การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday August 25, 2000 14:23 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ. 33/2543
เรื่อง การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ
ของบริษัทหลักทรัพย์
______________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 45/2540 เรื่อง การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540
ข้อ 2 ในประกาศนี้
"บริษัทหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่มิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ แต่ไม่รวมถึงบริษัทที่ได้ใบรับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนด้วย
"ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์" หมายความว่า ลูกหนี้ทั่วไป ลูกหนี้ผ่อนชำระ ลูกหนี้สถาบันการเงินที่มีปัญหา และลูกหนี้อื่น
"ลูกหนี้ทั่วไป" หมายความว่า ลูกหนี้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ลูกหนี้ยืมหลักทรัพย์แต่ไม่รวมถึงลูกหนี้ยืมหลักทรัพย์ประเภทลูกค้าสถาบันที่มิได้ผิดนัดส่งมอบหลักทรัพย์
"ลูกค้าสถาบัน" หมายความว่า ลูกค้าสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง
"ลูกหนี้ผ่อนชำระ" หมายความว่า ลูกหนี้ผ่อนชำระซึ่งทำสัญญาตามมาตรฐานและลูกหนี้ผ่อนชำระอื่น
"ลูกหนี้ผ่อนชำระซึ่งทำสัญญาตามมาตรฐาน" หมายความว่า ลูกหนี้ที่ได้ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้กับบริษัทหลักทรัพย์ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่แน่นอน โดยจำนวนเงินและระยะเวลาในการชำระหนี้แต่ละงวดเป็นสัดส่วนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน และแต่ละงวดห่างกันไม่เกินหนึ่งเดือน
"ลูกหนี้ผ่อนชำระอื่น" หมายความว่า ลูกหนี้ที่ได้ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้กับบริษัทหลักทรัพย์ โดยจำนวนเงินและระยะเวลาในการชำระหนี้แตกต่างจากลูกหนี้ผ่อนชำระซึ่งทำสัญญาตามมาตรฐาน
"ลูกหนี้สถาบันการเงินที่มีปัญหา" หมายความว่า ลูกหนี้ของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งถูกทางการสั่งปิดกิจการและไม่อยู่ภายใต้มาตรการคุ้มครองของทางการหรือทางการไม่รับประกันการชำระหนี้
"ลูกหนี้อื่น" หมายความว่า ลูกหนี้ที่โอนมาจากบัญชีมาร์จิ้น ลูกหนี้ที่ซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสดแต่ไม่ชำระราคาหรือส่งมอบหลักทรัพย์ตามระยะเวลาที่กำหนด และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดี
"มูลหนี้" หมายความว่า หนี้ของลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์รายใดรายหนึ่งซึ่งรวมดอกเบี้ยค้างรับที่รับรู้เป็นรายได้ของบริษัทหลักทรัพย์แล้ว
"หลักประกัน" หมายความว่า ทรัพย์สินตามประเภทต่อไปนี้ที่ให้เป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์รายใดรายหนึ่ง
(ก) เงินสด
(ข) บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
(ค) หลักทรัพย์
(ง) หนังสือที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินออกให้ไว้แก่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ โดยสถาบันการเงินดังกล่าวยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะออกเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกัน
(จ) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์รับจำนอง
ข้อ 3 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์รับรู้รายได้ตามเกณฑ์ค้างรับ (accrual basis) สำหรับรายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้
(1) ลูกหนี้ทั่วไปที่มีหลักประกันต่ำกว่ามูลหนี้
(2) ลูกหนี้ผ่อนชำระรายที่ยังผ่อนชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ครบหกงวดติดต่อกันภายหลังจากที่มีการผ่อนชำระตามสัญญา
(3) ลูกหนี้ผ่อนชำระรายที่บริษัทหลักทรัพย์สามารถรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับได้แล้วเนื่องจากผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาครบหกงวดติดต่อกัน แต่ภายหลังมีการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยตั้งแต่สามงวดขึ้นไป
(4) ลูกหนี้สถาบันการเงินที่มีปัญหา
(5) ลูกหนี้อื่นที่ค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่สามงวดขึ้นไป
"หลักประกัน" ตามความในวรรคหนึ่ง (1) ให้หมายถึงทรัพย์สินประเภทที่สามารถนำมารวมเพื่อการคำนวณมูลค่าในบัญชีมาร์จิ้นได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต โดยใช้วิธีการคำนวณมูลค่าหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว
ข้อ 4 ให้บริษัทหลักทรัพย์แสดงมูลหนี้ของลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์จัดชั้นไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยให้แยกแสดงตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) มูลหนี้จัดชั้นสูญ หมายถึง
(ก) มูลหนี้ของลูกหนี้ที่ได้ติดตามทวงถามจนถึงที่สุดแล้ว แต่ไม่ได้รับการชำระหนี้และบริษัทหลักทรัพย์ได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามกฎหมายภาษีอากรแล้ว
(ข) มูลหนี้ส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์ได้ทำสัญญาปลดหนี้ให้
(2) มูลหนี้จัดชั้นสงสัย หมายถึง
(ก) มูลหนี้ของลูกหนี้ผ่อนชำระ เฉพาะมูลหนี้ส่วนที่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืนเกินกว่าห้าปีนับแต่วันสิ้นงวดการบัญชีที่จัดทำงบการเงิน
(ข) มูลหนี้เฉพาะส่วนที่สูงเกินกว่าหลักประกันของลูกหนี้ที่เข้าลักษณะดังนี้
1. ลูกหนี้ทั่วไป ลูกหนี้ผ่อนชำระอื่น ลูกหนี้สถาบันการเงินที่มีปัญหา และลูกหนี้อื่น ที่มีหลักประกันต่ำกว่ามูลหนี้
2. ลูกหนี้ผ่อนชำระซึ่งทำสัญญาตามมาตรฐานรายที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถรับรู้รายได้ตามเกณฑ์ค้างรับได้ตามข้อ 3(2) และ (3)
(3) มูลหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน หมายถึง มูลหนี้ส่วนที่ไม่สูงเกินกว่าหลักประกันของลูกหนี้ที่เข้าลักษณะตาม (2) (ข) 1. และ 2.
ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 4 การคำนวณมูลหนี้และการคำนวณมูลค่าหลักประกัน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) กรณีหลักทรัพย์ที่มีตลาดรองรับ ให้ใช้ราคายุติธรรมเช่นเดียวกับการตีราคาเงินลงทุนตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด และนับเป็นหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละเก้าสิบ
(2) กรณีหลักทรัพย์ที่ไม่มีตลาดรองรับ ให้ใช้ราคายุติธรรมเช่นเดียวกับการตีราคาเงินลงทุนตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนดหรือมูลค่าตามบัญชีของหลักทรัพย์ดังกล่าว และนับเป็นหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละแปดสิบห้า
(3) กรณีบัตรเงินฝาก ให้ใช้ราคาตามบัญชีหรือราคาตลาด
(4) กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับจำนอง
(ก) อสังหาริมทรัพย์ที่มีการประเมินภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีก่อนวันสิ้นงวดการบัญชีที่จัดทำงบการเงิน ให้นับเป็นหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละแปดสิบของราคาประเมิน
(ข) อสังหาริมทรัพย์ที่มีการประเมินภายในระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีขึ้นไปแต่ไม่เกินสองปีก่อนวันสิ้นงวดการบัญชีที่จัดทำงบการเงิน ให้นับเป็นหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของราคาประเมิน
(ค) อสังหาริมทรัพย์ที่มีการประเมินภายในระยะเวลาเกินกว่าสองปีขึ้นไปแต่ไม่เกินสามปีก่อนวันสิ้นงวดการบัญชีที่จัดทำงบการเงิน ให้นับเป็นหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละหกสิบของราคาประเมิน
(ง) อสังหาริมทรัพย์ที่มีการประเมินเกินกว่าสามปีก่อนวันสิ้นงวดการบัญชีที่จัดทำงบการเงิน ให้นับเป็นหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละห้าสิบของราคาประเมิน
ทั้งนี้ ราคาประเมินต้องมาจากผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบ
(5) กรณีหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินอื่น ให้ใช้ราคาตราหรือราคาอื่นที่เหมาะสม
ข้อ 6 ให้บริษัทหลักทรัพย์ตัดจำหน่ายมูลหนี้จัดชั้นสูญออกจากบัญชีทันทีที่พบรายการดังกล่าว และให้บริษัทหลักทรัพย์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งร้อยของมูลหนี้จัดชั้นสงสัยทั้งจำนวน และหากจำนวนที่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่าค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ได้ตั้งไว้แล้ว ให้บริษัทหลักทรัพย์บันทึกส่วนต่างนั้นเป็นค่าใช้จ่ายในงวดการบัญชีที่มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2543
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ