ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2549 เรื่อง การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย __________________________ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 14 มาตรา 34(1) มาตรา 35 มาตรา 56มาตรา 64(3) มาตรา 67 มาตรา 69(11) และมาตรา 70(9) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิก (1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 25/2547 เรื่อง การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 (2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 43/2548 เรื่อง การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ข้อ 2 ในประกาศนี้ (1) คำว่า “แบบแสดงรายการข้อมูล” “ผู้ลงทุนสถาบัน” และ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (2) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศที่ผู้ออกหลักทรัพย์แสดงหลักฐานต่อสำนักงานได้ว่าการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ดังกล่าวในประเทศไทยดำเนินการภายใต้ข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ให้กระทำได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว แต่ผู้ออกหลักทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้ (1) ยื่นเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ต่อสำนักงานก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ในแต่ละครั้ง (ก) ร่างข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 42(1) ถึง (9) และจัดทำเป็นภาษาไทย (ข) แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามประกาศนี้ (2) เสนอขายหุ้นกู้ให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ข้อ 4 ก่อนการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ตามประกาศนี้ในแต่ละครั้งให้ผู้ออกหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานจำนวนสองชุด โดยแบบแสดงรายการข้อมูลต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) มีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 69(1) ถึง (10) และมาตรา 70(1) ถึง (8) (2) มีข้อความดังต่อไปนี้แสดงไว้อย่างชัดเจนในหน้าแรกของแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน “ข้อมูลที่เปิดเผยตามแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนเป็นข้อมูลที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้เปิดเผยตามที่เห็นว่าเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนซึ่งมีข้อมูลอย่างน้อยตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย โดยในกรณีที่ข้อมูลที่เปิดเผยไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนมีข้อความหรือรายการที่เป็นเท็จ หรือขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ ผู้ถือหลักทรัพย์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้ตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535” (3) มีข้อมูลที่แสดงถึงฐานะทางการเงินของผู้ออกหลักทรัพย์ลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ (ก) งบการเงินซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) หรือ Financial Accounting Standards (FAS) หรือ United States Generally Accepted Accounting Principles (US GAAP) หรือมาตรฐานการบัญชีอื่นที่สำนักงานยอมรับ (ข) ข้อมูลทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังของประเทศ (เฉพาะกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์เป็นรัฐบาลต่างประเทศ) ห้าปีล่าสุด ก่อนวันยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนโดยอย่างน้อยต้องแสดงถึงรายได้ประชาชาติ ดุลการค้า ดุลบริการ ข้อมูลการนำเข้าและส่งออก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ภาระหนี้สินในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประมาณการการชำระหนี้ต่างประเทศอย่างน้อยห้าปี เริ่มในปีที่ผู้ออกหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน (4) มีข้อมูลถูกต้องและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนทราบลักษณะและเงื่อนไขของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่เสนอขาย แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาชำระคืนหนี้ตามพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หรือของผู้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หรือผู้ค้ำประกันการชำระหนี้เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหลักทรัพย์ ซึ่งต้องเป็นการจัดอันดับโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน รวมทั้งโอกาสและความเสี่ยงของผู้ถือตราสารในการได้รับชำระคืนหนี้ (5) มีข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและสถานที่ทำการของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ออกหลักทรัพย์ให้เป็นตัวแทนของผู้ออกหลักทรัพย์ในประเทศไทยในการรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ในประเทศไทย (6) มีลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ออกหลักทรัพย์เพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ข้อ 5 แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามข้อ 4 ให้จัดทำเป็นภาษาไทย เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ผู้ออกหลักทรัพย์ที่มีสถานะเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศอาจจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ และหากมิใช่การเสนอขายที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ผู้ออกหลักทรัพย์ต้องจัดทำคำแปลภาษาไทยของเอกสารดังกล่าวที่มีการรับรองความถูกต้องของคำแปลไว้ด้วย (ก) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันซึ่งมีมูลค่ารวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ในการคำนวณมูลค่าที่เสนอขายให้ใช้ราคาที่ตราไว้เป็นเกณฑ์ (ข) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกินสิบราย (2) เป็นกรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและ เพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งสำนักงานอาจผ่อนผันให้จัดทำข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และอาจกำหนดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ได้รับการผ่อนผันต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ ข้อ 6 นอกจากการยื่นข้อมูลในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์แล้ว ให้ผู้ออกหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน พร้อมทั้งคำแปล (ถ้ามี) ต่อสำนักงานในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามแนวทางที่สำนักงานกำหนดด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงานทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์และรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน ข้อ 7 ภายใต้บังคับมาตรา 75 เมื่อผู้ออกหลักทรัพย์ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนดแล้ว ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นตามข้อ 4 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ (1) สามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน สำหรับกรณีทั่วไป (2) สามวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน สำหรับกรณีดังต่อไปนี้ (ก) ผู้ออกหลักทรัพย์มีสถานะเป็นรัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ (ข) เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนสถาบัน ข้อ 8 เมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ และการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ออกหลักทรัพย์รายงานผลการขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรายงานผลการขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน ในกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รายงานผลการขายตามวรรคหนึ่งอาจเลือกจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ ข้อ 9 พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ได้มีการเสนอขายครั้งแรกโดยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานโดยชอบแล้วตามประกาศนี้ ให้ขายในทอดต่อ ๆ ไปได้โดยได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ข้อ 10 ภายหลังการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ให้ผู้ออกหลักทรัพย์มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีผู้ออกหลักทรัพย์เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ให้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ออกตามความในมาตรา 56 โดยจัดทำเป็นข้อมูลสรุปซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ทั้งนี้ งบการเงินที่ต้องส่งต่อสำนักงานอาจเลือกจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ (2) ในกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์ไม่เข้าลักษณะตาม (1) ให้ปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง ข้อ 11 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2549 (นายทนง พิทยะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หมายเหตุ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้นิติบุคคลต่างประเทศที่มีสถานะเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศสามารถออกและเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทต่อผู้ลงทุนในประเทศไทยได้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Development) และในระยะต่อมา ได้มีการขยายประเภทนิติบุคคลให้รวมถึงบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation) สามารถออกและเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ด้วย จึงเป็นการสมควรให้ปรับปรุงข้อกำหนดเดิมให้สามารถรองรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มีสถานะเป็นบริษัทข้ามชาติไว้ตามประกาศฉบับนี้