทุนร่วม” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่บริษัทจัดการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงไว้ในโครงการให้ทำการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟกับบริษัทจัดการได้

ข้อ 43 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงรายการและข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) รายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม ให้มีคำถามและคำตอบดังนี้

(ก) กองทุนรวมนี้อ้างอิงกับดัชนีราคาหลักทรัพย์ใด และดัชนีดังกล่าวมีหลักทรัพย์ใดเป็นองค์ประกอบ

(ข) กองทุนรวมนี้จะลงทุนในหลักทรัพย์ใดใน 10 อันดับแรก

(ค) กำหนดการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและระดับของดัชนีที่ใช้อ้างอิงไว้อย่างไร

(ง) วิธีการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่แปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีที่ใช้อ้างอิงเป็นอย่างไร

(2) รายการคำถามคำตอบเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน ให้มีคำถามและคำตอบดังต่อไปนี้

(ก) การซื้อขายหน่วยลงทุนโดยตรงกับบริษัทจัดการจะต้องมีปริมาณหรือมูลค่าการซื้อขายเป็นจำนวนเท่าใด

(ข) ผู้ลงทุนสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวการซื้อขายหน่วยลงทุนและดัชนีที่ใช้อ้างอิงของกองทุนรวมนี้จากช่องทางใดบ้าง

(3) รายการคำถามคำตอบเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกองทุนรวม ให้มีคำถามคำตอบเกี่ยวกับบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการให้เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง และผู้ค้าหน่วยลงทุนร่วม (ถ้ามี)

ส่วนที่ 5

กองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของ

กองทุนรวมทองคำตามประกาศการลงทุน

_______________________________

ข้อ 44 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมทองคำที่มีการลงทุนในทองคำแท่งโดยตรง

ข้อ 45 หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม ให้แสดงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) ทองคำแท่งที่กองทุนรวมลงทุนได้รับการทำประกันภัยหรือไม่ อย่างไร (อธิบาย) และในกรณีที่มีการทำประกันภัย เป็นการทำประกันภัยบางส่วนหรือเต็มจำนวน

(2) ในกรณีที่ทองคำแท่งมีการทำประกันภัย ทองคำแท่งที่กองทุนรวมลงทุนได้รับการประกันภัยคุ้มครองกรณีใดบ้าง และไม่ได้รับการคุ้มครองกรณีใดบ้าง

ข้อ 46 ในกรณีที่ทองคำแท่งที่กองทุนรวมลงทุนมิได้มีการทำประกันภัยไว้หรือมีการทำประกันภัยไว้แต่เพียงบางส่วน ให้แสดงการวิเคราะห์และอธิบายความเสี่ยงของกองทุนรวมในกรณีที่ทองคำแท่งที่ลงทุนเกิดเสียหาย สูญหาย ถูกโจรกรรม หรือถูกทำลาย ไว้ในรายการปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนรวมในหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมด้วย

ส่วนที่ 6

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีการรับโอนเงิน

จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

_______________________________

ข้อ 47 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีการรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือรับโอนเงินดังกล่าวต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น

ข้อ 48 หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ให้แสดงสัญลักษณ์หรือข้อความเพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่าเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีการรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือรับโอนเงินดังกล่าวต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น ตามแนวทางที่สมาคมกำหนดโดยให้ระบุไว้ในส่วนบนสุดในหน้าแรกของหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ

หมวด 4

รายการและข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุง

_______________________________

ข้อ 49 หนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุง ให้แสดงรายการและข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ในหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม

(1) เงินทุนโครงการ

(2) รายการการลงทุนและผลการดำเนินงานของกองทุนรวม โดยให้อยู่ในส่วนถัดจากรายการค่าธรรมเนียม และให้แสดงข้อมูลอย่างน้อยดังนี้

(ก) รายละเอียดการลงทุน การกู้ยืมเงิน และการก่อภาระผูกพันของกองทุนรวม โดยจัดกลุ่มตามประเภทของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น ให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม

(ข) ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมโดยใช้วิธีวัดผลการดำเนินงานตามมาตรฐานที่สมาคมหรือสำนักงานกำหนด แล้วแต่กรณี

(3) ในกรณีที่กองทุนรวมมีดัชนีชี้วัด ให้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดของกองทุนรวม ที่มีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) ผลการดำเนินงานของดัชนีชี้วัด

(ข) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนดัชนีชี้วัด ให้แสดงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงดัชนีชี้วัด

(4) ข้อมูลการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนที่ปรากฏขึ้นแล้วในปัจจุบัน โดยให้ระบุจำนวนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดดังกล่าว พร้อมทั้งช่องทางการตรวจสอบข้อมูลสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นด้วย

(5) ข้อมูลอัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนของกองทุนรวม (portfolio turnover ratio) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าที่ต่ำกว่าระหว่างผลรวมของมูลค่าการซื้อทรัพย์สินกับผลรวมของมูลค่าการขายทรัพย์สิน ที่กองทุนรวมลงทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา หารด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยของกองทุนรวมในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน

(6) ในกรณีที่เป็นการลงทุนแบบซับซ้อนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้แสดงข้อมูล VaR ที่เกิดขึ้นจริง (actual VaR) และอธิบายสาเหตุที่ค่าเฉลี่ยของมูลค่าธุรกรรมในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่เกิดขึ้นจริง (average actual leverage) เกินกว่าที่บริษัทจัดการประมาณการไว้ (expected gross leverage) เดิม

ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการหลังจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีและอยู่ในระหว่างการจัดทำหนังสือชี้ชวนเพื่อจัดส่งให้สำนักงาน ให้บริษัทจัดการแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ณ วันจัดทำหนังสือชี้ชวน

ข้อ 50 ข้อมูลที่แสดงในหนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุง ให้ใช้ข้อมูล ณ วันดังต่อไปนี้

(1) วันสิ้นรอบระยะเวลาที่ต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนและการเสนอขายหน่วยลงทุน ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิด

(2) วันใดวันหนึ่งในช่วง 30 วันก่อนวันเริ่มต้นเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมปิด

ข้อ 51 ในกรณีของกองทุนรวมอีทีเอฟ หนังสือชี้ชวนที่จัดทำใหม่ทุกรอบระยะเวลาบัญชี ให้เป็นไปตามข้อ 49 และต้องมีรายการเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) รหัสของหน่วยลงทุนที่ใช้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(2) หลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนใน 10 อันดับแรก

(3) จำนวนการซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา

หมวด 5

บทเฉพาะกาล

_______________________________

ข้อ 52 ในกรณีที่บริษัทจัดการได้ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมต่อสำนักงานโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการจัดทำหนังสือชี้ชวนเฉพาะสำหรับการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก โดยให้มีรายการและข้อมูลในหนังสือชี้ชวนเช่นเดียวกับร่างหนังสือชี้ชวนที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อสำนักงานได้

ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ