ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 2/2551 เรื่อง การซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ______________________ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ในประกาศนี้ “ตัวแทนซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยมีสินค้าหรือตัวแปรเป็นหลักทรัพย์ ทองคำ น้ำมันดิบ เงินตราสกุลใด ๆ อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงิน ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินหรือตัวแปรอื่นใดที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน “สถาบันการเงินต่างประเทศ” หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดประเภทนิติบุคคลที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเพิ่มเติม “ศูนย์ซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และให้หมายความรวมถึง นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นและได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ 2 ตัวแทนซื้อขายสัญญาที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของบริษัทต้องกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการลงทุน และต้องจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และระบบป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยต้องจัดทำนโยบาย หลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของบริษัท ข้อ 3 ห้ามมิให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสัญญาอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเอง เว้นแต่เป็นการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือเป็นการลงทุนเพื่อบัญชีของบริษัท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ ข้อ 4 ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือมูลค่าของสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันที่ตัวแทนซื้อขายสัญญามีอยู่หรือจะมีในอนาคตอันใกล้นอกศูนย์ซื้อขายสัญญากับคู่สัญญาที่เป็นสถาบันการเงินหรือสถาบันการเงินต่างประเทศ หรือในศูนย์ซื้อขายสัญญาได้ ข้อ 5 ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อบัญชีของบริษัทโดยการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านอกศูนย์ซื้อขายสัญญากับคู่สัญญาที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันหรือในศูนย์ซื้อขายสัญญาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ 6 ตัวแทนซื้อขายสัญญาที่จะได้รับอนุญาตให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 5 ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) มีบุคลากรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการบริหารความเสี่ยงจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในจำนวนที่เพียงพอ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานที่รับผิดชอบ (2) มีนโยบายและหลักเกณฑ์ในการลงทุน รวมทั้งนโยบายและมาตรการในการควบคุมและบริหารความเสี่ยงจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการจัดการด้านการปฏิบัติการ มีระบบป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระบบป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร และระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในของบริษัท อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยต้องจัดทำนโยบาย หลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดในเรื่องดังต่อไปนี้ (ก) การมีระบบรองรับการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรฐานที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหรือมาตรฐานอื่นที่สูงกว่าตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ (ข) การจำกัดฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (position limit) ที่บริษัทจะมีได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งเมื่อพิจารณาจาก 1. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยรวม 2. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าส่วนที่บริษัทไม่มีการป้องกันความเสี่ยง 3. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อสินค้าหรือตัวแปรประเภทใดประเภทหนึ่ง 4. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อคู่สัญญารายใดรายหนึ่ง 5. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีผลขาดทุน (ค) การมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน (internal audit) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ง) การมีหน่วยงานดูแลการปฏิบัติงาน (compliance unit) ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ และมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัท (จ) การมีระบบการบันทึกข้อมูลและการรายงานข้อมูลต่อผู้บริหารตามลำดับชั้นที่มีมาตรฐานและเชื่อถือได้ ข้อ 7 เว้นแต่กรณีที่กำหนดในข้อ 9 ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาที่ประสงค์จะขออนุญาตซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 5 ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามแบบและวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. จัดไว้ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ 8 ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับการขออนุญาตซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 7 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน ข้อ 9 ในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองตามประกาศว่าด้วยการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และตัวแทนซื้อขายสัญญาดังกล่าวมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ 6 ให้ถือว่าตัวแทนซื้อขายสัญญาได้รับอนุญาตให้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อบัญชีของบริษัทตามประกาศนี้ด้วยแล้ว ข้อ 10 ตัวแทนซื้อขายสัญญาที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 8 และข้อ 9 ต้องดำรงคุณสมบัติตามข้อ 6 ไว้ตลอดเวลาที่ตัวแทนซื้อขายสัญญามีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อบัญชีของบริษัท ข้อ 11 ในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเป็นทองคำหรือน้ำมันดิบนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาตามข้อ 5 ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาดำเนินการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ (perfectly hedge) โดยไม่ชักช้าความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทออปชันในฐานะผู้ได้รับสิทธิตามสัญญาเพื่อประโยชน์ในข้อนี้ คำว่า “สัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทออปชัน” ให้หมายความถึง สัญญาที่มีลักษณะตามที่กำหนดใน (3) ของบทนิยามคำว่า “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ข้อ 12 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าตัวแทนซื้อขายสัญญาใดลงทุนในหลักทรัพย์หรือซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ หรือตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่ตัวแทนซื้อขายสัญญากำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมประการอื่นในการซื้อขายดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งให้ตัวแทนซื้อขายสัญญานั้นแก้ไข กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ได้ ข้อ 13 ในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญามีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาดำเนินการดังนี้ (1) ในกรณีที่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 2 ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ (2) ในกรณีที่มีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาคงฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เพียงเท่าระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัญญาดังกล่าวและห้ามมิให้ทำการขยายระยะเวลาหรือต่ออายุสัญญานั้นจนกว่าตัวแทนซื้อขายสัญญาจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 4 หรือข้อ 5 แล้วแต่กรณี ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551 (นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองของตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อ ขายล่วงหน้าอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ ดังกล่าวของตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้