การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 4)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 12, 2009 11:32 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 13/2552

เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

(ฉบับที่ 4)

___________________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฉ/1) (ฉ/2) (ฉ/3) (ฉ/4) (ฉ/5) (ฉ/6) และ (ฉ/7) ใน (5) ของข้อ 2 แห่งประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

“(ฉ/1) “สัญญาเครดิตอนุพันธ์” (credit derivatives) หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงด้านเครดิตหรือผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจ จากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อประกันความเสี่ยง ไปยังคู่ สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายประกันความเสี่ยง โดยผู้ขายประกันความเสี่ยงมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ซื้อประกันความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ (credit event) ของทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ โดยแลกกับการได้รับผลตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมจาก ผู้ซื้อประกันความเสี่ยง

(ฉ/2) “ทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์” (reference obligation) หมายความว่า ทรัพย์สินหรือสัญญาที่สัญญาเครดิตอนุพันธ์ อ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของทรัพย์สินหรือสัญญานั้น หรือของผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญาดังกล่าว

(ฉ/3) “ทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง” (underlying obligation) หมายความว่า ทรัพย์สินหรือสัญญาที่กองทุนลงทุน หรือมีไว้ และได้รับการลดความเสี่ยง (hedging) จากการเข้าทำสัญญาเครดิตอนุพันธ์ในนามของกองทุน

(ฉ/4) “สัญญาซีดีเอส” (single-name credit default swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่กำหนดทรัพย์สินตาม สัญญาเครดิตอนุพันธ์ไว้เพียงรายการเดียว

(ฉ/5) “สัญญาเอฟทีดีเอส” (first-to-default swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่กำหนดทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ไว้หลายรายการ ทั้งนี้ ผู้ขายประกันความเสี่ยงมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของทรัพย์สินดังกล่าวรายการใดรายการหนึ่งเป็นรายการแรก

(ฉ/6) “สัญญาโพรพอร์ชั่นเนทซีดีเอส” (proportionate credit default swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่ กำหนดทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ไว้หลายรายการ ทั้งนี้ ผู้ขายประกันความเสี่ยงมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อ การชำระหนี้ของทรัพย์สินดังกล่าวแต่ละรายการ โดยจะชำระเงินตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในสัญญาสำหรับทรัพย์สินแต่ละรายการนั้น

(ฉ/7) “สัญญาทีอาร์โออาร์เอส” (total rate of return swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ขาย ประกันความเสี่ยงจ่ายผลตอบแทนในอัตราลอยตัวที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย และผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจที่ลดลงของทรัพย์สินตามสัญญา เครดิตอนุพันธ์ ให้แก่ผู้ซื้อประกันความเสี่ยงจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ หรือจนกว่าสัญญาเครดิต อนุพันธ์นั้นจะครบอายุ เพื่อแลกกับการที่ผู้ซื้อประกันความเสี่ยงโอนผลตอบแทนและผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ให้แก่ตน”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 33 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 33 การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาต้องไม่ทำให้วัตถุประสงค์หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นเบี่ยงเบนไปจาก วัตถุประสงค์หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น

(2) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (efficient portfolio management) เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการเข้าเป็นคู่สัญญาได้เฉพาะเพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) เท่านั้น

(ก) การเข้าเป็นคู่สัญญาในนามของกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับ กองทุนรวมดังกล่าว หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ข) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ในนามของกองทุน

(3) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาต้องมีลักษณะและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 34 ข้อ 35 ข้อ 36 ข้อ 36/1 และข้อ 37

(4) ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่วงหน้าก่อนเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ในการขอความยินยอมดังกล่าว บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องอธิบาย ให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าใจถึงลักษณะและความเสี่ยงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยง ก่อนขอรับความยินยอมด้วย”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 34 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(3) อันดับความน่าเชื่อถือหรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารแห่งหนี้หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือของผู้ออกตราสาร หรือคู่สัญญาดังกล่าว”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 36/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

“ข้อ 36/1 นอกจากเงื่อนไขในการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตาม ข้อ 36 แล้ว การเข้าเป็นคู่สัญญาเครดิตอนุพันธ์ ในนามของกองทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย

(1) ให้กองทุนเข้าเป็นคู่สัญญาได้เฉพาะสัญญาเครดิตอนุพันธ์ประเภทสัญญาซีดีเอส สัญญาเอฟทีดีเอส สัญญาโพรพอร์ชั่นเนทซีดีเอส หรือสัญญาทีอาร์โออาร์เอส

(2) การเข้าเป็นคู่สัญญาในนามของกองทุนต้องไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับอัตราส่วนการ ลงทุนของกองทุน

(3) ต้องใช้สัญญามาตรฐานตามที่กำหนดโดย International Swaps and Derivatives Association (ISDA) หรือสัญญา มาตรฐานตามที่สำนักงานยอมรับ ซึ่งมีข้อตกลงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายอื่น

(ข) ไม่มีข้อกำหนดที่ทำให้สิทธิที่กำหนดไว้ในตราสารแห่งหนี้หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สัญญาเครดิตอนุพันธ์นั้นอ้างอิงเสื่อม เสียไป

(ค) ไม่มีข้อกำหนดให้กองทุนต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่คู่สัญญา”

ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 72/1 และข้อ 72/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

“ข้อ 72/1 การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนสำหรับสัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีประสิทธิภาพตามข้อ 72/2 และทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงจากสัญญาดังกล่าว ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนสำหรับสัญญาเครดิตอนุพันธ์ ให้ใช้มูลค่าขั้นสูงที่คู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์มีหน้าที่ต้องชำระตาม สัญญา เป็นมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศนี้

(2) การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนสำหรับทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงหากคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์นั้นมีอันดับความ น่าเชื่อถือในอันดับที่สูงกว่าหรือเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง ให้ใช้ส่วนต่างของมูลค่ายุติธรรมของ ทรัพย์สินดังกล่าวหักด้วยมูลค่าขั้นสูงที่คู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ ทั้งนี้ มิให้ใช้มูลค่าส่วนต่างที่ต่ำกว่าศูนย์ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว

ข้อ 72/2 สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีประสิทธิภาพตามข้อ 72/1 ต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจ ของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง ถูกเคลื่อนย้ายไปยังคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ทั้งจำนวน

(2) ทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงจากสัญญาเครดิตอนุพันธ์ต้องเป็นทรัพย์สินชนิดเดียวกันกับทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้

(ก) ทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงและทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์มีผู้ออกเป็นบุคคลเดียวกัน

(ข) ลำดับที่กองทุนจะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์อยู่ในลำดับก่อนหรือลำดับเดียวกันกับลำดับที่กองทุน จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง

(ค) สัญญาเครดิตอนุพันธ์มีข้อกำหนดให้ถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงและทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์เกิด การผิดนัดชำระหนี้ในเวลาเดียวกัน เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ของทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง และ

(ง) กองทุนสามารถส่งมอบทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ ในกรณีที่สัญญาเครดิตอนุพันธ์มี ข้อกำหนดให้กองทุนส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาดังกล่าว

(3) อายุคงเหลือของสัญญาเครดิตอนุพันธ์เท่ากับอายุคงเหลือของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง เว้นแต่เป็นสัญญาเครดิต อนุพันธ์ที่มีอายุคงเหลือมากกว่าอายุคงเหลือของทรัพย์สินดังกล่าวอย่างไม่มีนัยสำคัญ

(4) สกุลเงินของสัญญาเครดิตอนุพันธ์และทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงเป็นสกุลเงินเดียวกัน

(5) ตัวแปรตามข้อ 34(3) ของสัญญาเครดิตอนุพันธ์ต้องครอบคลุมความเสี่ยงด้านเครดิตทุกกรณี และ

(6) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างความเสี่ยงด้านเครดิตของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงกับความ เสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ ต้องไม่สูงจนเกินไป ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกำหนดขั้นสูงของค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่เหมาะสม ในการเข้าทำธุรกรรม ซึ่งค่าขั้นสูงดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการอื่นที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย โดย ที่คณะกรรมการดังกล่าวต้องเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการลงทุนด้วย”

ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อให้กองทุนมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตให้เหมาะสมกับสภาวการณ์

ในปัจจุบันที่มีความผันผวนในทางเศรษฐกิจ และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้หรือสัญญาซื้อขาย

ล่วงหน้าที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว สมควรอนุญาตให้กองทุนสามารถเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มี

ลักษณะเป็นการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงด้านเครดิตหรือเป็นการเคลื่อนย้ายผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจได้

จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ