การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่างๆ (ฉบับที่ 19)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 30, 2009 11:45 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สบ. 6/2552

เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล

การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ

(ฉบับที่ 19)

____________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 48/2549 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

ข้อ 2 ให้ยกเลิก (2) และ (3) ของข้อ 4 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (6) ของข้อ 4 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ.28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 22/2550 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(6) บริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากบริษัทดังกล่าวออกหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ตามข้อ 5(1)

(ก) หุ้นกู้ระยะสั้น ที่มิใช่หุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือ

(ข) ตั๋วเงินระยะสั้น”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 24/2551 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ข้อ 6 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 23/2550 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และข้อ 6/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 22/2550 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 5 การชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล ให้เป็นดังนี้

(1) ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ให้ชำระเมื่อยื่นแบบดังกล่าวต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8

(2) ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ให้ชำระเป็นรายปี ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9

ข้อ 6 ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิประเภทต่าง ๆ และใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ให้คิดในอัตราดังนี้

(1) กรณีเสนอขายหุ้น ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.08 ของมูลค่าของหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย ในการคำนวณมูลค่าของหุ้นที่เสนอขาย ให้ใช้ราคาเสนอขายหุ้นเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม

(2) กรณีเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

(ก) หากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นมีอายุไม่เกินหนึ่งปี ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.08 ของมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายรวมกับมูลค่าของหุ้นทั้งหมดที่รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่เสนอขาย

(ข) หากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นมีอายุมากกว่าหนึ่งปี ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.03 ของมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายรวมกับมูลค่าของหุ้นทั้งหมดที่รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่เสนอขาย

ในการคำนวณมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่เสนอขาย ให้ใช้ราคาเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนั้นเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม และในการคำนวณมูลค่าของหุ้นที่รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่เสนอขาย ให้ใช้ราคาที่จะซื้อหุ้นตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนั้นเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม

(3) กรณีเสนอขายใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้โดยเจ้าของใบแสดงสิทธิดังกล่าว ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.08 ของมูลค่าของใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ทั้งหมดที่เสนอขายรวมกับมูลค่าของหุ้นทั้งหมดที่รองรับใบแสดงสิทธิดังกล่าว

ในการคำนวณมูลค่าของใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ที่เสนอขาย ให้ใช้ราคาเสนอขายใบแสดงสิทธิดังกล่าวเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม และในการคำนวณมูลค่าของหุ้นที่รองรับใบแสดงสิทธินั้น ให้ใช้ราคาที่จะซื้อหุ้นตามใบแสดงสิทธิดังกล่าวเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม

(4) กรณีเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้คิดในอัตราดังนี้

(ก) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นประเภทที่ให้สิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกโดยบริษัทอื่น และจัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน

1. หากมีอายุไม่เกินหนึ่งปี ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.08 ของมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายรวมกับมูลค่าของหุ้นอ้างอิงทั้งหมดที่รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่เสนอขาย

2. หากมีอายุมากกว่าหนึ่งปี ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.03 ของมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายรวมกับมูลค่าของหุ้นอ้างอิงทั้งหมดที่รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่เสนอขาย

การคำนวณมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่เสนอขาย ให้ใช้ราคาเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นนั้นเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม และการคำนวณมูลค่าของหุ้นอ้างอิง ให้ใช้ราคาใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นนั้นเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม

(ข) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อื่นนอกจาก (ก) ให้คิดในอัตราครั้งละ 10,000 บาท

(5) กรณีเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่พร้อมกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เดิมของบริษัทจดทะเบียนเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.02 ของมูลค่าของหลักทรัพย์ทั้งหมดที่เสนอซื้อ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท

มูลค่าของหลักทรัพย์ที่เสนอซื้อ ให้หมายถึงผลคูณของจำนวนดังต่อไปนี้

(ก) จำนวนหลักทรัพย์ที่เสนอซื้อ

(ข) ราคาปิดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของหลักทรัพย์ที่เสนอซื้อในช่วงห้าวันทำการก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ในกรณีหลักทรัพย์ที่เสนอซื้อไม่มีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ใช้ราคายุติธรรมที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ

(6) กรณีเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ให้ใช้อัตราและวิธีการคำนวณเดียวกับที่กำหนดไว้สำหรับหลักทรัพย์อ้างอิงของใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงดังกล่าว

ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า 30,000 บาท ให้คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในอัตรา 30,000 บาท เว้นแต่มีการกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

ข้อ 6/1 ค่าธรรมเนียมในการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือพันธบัตร ให้คิดในอัตรา ดังนี้

(1) กรณีการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้น ตั๋วเงินระยะสั้น หรือพันธบัตรที่มีกำหนดเวลาไถ่ถอนไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวัน ให้คิดในอัตราดังนี้

(ก) กรณีเป็นการเสนอขายเฉพาะหุ้นกู้ระยะสั้นหรือตั๋วเงินระยะสั้นในลักษณะที่จำกัดมูลค่าการเสนอขายโดยไม่เกินระยะเวลาและมูลค่าตามที่สำนักงานประกาศกำหนดตามมาตรา 66 ให้คิดในอัตรา 100,000 บาท สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวตามมูลค่าที่ได้รับอนุญาตนั้น

(ข) กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้น ตั๋วเงินระยะสั้น หรือพันธบัตรที่มีกำหนดเวลาไถ่ถอนไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวัน ในกรณีทั่วไป ให้คิดในอัตราใดอัตราหนึ่งดังนี้

1. รุ่นละ 10,000 บาท หรือ

2. ในกรณีเป็นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ที่เป็นแบบ 69-Base และใช้แบบ 69-Base เป็นฐานสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ครั้งต่อ ๆ ไปในลักษณะเป็นโครงการ ให้คิดในอัตรา 100,000 บาท สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ในแต่ละครั้ง

(ค) กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้น ตั๋วเงินระยะสั้น หรือพันธบัตรต่างประเทศที่มีกำหนดเวลาไถ่ถอนไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้คิดในอัตรา 50,000 บาท สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ในแต่ละครั้ง เว้นแต่เป็นการเสนอขายตั๋วเงินระยะสั้นที่ออกและเสนอขายโดยสถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ให้อยู่ภายใต้บังคับ (2)(ค)

(ง) กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นที่เสนอขายตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ให้คิดในอัตราดังนี้

1. กรณีเป็นการเสนอขายในกรณีทั่วไป ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ของมูลค่าของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละรุ่น แต่สูงสุดรุ่นละไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่า 30,000 บาท ให้คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในอัตรา 30,000 บาท

2. กรณีเป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้คิดในอัตรารุ่นละ 50,000 บาท

(2) กรณีเสนอขายหุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือพันธบัตร ในกรณีอื่นใดนอกจากกรณีตาม (1) ให้คิดในอัตราดังนี้

(ก) หุ้นกู้หรือพันธบัตรที่เสนอขายในกรณีทั่วไป ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ของมูลค่าของหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่เสนอขายในแต่ละรุ่น แต่สูงสุดรุ่นละไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่า 30,000 บาท ให้คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ ในอัตรา 30,000 บาท

ในการคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่เสนอขาย ให้ใช้ราคาเสนอขายหุ้นกู้หรือราคาเสนอขายพันธบัตรเป็นฐานในการคิดค่าธรรมเนียม

(ข) หุ้นกู้ที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้คิดในอัตรารุ่นละ 50,000 บาท

(ค) ตั๋วเงินที่สถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ออกและเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้คิดอัตรา 50,000 บาท สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ในแต่ละครั้ง

(ง) พันธบัตรต่างประเทศที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้คิดในอัตรารุ่นละ 50,000 บาท”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 8 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 39/2550 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 8 การชำระค่าธรรมเนียมตามข้อ 6 และข้อ 6/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(1) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ชำระค่าธรรมเนียมทั้งจำนวนในวันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์

(ก) กรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามข้อ 6(4)(ข)

(ข) กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้น ตั๋วเงินระยะสั้น หรือพันธบัตรที่มีกำหนดเวลาไถ่ถอนไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันตามข้อ 6/1 (1)(ก) (ข) (ค) และ (ง) 2.

(ค) กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือพันธบัตรตามข้อ 6/1 (2)(ข) (ค) และ (ง)

(2) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ในกรณีอื่นนอกจากกรณีตาม (1) ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ชำระค่าธรรมเนียมดังนี้

(ก) ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 30,000 บาท ในวันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์สำหรับหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันซึ่งมีหลายรุ่น ให้การชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำคิดรวมทุกรุ่นจำนวน 30,000 บาท

(ข) ถ้ายังมีส่วนที่เหลือต้องชำระอีก ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่เหลือในวันที่สำนักงานได้รับรายละเอียดของข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วนถูกต้องเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ การจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ แล้วแต่กรณี

(3) ในกรณีที่มีการเสนอขายหลักทรัพย์หลายรุ่นในช่วงเวลาเดียวกัน ให้คิดค่าธรรมเนียมตามแต่ละรุ่นแยกกัน ไม่ว่าจะมีการจำกัดจำนวนเสนอขายสูงสุดของทุกรุ่นรวมกันไว้ก็ตาม

ในกรณีที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ พร้อมกับการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่และสำนักงานไม่อนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือมีการขอถอนการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือมีการขอถอนการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์จะมีผลใช้บังคับ ผู้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่เหลืออีก”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 9 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 9 ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ให้คิดในอัตราดังนี้

(1) ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชำระค่าธรรมเนียมตามส่วนของ ผู้ถือหุ้นตามงบการเงินประจำงวดการบัญชีล่าสุดที่ยื่นต่อสำนักงาน ในอัตราดังนี้

(ก) บริษัทที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ถึง 500 ล้านบาท

                    ให้ชำระค่าธรรมเนียม                               50,000  บาท

(ข) บริษัทที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 500 ล้านบาท

                    แต่ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ให้ชำระค่าธรรมเนียม          100,000  บาท

(ค) บริษัทที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

                    ให้ชำระค่าธรรมเนียม                              300,000  บาท

(2) ในกรณีบริษัทอื่นนอกจาก (1) ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตรา 10,000 บาท ทั้งนี้ สำนักงานอาจเปลี่ยนแปลงอัตราที่กำหนดไว้นี้ได้ แต่จะไม่เป็นผลให้อัตราค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 15 ทุกรอบระยะเวลาสามปี”

ข้อ 7 ประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อยกเลิกและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมในการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย

หลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการยกเว้นและการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ตามแต่ละประเภท ซึ่ง

เป็นการลดภาระให้แก่ผู้ออกหลักทรัพย์ อันจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถออกหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้อง

ออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ