ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ/น. 45/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 21, 2016 15:11 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ/น. 45/2559

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการจัดให้มี

ระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจ

อย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบธุรกิจ

__________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5(1) ประกอบกับข้อ 12(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน

(2) ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์

(3) ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุน

(4) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(5) ผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(6) สถาบันการเงินที่มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจหลักโดยตรงอยู่แล้วและสถาบันการเงินนั้นได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในภายหลัง หากหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีข้อกำหนดหรือแนวทางปฏิบัติให้สถาบันการเงินนั้นปฏิบัติในลักษณะเดียวกับหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบธุรกิจตามประกาศนี้

“งานที่สำคัญ” หมายความว่า งานที่เกี่ยวกับการให้บริการ การทำธุรกรรมหรืองานอื่น ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งหากมีการหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้า การดำเนินงาน ธุรกิจ ชื่อเสียง ฐานะและผลการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

“ผู้จัดการ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงาน

ข้อ 2 เพื่อให้มั่นใจว่างานที่สำคัญของผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องหรือกลับมาดำเนินการได้ในเวลาที่เหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การปฏิบัติงานตามปกติของผู้ประกอบธุรกิจต้องหยุดชะงัก ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีนโยบายการบริหารความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการ

(2) จัดให้มีแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) ที่สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดขึ้นตาม (1) โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการ หรือคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายและแผนดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามวิธีการที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี

เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง คำว่า “ผู้บริหารระดับสูง” หมายความว่า ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับตำแหน่งข้างต้นที่เรียกชื่ออย่างอื่น

ข้อ 3 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการระบุงานที่สำคัญ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้งานที่สำคัญหยุดชะงัก วิเคราะห์ผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของงานที่สำคัญ เพื่อให้สามารถกำหนดลำดับความสำคัญของการดำเนินการและทรัพยากรที่จะใช้ในการดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ (recovery) อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อ 4 แผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามข้อ 2(2) ต้องครอบคลุมงานที่สำคัญ โดยอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อรองรับหรือเรียกคืนการดำเนินงานให้กลับสู่สภาวะปกติที่มีรายละเอียดเพียงพอที่บุคลากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปฏิบัติได้

(2) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในกรณีที่มีการหยุดชะงักของงานที่สำคัญรวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว

(3) การติดต่อสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดวิธีการและช่องทางการติดต่อสื่อสาร และข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบการติดต่อสื่อสาร

ข้อ 5 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานตามข้อ 4(2) และข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบการติดต่อสื่อสารตามข้อ 4(3) โดยต้องปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบันด้วย

ข้อ 6 ในการดำเนินการตามนโยบายการบริหารความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามนโยบายและแผนดังกล่าวอย่างเพียงพอ

(2) จัดให้มีมาตรการในการควบคุมและติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนดังกล่าว

ข้อ 7 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้บริการงานที่สำคัญจากผู้ให้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้แผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องครอบคลุมถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งอาจทำให้การปฏิบัติงานตามปกติของผู้ให้บริการต้องหยุดชะงัก เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจมีการดำเนินการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการจะสามารถให้บริการงานที่สำคัญได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง คำว่า “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า ผู้ให้บริการที่ติดต่อหรือให้บริการกับผู้ลงทุนในนามของผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ให้บริการในงานที่สำคัญและงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

(1) ทดสอบและทบทวนแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

(2) ประเมินผลการทดสอบตาม (1) และจัดทำรายงานผลการประเมินดังกล่าว โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ต้องมีความรู้ความสามารถและมีความเป็นอิสระ ในการปฏิบัติหน้าที่

(3) รายงานผลการดำเนินการตาม (1) และ (2) ต่อคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการดังกล่าว

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ระบบงานหรือปัจจัยอื่น ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการดำเนินการตาม (1) โดยเร็ว

ข้อ 9 ในกรณีที่เกิดการหยุดชะงักของงานที่สำคัญของผู้ประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งเหตุที่ทำให้งานที่สำคัญหยุดชะงักพร้อมรายละเอียดให้สำนักงานทราบในโอกาสแรกที่ทำได้โดยต้องไม่เกินวันทำการถัดจากวันที่เกิดการหยุดชะงักของงานที่สำคัญดังกล่าว และเมื่อการหยุดชะงักของงานที่สำคัญสิ้นสุดลงแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งให้สำนักงานทราบโดยเร็ว

ข้อ 10 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามข้อ 8 และข้อ 9 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีนับแต่วันที่จัดทำเอกสารหลักฐานนั้น โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ

ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ