ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 63/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 5, 2018 15:19 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 63/2561

เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขาย

ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท

______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 40(11) มาตรา 41(3) และ (4) มาตรา 42(10) และ มาตรา 43(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 58/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 29/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท (ฉบับที่ 2)ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 3/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท (ฉบับที่ 3)ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“กิจการต่างประเทศ” หมายความว่า กิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศดังต่อไปนี้

(1) หน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ

(2) องค์การระหว่างประเทศ

(3) นิติบุคคลต่างประเทศ

“ตราสารหนี้” หมายความว่า ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ดังต่อไปนี้

(1) พันธบัตร

(2) หุ้นกู้

“หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” หมายความว่า หุ้นกู้ไม่มีประกันที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ ไว้ด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไป

“ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ และให้หมายความรวมถึงข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกพันธบัตรและผู้ถือพันธบัตรด้วย

“ที่ปรึกษาทางการเงิน” หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงาน ให้ความเห็นชอบ

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน” หมายความว่า ตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาด ตราสารหนี้ไทย

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” หมายความว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยที่ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน คำว่า “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” “แบบแสดงรายการข้อมูล” “บริษัทจดทะเบียน”“บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” “บริษัทร่วม” “ผู้บริหาร” “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” “หุ้นกู้ระยะสั้น” และ “หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าว ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนด บทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

ภาค 1

บททั่วไป

______________________

หมวด 1

ขอบเขตของประกาศและหลักเกณฑ์ทั่วไป

______________________

ข้อ 4 ประกาศนี้เป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินบาทโดยกิจการต่างประเทศซึ่งรองรับกรณีดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายตราสารหนี้ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในภาค 2

(2) การเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในภาค 3ตราสารหนี้สกุลเงินบาทตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อตกลงให้การชำระค่าตราสารหนี้และการชำระหนี้ตามตราสารเป็นสกุลเงินบาท

ข้อ 5 กิจการต่างประเทศที่ประสงค์จะเสนอขายตราสารหนี้อาจยื่นข้อมูลหรือเอกสารต่อสำนักงานที่จัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้

ในกรณีที่ข้อมูลหรือเอกสารตามวรรคหนึ่งแปลมาจากข้อมูลที่เป็นภาษาอื่น กิจการต่างประเทศต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) รับรองว่าสาระของข้อมูลหรือเอกสารที่แปลนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริง และไม่ได้มีการปกปิดข้อเท็จจริงที่พึงเปิดเผย

(2) ให้ผู้แปลรับรองความถูกต้องว่า สาระการแปลถูกต้องตรงตามสาระของข้อมูลหรือเอกสารที่เป็นต้นฉบับ

ข้อ 6 ข้อมูลหรือเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานตามประกาศนี้ หากได้จัดทำเป็นภาษาใด ในครั้งแรก ให้จัดทำโดยใช้ภาษานั้นต่อไปทุกครั้ง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นสมควร และได้รับ การผ่อนผันจากสำนักงาน

ข้อ 7 เอกสารหรือหลักฐานที่ต้องยื่นต่อสำนักงานตามที่กำหนดในประกาศนี้ ไม่ว่าก่อนหรือภายหลังได้รับอนุญาต ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 8 ในการจำหน่ายตราสารหนี้ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามภาค 2 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วย การจำหน่ายตราสารหนี้และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ด้วย

หมวด 2

อำนาจสำนักงาน

_____________________

ข้อ 9 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ตามคำขออนุญาตได้

(1) กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตหรือการเสนอขายตราสารหนี้มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายตราสารหนี้นั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศนี้

(2) การเสนอขายตราสารหนี้อาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ

(3) การเสนอขายตราสารหนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม

(4) การเสนอขายตราสารหนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวมหรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 10 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผัน ไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้ มาใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารหนี้ที่ได้รับอนุญาตได้

(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว

(2) กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(3) กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

การผ่อนผันตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้กิจการต่างประเทศต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ข้อ 11 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ว่าข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่สำนักงานนำมาพิจารณาเพื่ออนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไปซึ่งหากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นปรากฏต่อสำนักงานก่อนการอนุญาต สำนักงาน อาจไม่อนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้นั้น ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารของกิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาต ชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และระงับ การอนุญาตให้ออกตราสารหนี้หรือให้กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายตราสารหนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้อง และหากกิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารของกิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาต ไม่สามารถชี้แจงหรือดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด สำนักงานอาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตตาม (2) ได้

(2) สั่งเพิกถอนการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในส่วนที่ยังไม่ได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อในการสั่งการตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ประกอบการพิจารณา

(1) ความร้ายแรงของข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

(2) ผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่จองซื้อตราสารหนี้นั้น

ข้อ 12 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจสั่งไม่ให้การอนุญาตสำหรับการเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดที่ได้รับอนุญาตมีผล สั่งระงับการเสนอขายตราสารหนี้ หรือสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ได้ แล้วแต่กรณี

(1) กิจการต่างประเทศที่จะเสนอขายตราสารหนี้มีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ หรือจะไม่สามารถปฏิบัติ ตามประกาศนี้ได้

(2) การเสนอขายตราสารหนี้มีลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ออกภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(3) การเสนอขายตราสารหนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนหรืออาจทำให้ ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 13 ในระหว่างอายุโครงการตามข้อ 23 และข้อ 53 หากปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานว่ากิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตไม่สามารถดำรงคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การอนุญาต ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต หรือมีการเปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อประชาชน ที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน สำนักงานอาจสั่งระงับการเสนอขาย ตราสารหนี้ไว้ก่อน หรือสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในลักษณะโครงการได้

ภาค 2

การเสนอขายตราสารหนี้ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป

____________________

หมวด 1

หลักเกณฑ์การอนุญาต

____________________

ข้อ 14 กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) แสดงได้ว่ามีการดำเนินการภายใต้ข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง

(2) แสดงได้ว่าสามารถเสนอขายตราสารหนี้ได้โดยชอบภายใต้กฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่บังคับกับกิจการดังกล่าว

(3) งบการเงินของกิจการต่างประเทศและงบการเงินรวมประจำงวดการบัญชีปีล่าสุด และงบการเงินประจำงวด 6 เดือนการบัญชีปีล่าสุดหรืองบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานรายงานทางการเงินและเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดการจัดทำงบการเงินของบริษัทต่างประเทศ

(ข) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้

1. ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของกิจการต่างประเทศและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

2. แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไป ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

3. แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของกิจการต่างประเทศ หรือกรรมการหรือผู้บริหารของกิจการดังกล่าวความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีที่เป็นการเสนอขายตราสารหนี้ในนามของรัฐบาลต่างประเทศ

(4) ไม่อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(ก) ค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56

(ข) ค้างส่งรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงานตามมาตรา 57 หรือค้างส่งรายงานในลักษณะเดียวกันต่อตลาดหลักทรัพย์

(ค) ปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน หรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานแจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือปรับปรุงแก้ไขในลักษณะเดียวกันตามที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งให้ดำเนินการ

(ง) ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 58 หรือตามมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี

(5) ไม่มีลักษณะตามข้อ 15 เว้นแต่กรณีกิจการต่างประเทศเป็นบริษัทจดทะเบียน กิจการดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเฉพาะตามที่กำหนดในข้อ 15(1) (ก)

          (6)  ไม่เคยเสนอขายตราสารหนี้ ตั๋วเงิน หรือศุกูก โดยฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะการเสนอขายที่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ภายในระยะเวลา 2 ปี        ก่อนวันยื่นคำขออนุญาต  เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยกิจการต่างประเทศแสดงได้ว่า มีเหตุจำเป็นและสมควร รวมทั้งมีมาตรการป้องกันการไม่ปฏิบัติดังกล่าวอย่างเหมาะสมแล้ว

(7) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่ามีพฤติกรรมการเปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อประชาชนไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือในลักษณะที่อาจทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด

(8) ไม่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ยของตราสารหนี้ หรือผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(9) ไม่อยู่ระหว่างผิดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ

(10) มีบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศได้ และแสดงได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวจะต้องดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องตลอดอายุของตราสาร

(11) ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศที่กิจการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นจะไม่ให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานในการตรวจสอบหรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว

(12) กรณีกิจการต่างประเทศที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างประเทศต้องไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่ากรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) มีผลประโยชน์อื่นที่อาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการ เว้นแต่สามารถแสดงได้ว่ามีกลไกที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า การบริหารจัดการกิจการจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการและผู้ถือหุ้นโดยรวม

(ข) มีการถ่ายเทผลประโยชน์ออกจากกิจการ

ข้อ 15 กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นไป ตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 16

(1) ภายในระยะเวลา 5 ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ กิจการดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะดังนี้

(ก) เคยมีประวัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ

(ข) เคยถูกสำนักงานปฏิเสธคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ เนื่องจากมีเหตุ ที่มีนัยสำคัญอันควรสงสัยเกี่ยวกับกลไกการบริหารจัดการในลักษณะดังนี้

1. อาจไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นได้อย่างเป็นธรรมโดยอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งจะทำให้ได้เปรียบผู้ถือหุ้นรายอื่น หรือได้ประโยชน์มากกว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นโดยไม่สมควร

2. อาจไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นได้โดยทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับประโยชน์ทางการเงินนอกเหนือจากที่พึงได้ตามปกติ หรือโดยทำให้บริษัทเสียประโยชน์ที่พึงได้รับ

(ค) เคยถูกสำนักงานปฏิเสธคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้สงสัยเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่ไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด ซึ่งมีลักษณะเป็นการปกปิดหรืออำพราง หรือสร้างข้อมูลที่อาจ ไม่มีอยู่จริงในรายการหรือการดำเนินการที่มีนัยสำคัญ

(ง) เคยถอนคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่โดยไม่มีการชี้แจงเหตุสงสัย ตาม (ข) หรือ (ค) ต่อสำนักงาน หรือโดยมีการชี้แจงแต่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอย่างสมเหตุสมผลที่จะหักล้างข้อสงสัยตาม (ข) หรือ (ค) นั้น

(2) ภายในระยะเวลา 10 ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ กิจการดังกล่าวเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจาก การดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริต อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

(3) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตอันเป็นเหตุ ที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

(4) เป็นบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการจัดรูปแบบเพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะ ตาม (1) (2) หรือ (3) หลีกเลี่ยงมิให้สำนักงานใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตาม (1) (2) หรือ (3) กับบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว

ข้อ 16 มิให้นำความในข้อ 15(1) และ (2) แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับกับกิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตซึ่งได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเหตุ ระบบงาน ระบบการบริหารจัดการ และการควบคุมการดำเนินงานที่ทำให้กิจการดังกล่าวมีลักษณะตามข้อ 15(1) และ (2) แล้ว

ข้อ 17 กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(2) เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามที่กำหนดโดยกฎหมายของประเทศที่กิจการต่างประเทศจัดตั้งขึ้น และกิจการดังกล่าวต้องเป็นกิจการที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียนที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศนั้น ๆ ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสำนักงานตาม Memorandum of Understanding on Streamlined Review Framework for ASEAN Common Prospectus

หมวด 2

วิธีการยื่นและการพิจารณาคำขออนุญาต

ในลักษณะรายครั้งและโครงการ

__________________________

ข้อ 18 ให้กิจการต่างประเทศที่ประสงค์จะเสนอขายตราสารหนี้ยื่นคำขออนุญาตมาพร้อมกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ต่อสำนักงานตามวิธีการที่กำหนดโดยข้อ 7 โดยให้ยื่นคำขออนุญาตได้ตามลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) การขออนุญาตในลักษณะรายครั้ง

(2) การขออนุญาตในลักษณะโครงการ

ในการขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกกิจการ (perpetual bond) ให้ยื่นคำขออนุญาตได้เฉพาะในลักษณะรายครั้งเท่านั้น

ข้อ 19 ในการขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ตามข้อ 18 ให้กิจการต่างประเทศยื่นคำขอความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มาพร้อมกับคำขออนุญาตด้วย ทั้งนี้ ให้ถือว่ากิจการต่างประเทศได้รับความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จากสำนักงานในวันที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้

ข้อ 20 ให้กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตต่อสำนักงาน เมื่อสำนักงานได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

ข้อ 21 กิจการต่างประเทศต้องจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้ร่วมจัดทำคำขออนุญาต

ข้อ 22 เมื่อสำนักงานได้รับคำขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ให้สำนักงานดำเนินการสอบทานข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนและแจ้งประเด็นข้อสังเกตที่ได้จากการสอบทานข้อเท็จจริงเพื่อให้กิจการต่างประเทศชี้แจงข้อสังเกตนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งข้อสังเกต โดยต้องดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำชี้แจงต่อข้อสังเกตจากการสอบทานข้อเท็จจริงจากกิจการต่างประเทศในกรณีที่กิจการต่างประเทศประสงค์จะขอผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ ให้กิจการดังกล่าวยื่นคำขอผ่อนผัน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอผ่อนผันต่อสำนักงานก่อนที่สำนักงานจะเริ่มการพิจารณาคำขออนุญาต ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน โดยสำนักงานจะพิจารณาคำขอผ่อนผันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดียวกันกับการพิจารณาอนุญาต

ข้อ 23 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในลักษณะโครงการสามารถเสนอขายตราสารหนี้ได้ทุกลักษณะโดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขาย นับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาอนุญาตตามข้อ 22 จนสิ้นสุดอายุโครงการ รวมถึงให้ถือว่ากิจการต่างประเทศดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ในลักษณะโครงการด้วย ทั้งนี้ ให้การอนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ในลักษณะโครงการมีอายุ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน

ข้อ 24 ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 23 หากปรากฏว่ากิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในลักษณะโครงการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติให้เป็นไปตาม หมวด 1 ได้ กิจการต่างประเทศดังกล่าวจะดำเนินการเสนอขายตราสารหนี้ตามข้อ 23 ไม่ได้จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติได้ก่อนสิ้นระยะเวลาตามข้อ 23 หากกิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ก่อนที่จะแก้ไขคุณสมบัติได้ ให้ถือว่าเป็นการเสนอขายตราสารหนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ ทั้งนี้ กิจการต่างประเทศดังกล่าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 29 หรือข้อ 42 แล้วแต่กรณี ด้วย

หมวด 3

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต

______________________

ข้อ 25 ให้กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินบาท ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามหมวด 2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) กรณีเสนอขายพันธบัตร ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนที่ 1

(2) กรณีเสนอขายหุ้นกู้ ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนที่ 2

ส่วนที่ 1

กรณีเสนอขายพันธบัตร

______________________

ข้อ 26 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้พันธบัตรที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไปมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มีคำเรียกชื่อเป็นการเฉพาะ และแสดงถึงปีที่ครบกำหนดไถ่ถอนไว้อย่างชัดเจน

(2) มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างแน่นอน หรือเป็นอัตราที่ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยอื่น

(3) มีมูลค่าไถ่ถอนรวมเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตร ทั้งนี้ ไม่ว่าพันธบัตรนั้นจะมีการไถ่ถอนครั้งเดียวหรือหลายครั้ง

(4) ไม่มีข้อตกลงใด ๆ ที่ทำให้พันธบัตรนั้นมีลักษณะทำนองเดียวกับหุ้นกู้ที่มี อนุพันธ์แฝงเว้นแต่เป็นพันธบัตรที่ผู้ออกมีสิทธิในการบังคับไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (callable) หรือผู้ถือมีสิทธิเรียกให้ผู้ออกชำระหนี้คืนก่อนกำหนด (puttable) โดยมีการกำหนดผลตอบแทนไว้ อย่างแน่นอนหรือเป็นอัตราที่ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยอื่น และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนที่อ้างอิงกับปัจจัยอ้างอิงอื่นเพิ่มเติม

ข้อ 27 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการเสนอขายพันธบัตร และจัดทำอย่างต่อเนื่องตลอดอายุของพันธบัตร โดยต้องเป็นอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรที่เสนอขายในแต่ละครั้งนั้น

          (2)  อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันพันธบัตร เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ตามพันธบัตรเต็มจำนวนซึ่งมีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้          โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของพันธบัตรความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีดังนี้

(1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานมีหนังสือแจ้ง ต่อสำนักงานว่าไม่สามารถจัดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรดังกล่าวได้โดยมีเหตุอันสมควร และเหตุนั้นไม่ได้เกิดจากกิจการต่างประเทศที่ออกพันธบัตร สำนักงานอาจผ่อนผันให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นกระทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นที่สำนักงานกำหนดได้

(2) กรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยมีเหตุจำเป็นและสมควร หรือเป็นกรณีที่พิจารณาได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 28 กิจการต่างประเทศต้องยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับพันธบัตรที่เสนอขายเป็นตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกพันธบัตรดังกล่าว

ข้อ 29 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายพันธบัตรในลักษณะโครงการที่ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติตามข้อ 14(3) หรือข้อ 15(2) และ (3) ได้ ต้องแจ้งการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวต่อสำนักงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงกรณีนั้น

ข้อ 30 ให้กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายพันธบัตรส่งรายงานดังต่อไปนี้ ต่อสำนักงานตามวิธีการที่กำหนดโดยข้อ 7

(1) รายงานการไถ่ถอนพันธบัตรก่อนครบอายุ

(2) รายงานอัตราส่วนที่มีนัยสำคัญทางการเงินของกิจการรายปี (key financial ratio)

ข้อ 31 ให้นำหลักเกณฑ์เดียวกับรายการและสาระสำคัญของข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้ตามข้อ 37 และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ตามข้อ 38 มาใช้บังคับกับการเสนอขายพันธบัตร โดยอนุโลม

ส่วนที่ 2

กรณีเสนอขายหุ้นกู้

______________________

ข้อ 32 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้หุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชน เป็นการทั่วไปมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีคำเรียกชื่อเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงถึงหุ้นกู้ที่เสนอขาย ในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ คำเรียกชื่อหุ้นกู้ดังกล่าวต้องแสดงถึงปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน และลักษณะพิเศษ ของหุ้นกู้ (ถ้ามี) ไว้โดยชัดเจน

(2) มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างแน่นอน หรือเป็นอัตราที่ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยอื่น

(3) มีมูลค่าไถ่ถอนรวมเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นกู้ ทั้งนี้ ไม่ว่าหุ้นกู้นั้นจะมีการไถ่ถอนครั้งเดียวหรือหลายครั้ง

(4) ต้องไม่มีลักษณะดังนี้

(ก) เป็นหุ้นกู้เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(ข) เป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เว้นแต่เป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่ผู้ออกมีสิทธิ

ในการบังคับไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (callable) หรือผู้ถือมีสิทธิเรียกให้ผู้ออกชำระหนี้คืนก่อนกำหนด (puttable) โดยมีการกำหนดผลตอบแทนไว้อย่างแน่นอนหรือเป็นอัตราที่ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยอื่น และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนที่อ้างอิงกับปัจจัยอ้างอิงอื่นเพิ่มเติม

(5) จัดให้สัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 39

ข้อ 33 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวต้องด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญเฉพาะในเรื่องการรับชำระหนี้ตามหุ้นกู้นั้นเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) กิจการต่างประเทศที่ออกหุ้นกู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

(2) มีการชำระบัญชีเพื่อการเลิกกิจการ

(3) กรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 34 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกกิจการ ต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิเรียกให้กิจการต่างประเทศที่ออกหุ้นกู้ไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าว ก่อนมีการเลิกกิจการ

(2) ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเรียกให้กิจการต่างประเทศที่ออกหุ้นกู้ไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าว ก่อนมีการเลิกกิจการตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ข้อ 35 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้มีประกันไม่ว่าการประกันของหุ้นกู้นั้น จะจัดให้มีพร้อมกับการเสนอขายหุ้นกู้หรือจัดเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง หลักประกันของหุ้นกู้ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นทรัพย์สินหรือการค้ำประกันที่มีการดำเนินการให้มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงสภาพของหลักประกันแต่ละประเภท สามารถดำรงได้ตลอดอายุหุ้นกู้ และดูแลได้โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่เป็นหรือเกี่ยวข้องกับหลักประกันซึ่งเป็นทรัพย์สินอื่นใดที่ไม่ใช่ตราสารทางการเงิน ทรัพย์สินดังกล่าวต้องอยู่ในประเทศไทยและบังคับได้ตามกฎหมายไทย

(2) ในกรณีที่หลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสัญญาเช่าระยะยาว กิจการต่างประเทศ ที่ออกหุ้นกู้ต้องจัดให้มีการประเมินค่าของหลักประกันดังกล่าวโดยผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ การประเมินราคาหรือการคำนวณมูลค่าของหลักประกันต้องคำนึงถึงสิทธิและภาระผูกพันใด ๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยบทกฎหมายหรือโดยสัญญาที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นด้วย และต้องจัดทำขึ้นไม่เกินกว่า 1 ปีก่อนวันที่ออกหุ้นกู้นั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ราคาหรือมูลค่าของหลักประกันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวให้ผู้ออกหุ้นกู้จัดให้มีการประเมินค่าหลักประกันดังกล่าวใหม่

ข้อ 36 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้มีประกันโดยหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย กิจการต่างประเทศต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นเป็นประกันตามกฎหมายด้วย

ข้อ 37 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีข้อกำหนดสิทธิที่มีความชัดเจนและไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม และมีการลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของกิจการต่างประเทศและประทับตราของกิจการดังกล่าว (ถ้ามี) ทั้งนี้ รายการและสาระสำคัญของข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้ ให้เป็นไปตามมาตรา 42

          ข้อ 38   การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หรือหลักประกันตามหุ้นกู้ภายหลังการออกหุ้นกู้ จะกระทำได้ต่อเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์    ของประกาศนี้และการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ดำเนินการโดยชอบตามข้อกำหนดสิทธิ โดยกิจการต่างประเทศต้องแจ้งการแก้ไขเพิ่มเติม  พร้อมทั้งส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานและ    สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยภายใน 15 วันนับแต่วันที่การแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิซึ่งกำหนด ให้กระทำได้โดยการมีมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ต้องระบุอย่างชัดเจนถึงสาเหตุแห่งการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิ และผลกระทบที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นกู้

ข้อ 39 กิจการต่างประเทศต้องจัดให้สัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีความสอดคล้อง กับข้อกำหนดสิทธิ โดยอย่างน้อยต้องมีรายการและสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา

(2) วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ

(3) อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญา โดยมีข้อตกลงที่ระบุให้กิจการต่างประเทศและผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดตามข้อกำหนดสิทธิทุกประการ

(4) อัตราและวิธีการจ่ายค่าตอบแทน หรือบำเหน็จในการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งต้องกำหนดไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน รวมทั้งอัตราและวิธีการจ่ายคืนเงินทดรองซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้จ่ายไปเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(5) การสิ้นสุดของสัญญา

ข้อ 40 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ และจัดทำอย่างต่อเนื่องตลอดอายุของหุ้นกู้ โดยต้องเป็นอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้งนั้น

(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นหุ้นกู้มีประกัน ที่มีการค้ำประกันเต็มจำนวนที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถ เพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีดังนี้

(1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานมีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานว่าไม่สามารถจัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ดังกล่าวได้โดยมีเหตุอันสมควร และเหตุนั้นไม่ได้เกิดจากหน่วยงานภาครัฐไทยที่ออกหุ้นกู้ สำนักงานอาจผ่อนผันให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นกระทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นที่สำนักงานกำหนดได้

(2) กรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยมีเหตุจำเป็นและสมควร หรือเป็นกรณีที่พิจารณาได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 41 กิจการต่างประเทศต้องยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกหุ้นกู้ดังกล่าว

ข้อ 42 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ในลักษณะโครงการที่ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติตามข้อ 14(3) หรือข้อ 15(2) และ (3) ได้ ต้องแจ้งการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวต่อสำนักงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงกรณีนั้น

ข้อ 43 ให้กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ส่งรายงานดังต่อไปนี้ ต่อสำนักงานตามวิธีการที่กำหนดโดยข้อ 7

(1) รายงานการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ภายหลังการออกหุ้นกู้ ทั้งนี้ เมื่อกิจการต่างประเทศได้ส่งเอกสารต่อสำนักงานครบถ้วนแล้ว ให้กิจการดังกล่าวเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ โดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว

(2) รายงานการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบอายุ

(3) รายงานอัตราส่วนที่มีนัยสำคัญทางการเงินของกิจการรายปี (key financial ratio)

ภาค 3

การเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัด

______________________________

ข้อ 44 หลักเกณฑ์ในภาคนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินบาทของกิจการต่างประเทศต่อบุคคลในวงจำกัดตามลักษณะที่กำหนดในหมวด 1

ข้อ 45 การอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินบาทของกิจการต่างประเทศ ต่อบุคคลในวงจำกัด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์การอนุญาตและการยื่นคำขออนุญาตในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ของหมวด 2 ทั้งนี้ กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในส่วนที่ 3 ของหมวด 2 ด้วย

(2) การเสนอขายลักษณะอื่นที่ไม่ใช่การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตาม (1) ให้ถือว่าได้รับอนุญาตเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 1 ของหมวด 3 ทั้งนี้ กิจการต่างประเทศ ที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในส่วนที่ 2 ของหมวด 3 ด้วย

หมวด 1

ลักษณะการเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัด

__________________________

ข้อ 46 การเสนอขายตราสารหนี้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นการเสนอขายในวงจำกัด

(1) เสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือนใด ๆ

(2) เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน

(3) เสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่

(4) เสนอขายโดยได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน โดยกิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องแสดงได้ว่า

(ก) มีเหตุจำเป็นและสมควร

(ข) การเสนอขายดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง

(ค) มีมาตรการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนอย่างเพียงพอแล้ว

ข้อ 47 การพิจารณาลักษณะการเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดตามข้อ 46 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงตามข้อ 46(1) หากเป็นกรณีที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ค้าหลักทรัพย์ หรือบุคคลอื่นใด ถือครองตราสารหนี้แทนบุคคลอื่น ให้นับจำนวนผู้ลงทุนจากบุคคลที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงของตราสารหนี้นั้น

(2) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันตามข้อ 46(2) หรือการเสนอขายต่อผู้ลงทุน รายใหญ่ตามข้อ 46(3) ไม่รวมถึงการเสนอขายต่อผู้ลงทุนดังกล่าวที่ได้จดข้อจำกัดการโอนไว้ ไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือนใด ๆ โดยให้ถือว่ากรณีดังกล่าวเป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงตามข้อ 46(1)

(3) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 46(3) ให้หมายความรวมถึง การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันด้วย

หมวด 2

การเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัด

ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่

__________________________

ข้อ 48 ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 46(3)

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์การอนุญาต

__________________________

ข้อ 49 กิจการต่างประเทศจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กิจการต่างประเทศมีลักษณะตามข้อ 14(1) (2) (3) (4) (5) (6) (10) และ (11) และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 15 และข้อ 16 ด้วย

(2) แบบแสดงรายการข้อมูลมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ในการขออนุญาตในลักษณะโครงการ แบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าวให้หมายถึงเฉพาะแบบแสดงรายการข้อมูลที่ได้ยื่นมาพร้อมกับคำขออนุญาตเท่านั้น

ข้อ 50 กิจการต่างประเทศที่ขออนุญาตต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีลักษณะตามข้อ 17

(2) เป็นทรัสตีได้ตามกฎหมายต่างประเทศหรือสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีลักษณะตามข้อ 14(11)

(3) เป็นบุคคลอื่นใดที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณี

ส่วนที่ 2

การยื่นคำขออนุญาต

__________________________

ข้อ 51 กิจการต่างประเทศที่ประสงค์จะเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุน รายใหญ่ต้องยื่นคำขออนุญาต และจดข้อจำกัดการโอนกับสำนักงาน ให้นำความในข้อ 18 ข้อ 19 และข้อ 20 มาใช้บังคับกับการยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม

ข้อ 52 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 15 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน

ในกรณีที่กิจการต่างประเทศประสงค์จะขอผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ ให้กิจการต่างประเทศยื่นคำขอผ่อนผัน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอผ่อนผันต่อสำนักงานมาพร้อมกับการยื่นคำขออนุญาต ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนโดยสำนักงานจะพิจารณาคำขอผ่อนผันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดียวกันกับการพิจารณาอนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 53 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ในลักษณะโครงการสามารถเสนอขายตราสารหนี้ได้ทุกลักษณะโดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขายนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานตามข้อ 52 จนสิ้นสุดอายุโครงการ ทั้งนี้ ให้การอนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ในลักษณะโครงการมีอายุ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน

ข้อ 54 ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 53 หากปรากฏว่ากิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ในลักษณะโครงการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติให้เป็นไปตามข้อ 49(1) ได้ กิจการต่างประเทศที่ดังกล่าวจะดำเนินการเสนอขายตราสารหนี้ตามข้อ 53 ไม่ได้จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติได้ก่อนสิ้นระยะเวลาตามข้อ 53 หากกิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ก่อนที่จะแก้ไขคุณสมบัติได้ ให้ถือว่าเป็นการเสนอขายตราสารหนี้โดยที่ไม่ได้ รับอนุญาตตามประกาศนี้ ทั้งนี้ กิจการต่างประเทศมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 58(8) ด้วย

ส่วนที่ 3

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต

__________________________

ข้อ 55 ให้กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนนี้

ข้อ 56 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้ตราสารหนี้ที่เสนอขาย ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุนรายใหญ่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) พันธบัตรต้องมีลักษณะเป็นไปตามข้อ 26 และหุ้นกู้ต้องมีลักษณะเป็นไป ตามข้อ 32(1) (2) (3) และ (4)

(2) เป็นตราสารหนี้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ และต้องมีข้อความในใบตราสารที่เสนอขาย แต่ละครั้งแสดงว่ากิจการต่างประเทศจะไม่รับจดทะเบียนการโอนตราสารไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนตราสารตามที่ระบุไว้ ซึ่งต้องเป็นข้อจำกัดการโอนเดียวกับที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน

(3) กรณีเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกกิจการ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 33 หรือข้อ 34 แล้วแต่กรณี

(4) กรณีกิจการต่างประเทศจัดให้มีเอกสารประกอบการเสนอขายตราสารหนี้ เอกสารดังกล่าวจะต้องมีข้อความที่ระบุถึงข้อจำกัดการโอน และในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ ด้อยสิทธิ ให้ระบุการด้อยสิทธินั้นไว้ให้ชัดเจน

ข้อ 57 ในกรณีกิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตประสงค์จะจัดให้มีที่ปรึกษา ทางการเงินเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลของกิจการต่างประเทศเพื่อให้คำแนะนำในการกำหนดลักษณะข้อตกลง เงื่อนไข และอายุที่เหมาะสมในการเสนอขายตราสารหนี้ กิจการต่างประเทศต้องมอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินนั้นวิเคราะห์ข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะการประกอบธุรกิจ และแผนธุรกิจในอนาคต

(2) ข้อมูลทางการเงินที่สำคัญตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน หรือข้อมูล การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(3) วัตถุประสงค์การใช้เงิน

(4) แหล่งเงินทุนสำรองในการชำระหนี้

(5) ทรัพย์สินที่อาจใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้

กิจการต่างประเทศตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการดังนี้ด้วย

(1) จัดส่งข้อมูลที่จำเป็นซึ่งมีความถูกต้องและครบถ้วนให้ที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง

(2) จัดให้มีข้อตกลงให้ที่ปรึกษาทางการเงินจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่จัดทำขึ้น ตามวรรคหนึ่งไว้อย่างน้อย 3 ปี

ข้อ 58 กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุน รายใหญ่ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้การชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหรือลงทุนในตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ประเภทที่สามารถเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวเกี่ยวกับตราสารหนี้ได้

(2) จัดให้มีการแจกสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ให้แก่ผู้ลงทุนก่อนการเสนอขาย

(3) ดำเนินการเกี่ยวกับข้อกำหนดสิทธิตามหลักเกณฑ์ในข้อ 37 และข้อ 38 และในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 39 ด้วย

(4) กรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกกิจการ ต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามข้อ 40

(5) ยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับตราสารหนี้ที่เสนอขายเป็น ตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันออกตราสารหนี้ดังกล่าว

(6) ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ต่อกิจการต่างประเทศที่จะลงทะเบียนการโอนตราสารหนี้ ให้กิจการดังกล่าวตรวจสอบความถูกต้องของการโอนตราสารหนี้ หากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน กิจการต่างประเทศต้องไม่ลงทะเบียนการโอนตราสารหนี้ เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากกิจการต่างประเทศจัดให้มีนายทะเบียน ตราสารหนี้ กิจการต่างประเทศต้องดำเนินการให้นายทะเบียนตราสารหนี้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

(7) ส่งรายงานต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 43 โดยอนุโลม

(8) กรณีที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายในลักษณะโครงการ หากไม่สามารถดำรงคุณสมบัติตามข้อ 14(3) และข้อ 15(2) และ (3) ได้ ต้องแจ้งการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวต่อสำนักงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงกรณีนั้น

หมวด 3

การเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดลักษณะอื่น

ที่ไม่ใช่การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่

_____________________________

ข้อ 59 ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดตามข้อ 46(1) (2) และ (4)

ส่วนที่ 1

การอนุญาต

_____________________________

ข้อ 60 การเสนอขายตราสารหนี้ตามหมวดนี้ ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานเมื่อกิจการต่างประเทศมีลักษณะตามข้อ 14(1) (2) (6) (10) และ (11) และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) รายงานลักษณะตราสารหนี้ที่จะเสนอขายต่อสำนักงานตามวิธีการที่กำหนดโดยข้อ 7

(2) จดข้อจำกัดการโอนสำหรับตราสารหนี้ที่จะเสนอขายกับสำนักงาน โดยในการ จดข้อจำกัดการโอนดังกล่าว ต้องมีข้อความซึ่งแสดงได้ว่ากิจการต่างประเทศจะไม่รับจดทะเบียนการโอนตราสารหนี้ไม่ว่าทอดใด ๆ หากการโอนดังกล่าวจะทำให้ตราสารหนี้ที่เสนอขายในครั้งนั้นไม่สามารถ คงลักษณะการเสนอขายในวงจำกัดตามแต่ละลักษณะการเสนอขายที่กำหนดในข้อ 46 ได้ เว้นแต่ เป็นการโอนทางมรดก

(3) กรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้มีประกันหรือหุ้นกู้ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ กิจการต่างประเทศได้เสนอร่างข้อกำหนดสิทธิและร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มาพร้อมกับการจดข้อจำกัดการโอนตาม (2) แล้ว

(4) ในกรณีที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 50

ข้อ 61 ให้ถือว่าสำนักงานรับจดข้อจำกัดการโอนตราสารหนี้ตามข้อ 60(2) ในวันที่สำนักงานได้รับการแสดงเจตนาจดข้อจำกัดการโอนที่มีข้อความตามข้อ 60(2) ครบถ้วนแล้ว

ส่วนที่ 2

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต

__________________________

ข้อ 62 ให้กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดลักษณะอื่นที่ไม่ใช่การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ โดยอนุโลม

(1) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดส่งรายงานตามข้อ 43(1) และ (2)

(2) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของตราสารหนี้ตามข้อ 56

(3) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ปรึกษาทางการเงิน (ถ้ามี) ตามข้อ 57

(4) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทะเบียนโอนตราสารหนี้ตามข้อ 58(6)

ข้อ 63 การเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงตามข้อ 46(1) กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) เสนอขายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายบุคคลรวมกันดังนี้

(ก) ผู้ลงทุนสถาบัน

(ข) ผู้ลงทุนรายใหญ่

(ค) ผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 64 เฉพาะกรณีที่กิจการต่างประเทศมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ

(2) ไม่โฆษณาการเสนอขายตราสารหนี้ดังกล่าว และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย กิจการต่างประเทศต้องแจกจ่ายให้เฉพาะบุคคลที่มีลักษณะหรือมีจำนวนอยู่ในวงจำกัดตามที่กำหนดไว้ในข้อ 46(1) เท่านั้น

(3) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ กิจการต่างประเทศต้องจัดให้การชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหรือลงทุนในตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ประเภทที่สามารถเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวได้เท่านั้น เว้นแต่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลต่างประเทศ

ข้อ 64 ผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลต่างประเทศตามข้อ 63(1) (ค) ต้องเป็นบุคคลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของนิติบุคคลต่างประเทศ โดยในการพิจารณานั้นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการลงทุนและการมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน

ผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ บุคคลที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลต่างประเทศในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจการลงทุน หรือการบริหารและการจัดการของนิติบุคคลต่างประเทศ เช่น ลูกค้า ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ บุคคลที่จะเข้ามาร่วมธุรกิจกับนิติบุคคลต่างประเทศ บริษัทในเครือของนิติบุคคลต่างประเทศ (บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทย่อยในลำดับเดียวกัน หรือบริษัทร่วม) ผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลต่างประเทศตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปของจำนวนหุ้นทั้งหมด กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของนิติบุคคลต่างประเทศกรรมการและผู้บริหารของบริษัทในเครือ เป็นต้น

เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคสอง คำว่า “บริษัทย่อยในลำดับเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทย่อยตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปที่มีบริษัทใหญ่เป็นบริษัทเดียวกันไม่ว่าบริษัทย่อยนั้นจะอยู่ในชั้น ลำดับใด ๆ

ข้อ 65 การเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดต่อผู้ลงทุนสถาบันตามข้อ 46(2) กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้ดำเนินการดังนี้

(ก) จัดให้มีข้อกำหนดสิทธิที่มีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 38 วรรคหนึ่ง

(ข) จัดให้มีการแจกสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ให้แก่ผู้ลงทุนก่อนการเสนอขาย

(2) ยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับตราสารหนี้ที่เสนอขายเป็นตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันออกตราสารหนี้ดังกล่าว

ข้อ 66 การเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดโดยได้รับผ่อนผันจากสำนักงานตามข้อ 46(4) กิจการต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตต้องไม่โฆษณาการเสนอขายตราสารหนี้ดังกล่าว และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย กิจการต่างประเทศต้องแจกจ่ายให้เฉพาะบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันเท่านั้น

ภาค 4

บทเฉพาะกาล

____________________

ข้อ 67 คำขออนุญาตที่ได้ยื่นต่อสำนักงานหรือได้รับอนุญาตจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 58/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้การขออนุญาตและการอนุญาตยังคงเป็นไปตามบังคับประกาศดังกล่าวและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 68 ให้ตราสารหนี้ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 58/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ไปแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขภายหลังการอนุญาตตามประกาศดังกล่าว

ข้อ 69 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 58/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ให้การอ้างอิงประกาศดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 70 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 58/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กิจการต่างประเทศเสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ซึ่งเป็นสกุลเงินบาท ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ของประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ