กฎกระทรวงการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเกิดจากการควบเข้ากัน พ.ศ. 2565

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 28, 2022 15:15 —ประกาศ ก.ล.ต.

กฎกระทรวงการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเกิดจากการควบเข้ากัน พ.ศ. 2565

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๙๐ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕

(๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕

(๓) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

?บริษัท? หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

?บริษัทหลักทรัพย์? หมายความว่า บริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

?สถาบันการเงิน? หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบัน การเงิน ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย

?บริษัทประกันชีวิต? หมายความว่า บริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ข้อ ๓ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับแก่การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต

ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเกิดจากการควบเข้ากันของบริษัทหลักทรัพย์เป็นบริษัทใหม่

ข้อ ๔ ให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งประสงค์จะควบเข้ากันร่วมกันยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบเข้ากัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์นั้น
การยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นขอรับใบอนุญาตได้เฉพาะการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันกับที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันนั้นได้รับใบอนุญาตไว้ เว้นแต่กรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันตามวรรคหนึ่ง
มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต
การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่นได้ภายใต้เงื่อนไขที่สำนักงานประกาศกำหนด
ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันตามวรรคหนึ่งได้รับใบอนุญาต
ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเภทที่แตกต่างกัน ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เฉพาะประเภทที่ประสงค์ให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบเข้ากันประกอบธุรกิจ เว้นแต่
(๑) ในกรณีที่ประสงค์ให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบเข้ากันได้รับใบอนุญาต
ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภทที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งควบเข้ากันนั้นได้รับใบอนุญาต
ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภท

(๒) ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันบริษัทหนึ่งได้รับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้หลายประเภท ซึ่งครอบคลุมประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ของใบอนุญาตของบริษัทหลักทรัพย์อื่น และบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันประสงค์ให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบเข้ากันได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภทที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันนั้นได้รับใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเฉพาะใบอนุญาตซึ่งครอบคลุมประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภท

ข้อ ๕ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามข้อ ๔

ให้ยื่นต่อสำนักงานตามแบบที่สำนักงานประกาศกำหนด พร้อมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่กำหนดไว้

ในแบบคำขอ โดยผู้ยื่นคำขอต้องชำระค่าธรรมเนียมจำนวนสามหมื่นบาท

ข้อ ๖ บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งยื่นคำขอต้องแสดงเอกสารหรือหลักฐานดังต่อไปนี้ ประกอบการยื่นคำขอ (๑) มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งที่ให้ควบบริษัทเข้ากัน (๒) บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทหลักทรัพย์เข้ากันมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แต่ละประเภท (๓) ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งยื่นคำขอมีการประกอบกิจการอื่นอยู่ในขณะยื่น คำขอและประสงค์จะให้บริษัทซึ่งจะเกิดขึ้นจากการควบบริษัทหลักทรัพย์เข้ากันประกอบกิจการดังกล่าวด้วย ต้องแสดงได้ว่ากิจการนั้นจะมีความเกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประเภทที่ขอรับใบอนุญาต และจะไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือความเสี่ยงกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวหรือผู้ใช้บริการ เว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (๔) ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเภทที่แตกต่างกันตามข้อ ๔ วรรคสาม และประสงค์จะให้บริษัทซึ่งจะเกิดจาก การควบบริษัทเข้ากันได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเภทซึ่งมิได้ครอบคลุม ทุกประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับแต่เดิม บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันนั้น ต้องแสดงได้ว่ามีการดำเนินการคืนทรัพย์สินให้แก่ลูกค้า หรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์รายอื่นที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้ หรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า หรือเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าเป็นสำคัญ (๕) บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันมีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากรที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้ (ก) มีการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ (ข) มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากร การควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประเภทที่ขอรับใบอนุญาตที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุมและติดตามให้มีการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการที่วางไว้ (ค) มีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประเภท ที่ขอรับใบอนุญาต (ง) มีความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรับผิดชอบงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ตามประเภทที่ขอรับใบอนุญาต

ข้อ ๗ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์นั้น

ในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (๑) เงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แต่ละประเภท (๒) บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการควบเข้ากันและจดทะเบียนบริษัทใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด แล้วแต่กรณี (๓) กรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันชีวิต การควบเข้ากันต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินหรือกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตด้วย แล้วแต่กรณี

(๔) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่บริษัทซึ่งเกิดจากการควบเข้ากัน ให้มีผลตั้งแต่วันที่การจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่มีผลสมบูรณ์

(๕) บริษัทซึ่งเกิดจากการควบเข้ากันจะสามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้ ต่อเมื่อสำนักงานได้ตรวจสอบโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากรของบริษัทนั้น และเห็นว่าบริษัทดังกล่าวสามารถแสดงได้ว่ามีลักษณะเป็นไปตามข้อ ๖ (๕) แล้ว รวมทั้งได้ดำเนินการส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์เดิมให้แก่สำนักงานแล้ว ในกรณีที่บริษัทซึ่งเกิดจากการควบเข้ากันตาม (๕) จะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ในประเภทที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ควบเข้ากันประกอบธุรกิจอยู่ ให้สำนักงานตรวจสอบความพร้อม ในการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ที่จะควบเข้ากันในขณะที่มีการยื่นคำขอตามข้อ ๕ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ข้อ ๘ ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะควบเข้ากันไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไข
ที่รัฐมนตรีกำหนดตามข้อ ๗ (๒) หรือ (๓) ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เป็นอันสิ้นสุดลง
และบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องส่งใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์คืนสำนักงาน

ในระหว่างการพิจารณาคำขอและยังมิได้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หากบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งยื่นคำขอตามข้อ ๔ ได้ขอยกเลิกคำขอ หรือความปรากฏต่อสำนักงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีการควบเข้ากันหรือมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ภายในระยะเวลาตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดกำหนด หรือไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินหรือกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตแล้วแต่กรณี ให้สำนักงานจำหน่ายคำขอของบริษัทนั้นออกจากสารบบ ทั้งนี้ หากคำขออยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรี ให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบด้วย

ข้อ ๙ เมื่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่บริษัทซึ่งเกิดจาก การควบเข้ากันมีผลใช้บังคับแล้ว ให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ที่ออกให้แก่บริษัทหลักทรัพย์เดิม ทั้งนี้ ให้สำนักงานรายงานให้รัฐมนตรีทราบถึงการมีผลใช้บังคับของใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ด้วย

ข้อ ๑๐ ให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

ตามกฎกระทรวงนี้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

ข้อ ๑๑ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ออกตามกฎกระทรวง

ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตดังกล่าว

ข้อ ๑๒ บรรดาคำขอให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันได้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้ยื่นตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบเข้ากันตามกฎกระทรวงนี้ และในกรณีที่คำขอดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขอตามกฎกระทรวงนี้ สำนักงานมีอำนาจสั่งให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. 2565

(นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ