ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 53/2561 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 5)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 28, 2018 13:50 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 53/2561

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

(ฉบับที่ 5)

________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (3) ในข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ข) งบการเงินดังนี้ของผู้ขออนุญาต ต้องถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 18

1. กรณีมีงบการเงินหรืองบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นงบการเงินหรืองบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชีล่าสุดก่อนยื่นคำขอ ได้แก่ งบการเงินและงบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชี 3 ปีล่าสุดและงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ

2. กรณีอื่นนอกจาก 1. ได้แก่ งบการเงินและงบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชีล่าสุดและงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 18 งบการเงินตามข้อ 12(3) (ข) 1. หรือ 2. แล้วแต่กรณี ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่นที่ออกตามความในมาตรา 56

(2) ผ่านการตรวจสอบ หรือสอบทาน (กรณีงบการเงินรายไตรมาส) จากผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยผู้สอบบัญชีดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตามมาตรฐานการสอบบัญชี

(3) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีตาม (2) ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้

(ก) การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำงบการเงินนั้น

(ข) ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณีโดยการกระทำหรือไม่กระทำของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือของกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีบริษัทย่อย ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าบริษัทย่อยดังกล่าวสามารถจัดทำข้อมูลทางการเงินและข้อมูลการเปิดเผยอื่นให้แก่ผู้ขออนุญาตเพื่อให้ผู้ขออนุญาตสามารถจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (1)”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 23 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 23 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตามข้อ 12 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีการประกอบธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะมีธุรกิจเดียวหรือหลายธุรกิจผ่านบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 24 ไม่ว่าบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท

(2) ขนาดของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24 ทุกบริษัทรวมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของผู้ขออนุญาตมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ทั้งนี้ เฉพาะขนาดของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือของบริษัทตามข้อ 24(2) มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของขนาดของผู้ขออนุญาต

(3) การดำเนินงานของผู้ขออนุญาตไม่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) และไม่มีพฤติกรรมอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เว้นแต่มีการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24 โดยขนาดของบริษัทอื่นดังกล่าวทุกบริษัทรวมกันมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 ของขนาดของผู้ขออนุญาต

(4) มีกลไกการกำกับดูแลที่ทำให้ผู้ขออนุญาตสามารถควบคุมดูแลการจัดการและรับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) ได้ เสมือนเป็นหน่วยงานหนึ่งของผู้ขออนุญาต รวมทั้งมีมาตรการในการติดตามการบริหารงานของบริษัทดังกล่าวเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ในเงินลงทุนของผู้ขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 25

(5) บริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) ต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้ขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 โดยอนุโลม ยกเว้นหลักเกณฑ์ในเรื่องโครงสร้างคณะกรรมการและ การจัดการตามข้อ 12(2) (ข) และงบการเงินตามข้อ 18 วรรคหนึ่ง

(6) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) เป็นบริษัทต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ด้วย

(ก) กรรมการของบริษัทดังกล่าวอย่างน้อย 1 คนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

(ข) แสดงได้ว่ากฎหมายและกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารกิจการของบริษัทและการคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญเทียบเคียงได้กับกฎหมายที่กำกับดูแลบริษัทมหาชนจำกัดของประเทศไทย หรือแสดงได้ว่ามีกลไกที่จะทำให้การบริหารกิจการของบริษัทและการคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญดังกล่าวเทียบเท่ากับกฎหมายที่กำกับดูแลบริษัทมหาชนจำกัดของประเทศไทย

(7) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) เป็นบริษัทต่างประเทศ หากผู้ขออนุญาตมีบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของ จำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต หรือผู้ขออนุญาตมีบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าในจำนวนใด ๆ เป็นผู้มีบทบาทในการบริหารจัดการผู้ขออนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน (6) แล้ว ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการอย่างน้อย 2 คนเป็นบุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยด้วย โดยอย่างน้อย 1 คนในจำนวนดังกล่าวต้องเป็นกรรมการตรวจสอบตามข้อ 17(3)

(ข) ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศที่บริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้น หรือมีการประกอบธุรกิจที่มีนัยสำคัญ จะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานในการตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว

(ค) แสดงได้ว่าผู้ขออนุญาตได้จัดให้มีสัญญาที่ผูกพันที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตให้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดในวรรคสอง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับจากวันที่ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ โดยสัญญาดังกล่าวต้องไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลิกสัญญาในลักษณะที่อาจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตหรือที่ปรึกษาทางการเงินใช้เป็นเหตุในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสัญญาตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อกำหนดให้ที่ปรึกษาทางการเงินชี้แจงข้อมูลเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนดในข้อ 21(2) (3) และ (4) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน และติดตามดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการออกและเสนอขายหลักทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. การจัดทำและส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และสารสนเทศอื่นที่สำคัญของผู้ขออนุญาต

2. การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 57 และมาตรา 58

3. การปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน ตลอดจนร่วมจัดทำรายงานและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

(ง) มูลค่าของหุ้นที่ขออนุญาตเสนอขายยังอยู่ในวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดสำหรับการควบคุมการทำธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ

ความในวรรคหนึ่ง (6) (ข) และ (7) มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ขนาดของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) ที่เป็นบริษัทต่างประเทศมีสัดส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับขนาดของผู้ขออนุญาต

การพิจารณาขนาดของผู้ขออนุญาตและขนาดของบริษัทตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) และวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานกำหนด”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (4) ในข้อ 28 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ข) แสดงได้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 23(6) (ข)”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (6) ของข้อ 38 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(6) ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามความในมาตรา 56 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในคำขออนุญาต หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวด้วย เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง โดยไม่มีเสียงคัดค้านตั้งแต่ร้อยละ 10 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงนั้น

(ข) กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินอย่างไม่เป็นนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด”

ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ