การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday July 17, 2006 09:30 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 28/2549
เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และ
มาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 11 และข้อ 16 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และข้อ 18(6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
(1) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับกองทุนต่าง ๆ มีดังนี้
(ก) “กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล
(ข) “กองทุนรวมพันธบัตรเอเชีย” หมายความว่า กองทุนรวมอีทีเอฟที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สอง (Asian Bond Fund 2) ตามมติของที่ประชุมกลุ่มธนาคารกลางสมาชิก Executives’ Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP)
(ค) “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า กองทุนรวมตามประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ง) “กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย” หมายความว่า กองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ลงทุนรายย่อยต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท
(2) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับตราสาร มีดังนี้
(ก) “หุ้น” หมายความว่า หุ้นของบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงหุ้นของบริษัทจัดการลงทุนต่างประเทศ (foreign investment company) ที่มีการดำเนินการในลักษณะของโครงการลงทุนแบบกลุ่ม(collective investment scheme)
(ข) “หุ้นกู้ระยะสั้น” หมายความว่า หุ้นกู้ระยะสั้นตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่
(3) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับกิจการ มีดังนี้
(ก) “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(ข) “นายจ้าง” หมายความว่า นายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ค) “บริษัทเงินทุน” หมายความว่า บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(ง) “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(จ) “นิติบุคคลต่างประเทศ” หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศและเป็นภาคเอกชน
(ฉ) “บริษัทในเครือ” หมายความว่า บริษัทที่ถือหุ้นของบริษัทจัดการหรือของนายจ้างตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจัดการหรือของนายจ้าง และบริษัทที่บริษัทจัดการหรือนายจ้างถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ของบริษัทนั้น แล้วแต่กรณี
(ช) “สถาบันการเงินตามกฎหมายไทย” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
(4) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีดังนี้
(ก) “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ตัวตราสาร ที่ผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญา หรือที่ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี ครั้งล่าสุด โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน เว้นแต่ข้อกำหนดในประกาศนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ตัวตราสาร ที่ผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญา หรือที่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ หรือเป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ข้อกำหนดในประกาศนี้กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง
(ข) “อันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า สัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
(ค) “อันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)” หมายความว่า อันดับความน่าเชื่อถือที่แต่ละสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน กำหนดว่าเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้
(5) บทนิยามเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured note) มีดังนี้
(ก) “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (efficient portfolio management)” หมายความว่า การลงทุนในทรัพย์สินเพื่อกองทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. การลดความเสี่ยง (hedging)
2. การลดค่าใช้จ่าย
3. การเพิ่มรายได้ของกองทุนโดยไม่มีความเสี่ยง หรือหากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่เป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
(ข) “การลดความเสี่ยง (hedging)” หมายความว่า การลดหรือป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินอื่นด้วยการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือด้วยการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี
(ค) “ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์” หมายความว่า ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศ
(ง) “ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง” หมายความว่า ตราสารหรือสัญญาดังต่อไปนี้
1. ตราสารทางการเงินหรือสัญญาที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง หรือ
2. หุ้นกู้อนุพันธ์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ เว้นแต่ในข้อกำหนดในประกาศนี้จะแสดงให้เห็นว่าไม่รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์
(จ) “ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น และได้รับการยอมรับจากสำนักงาน (recognized exchange)
(ฉ) “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสัญญาอื่นในทำนองเดียวกัน
(ช) “ค่าเดลต้า” หมายความว่า อัตราเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหรือสัญญา กับราคาสินค้าหรือตัวแปรของตราสารหรือสัญญา แล้วแต่กรณี
(6) บทนิยามอื่น ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรม มีดังนี้
(ก) “การขายชอร์ต” หมายความว่า การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อส่งมอบ
(ข) “การรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น” หมายความว่า การรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นตามประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้บริษัทจัดการสามารถรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขหรือระยะเวลาที่ประกาศนั้นกำหนด
(ค) “คำเสนอซื้อ” หมายความว่า คำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
(7) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 การจัดการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือแสวงหาประโยชน์เฉพาะจากหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทรัพย์สินอื่น หรือไปหาดอกผลหรือแสวงหาประโยชน์โดยวิธีอื่น ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สินที่กำหนดไว้ในภาค 1 ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 เว้นแต่เป็นกรณีที่อยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลตามภาค 3 ได้
ภาค 1
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สิน
_______________________
หมวด 1
บททั่วไป
_______________________
ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามประเภทที่กำหนดในหมวด 2 ทั้งนี้ ตามลักษณะของตราสารและหลักเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดในหมวด 3
(2) เปิดเผยข้อมูลการลงทุนตามหมวด 4
(3) เมื่อมีเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ขาดคุณสมบัติที่จะลงทุนหรือมีไว้ได้ต่อไป ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหมวด 5
หมวด 2
ข้อกำหนดประเภททรัพย์สินตามลักษณะของกองทุน
_______________________
ข้อ 5 ในกรณีของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สิน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนประเภทเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว ให้กองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับข้อ 6 ด้วย
(1) ตราสารแห่งทุนตามส่วนที่ 1 ของหมวด 3
(2) ตราสารแห่งหนี้ตามส่วนที่ 2 ของหมวด 3
(3) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามส่วนที่ 3 ของหมวด 3
(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามส่วนที่ 4 ของหมวด 3
(5) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
(6) เงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสดตามส่วนที่ 5 ของหมวด 3
(7) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 6 ของหมวด 3
(8) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 9 ของหมวด 3
(9) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 10 ของหมวด 3
(10) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) ถึง (9) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ในกรณีของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือได้มาซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตาม (5) ได้
ข้อ 6 ในกรณีที่กองทุนเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนประเภทเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อกองทุนดังกล่าวต้องเป็นการลงทุนในต่างประเทศ(offshore investment) เป็นหลักไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยประเทศเหล่านั้นต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission(IOSCO) หรือมีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE) ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นการลงทุนในประเทศ (onshore investment) ได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 12 หรือเงินฝากตามข้อ 21(1) ที่มีอายุของตราสารหรือสัญญา หรือระยะเวลาการฝากเงิน แล้วแต่กรณี ต่ำกว่าหนึ่งปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน
(2) เข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง(hedging) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 9 ข้อ 36(4) และข้อ 37
(3) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) หรือ (2) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
บริษัทจัดการอาจนับมูลค่าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตาม (2) รวมในอัตราส่วนของการลงทุนในต่างประเทศ (offshore investment) ตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งด้วยได้
ข้อ 7 ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สิน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาดังต่อไปนี้
(1) หลักทรัพย์ ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ทุกประเภท ที่เสนอขายในประเทศ หรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(2) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศตามข้อ 10
(3) ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 17
(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามส่วนที่ 4 ของหมวด 3
(5) เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินสดตามส่วนที่ 5 ของหมวด 3
(6) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase agreement) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 7 ของหมวด 3
(7) ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในกรณีของธุรกรรมการยืมหลักทรัพย์ ต้องมีคู่สัญญาเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันเท่านั้น และในกรณีของธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8 ของหมวด 3
(8) การขายชอร์ต ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง โดยอนุโลม
(9) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกลักษณะ ทั้งนี้ การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 36 (4) ด้วย
(10) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงทุกประเภท
(11) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) ถึง (10) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
หมวด 3
ข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะของตราสาร
และหลักเกณฑ์การลงทุน
_______________________
ส่วนที่ 1
ตราสารแห่งทุน
_______________________
ข้อ 8 ตราสารแห่งทุน ได้แก่ หลักทรัพย์ ตราสาร หรือสัญญาดังต่อไปนี้
(1) ตราสารแห่งทุนในประเทศตามข้อ 9
(2) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศตามข้อ 10
ข้อ 9 ตราสารแห่งทุนในประเทศ ได้แก่ ตราสาร หรือสัญญา ที่เสนอขายในประเทศ หรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้
(1) หุ้น
(2) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งทุน หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน เช่น กองทุนรวมผสม เป็นต้น
(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) การลงทุนในตราสารดังกล่าวต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (efficient portfolio management)
(ข) บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้มีการกันหรือแยกทรัพย์สินของกองทุนที่มีคุณภาพซึ่งมีสภาพคล่องในจำนวนที่เพียงพอต่อมูลค่าการใช้สิทธิตามตราสารดังกล่าว (fully covered) ไว้ตลอดเวลาที่ได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
(4) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
(5) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์โดยหลักทรัพย์ที่ให้ยืมเป็นหลักทรัพย์ตาม (1)(2)(3) หรือ (4) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8 ของหมวดนี้
ข้อ 10 ตราสารแห่งทุนต่างประเทศ ได้แก่ หุ้นหรือหน่วยลงทุนที่เสนอขายในต่างประเทศ ดังต่อไปนี้
(1) หุ้นที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลัก ทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
(2) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่เป็นกองทุนรวมตราสารแห่งทุน หรือที่เป็นกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน เช่น กองทุนรวมผสม เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในส่วนที่ 4 ของหมวดนี้ด้วย
ส่วนที่ 2
ตราสารแห่งหนี้
_______________________
ข้อ 11 ตราสารแห่งหนี้ ได้แก่ หลักทรัพย์ ตราสาร หรือสัญญาดังต่อไปนี้
(1) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 12
(2) ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 17
(3) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มีข้อกำหนดให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวน และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 10 ของหมวดนี้
ข้อ 12 ตราสารแห่งหนี้ในประเทศ ได้แก่ หลักทรัพย์ ตราสาร หรือสัญญาที่เสนอขายในประเทศ หรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้
(1) ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากตามข้อ 13
(2) ตราสารแห่งหนี้ทั่วไปตามข้อ 14
ข้อ 13 ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก ได้แก่
(1) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝาก หรือหุ้นกู้ระยะสั้น ที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(2) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์เป็นผู้ออก ซึ่งกำหนดวันใช้เงินตามตั๋วไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันออกตั๋ว และเป็นตั๋วเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น
(3) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินอายุไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออก ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือดังต่อไปนี้
(ก) อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับแรก ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร ต้องเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น (short-term rating) ด้วย หรือ
(ข) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน อยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) ทั้งนี้ โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือภายใต้ชื่อ Standard & Poor หรือ Moody’s หรือ Fitch หรือสถาบันอื่นที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติม
ข้อ 14 ตราสารแห่งหนี้ทั่วไป ได้แก่
(1) ตราสารภาครัฐไทย อันได้แก่
(ก) ตั๋วเงินคลัง
(ข) พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(ค) พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน
(2) ตราสารภาครัฐต่างประเทศ อันได้แก่ ตราสารที่มีรูปแบบทำนองเดียวกับตราสารภาครัฐไทยที่รัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวต้องมีลักษณะตามข้อ 15 ด้วย
(3) ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ ซึ่งหมายถึง พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ที่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นกู้อนุพันธ์ ที่สำนักงานอนุญาตให้เสนอขายในลักษณะทั่วไปหรือในลักษณะจำกัด หรือที่ออกภายใต้ข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง หรือที่นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ออก หรือที่เป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ซึ่งผู้ออกหลักทรัพย์ได้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่นั้นทั้งหมดต่อผู้ถือหุ้นโดยได้รับชำระราคาเต็มมูลค่าที่เสนอขายจากผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ต้องมีลักษณะตามข้อ 15 ด้วย
(4) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่ไม่ใช่หุ้นกู้อนุพันธ์
(5) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ที่เสนอขายในต่างประเทศโดยมีผู้ออกเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นกู้อนุพันธ์
(6) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่สำนักงานกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น
(7) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 7 ของหมวดนี้
(8) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์โดยหลักทรัพย์ที่ให้ยืมเป็นตราสารแห่งหนี้ตาม(1)(2)(3) (4) หรือ (6) หรือข้อ 13 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8 ของหมวดนี้
ข้อ 15 ตราสารภาครัฐต่างประเทศตามข้อ 14(2) และตราสารที่เปลี่ยนมือได้ตามข้อ 14(3) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นตราสารขึ้นทะเบียนในสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
(2) มีราคาที่เหมาะสมตามที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกำหนด หรือมีผู้แสดงตนต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะเสนอราคาซื้อและรับซื้อตราสารนั้น ในราคาดังกล่าว (bid price แบบ firm quote) ตามจำนวนและวิธีการที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกำหนดอยู่เสมอ โดยได้ส่งสำเนาราคาแก่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยตลอดอายุของตราสารนั้น และ
(3) เป็นตราสารที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่เป็นตราสารภาครัฐต่างประเทศ ตราสารดังกล่าวต้องเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) เว้นแต่ผู้ออกตราสารดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศ ตราสารนั้นต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) เท่านั้น
(ข) ในกรณีที่ผู้ออกตราสารเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ตราสารนั้นต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(ค) ในกรณีที่กองทุนลงทุนในตราสารอื่นนอกเหนือจาก (ก) และ (ข) ในการเสนอขายครั้งแรก หากตราสารดังกล่าวไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) ตราสารนั้นต้องมีบริษัทจัดการไม่ต่ำกว่าสามรายเป็นผู้ซื้อตราสารดังกล่าวเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนภายใต้การจัดการ
ข้อ 16 ในกรณีที่ตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 12 เป็นตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีการจ่ายผลตอบแทน ผลตอบแทนนั้นต้องอยู่ในรูปอัตราดอกเบี้ยคงที่หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่านั้น
การรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกันของบุคคลที่กำหนดไว้ในข้อ 13 และข้อ 14 ต้องเป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข
ข้อ 17 ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศ ได้แก่ หลักทรัพย์หรือตราสารที่ออกโดยบุคคลต่างประเทศและเสนอขายในต่างประเทศ
(1) ตราสารภาครัฐต่างประเทศ อันได้แก่
(ก) พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่รัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ