หลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณและรายงาน การดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทจัดการ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday October 11, 2000 08:12 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 50/2543
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณและรายงาน
การดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน
หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทจัดการ
____________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ข้อ 4 และข้อ 6(1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กน. 41/2543 เรื่อง การกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทจัดการ และข้อกำหนดของบริษัทจัดการ ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"เงินกองทุนหมุนเวียน" หมายความว่า ผลรวมสินทรัพย์สภาพคล่องตาม (ก) (ข) (ค)และ (ง) ที่มีอายุคงเหลือไม่เกินเก้าสิบวัน
"สินทรัพย์สภาพคล่อง" หมายความว่า สินทรัพย์ดังต่อไปนี้ (ก) เงินสดและเงินฝากธนาคาร (ข) บัตรเงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (ค) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ(ง) สินทรัพย์สภาพคล่องอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องตาม (ก) (ข) (ค) และ (ง) ต้องเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพัน
"หลักประกัน" หมายความว่า หลักประกันเพื่อชดเชยความเสียหายของลูกค้าที่อาจเกิดขึ้นโดยลูกค้าได้มีการฟ้องร้อง ทั้งนี้ ต้องมิใช่ความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการจัดการลงทุนตามปกติ อันได้แก่
(ก) กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย
(ข) หนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ
(ค) หลักประกันอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
"สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน" หมายความว่า ผลรวมของสินทรัพย์สภาพคล่องหักด้วยประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจของบริษัทจัดการในระยะเวลาสามเดือนล่วงหน้า
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามข้อ 2(6) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ให้บริษัทจัดการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน และหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินตามแบบ 97 -1 และตามคำอธิบายประกอบแบบดังกล่าว ที่กำหนดท้ายประกาศนี้
ข้อ 3 เมื่อบริษัทจัดการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน และหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินตามข้อ 2 แล้ว ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดทำรายงานการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน และหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของทุกวันทำการให้เสร็จสิ้นภายในวันทำการถัดไป โดยรายงานทุกฉบับต้องมีการลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องโดยบุคคลผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทจัดการนั้น
(2) ยื่นรายงานการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน และหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของวันทำการสุดท้ายของเดือน จำนวนหนึ่งชุดต่อสำนักงานภายในวันที่เจ็ดของเดือนถัดไป
(3) เก็บรักษารายงานการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน และหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินตาม (1) พร้อมเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการจัดทำรายงานดังกล่าว เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันจัดทำรายงาน เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ หรือเพื่อจัดส่งให้สำนักงานเมื่อได้รับการร้องขอ
ข้อ 4 เมื่อปรากฏว่าอัตราส่วนดังต่อไปนี้มีค่าน้อยกว่าร้อยละสิบ ณ สิ้นวันทำการใด ให้บริษัทจัดการยื่นรายงานการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน และหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่จัดทำรายงานดังกล่าวจนกว่าบริษัทจัดการจะสามารถดำรงอัตราส่วนดังกล่าวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละสิบเป็นระยะเวลาสองวันทำการติดต่อกัน
(1) อัตราส่วนเงินกองทุนหมุนเวียนคงเหลือหลังการหักประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจของบริษัทจัดการในระยะเวลาสามเดือนล่วงหน้า ต่อเงินกองทุนหมุนเวียน หรือ
(2) อัตราส่วนเงินกองทุนหมุนเวียนคงเหลือหลังการหักประมาณการรายจ่ายดังกล่าว และการคำนวณความเพียงพอของหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินตามข้อ 2 ต่อเงินกองทุนหมุนเวียน
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2543
(นายประสงค์ วินัยแพทย์)
รองเลขาธิการ
รักษาการแทนเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ