(ต่อ2) การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday July 17, 2006 09:30 —ประกาศ ก.ล.ต.

          ในกรณีที่บริษัทจัดการมิได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้การให้ความเห็นชอบเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีในเวลาที่ลงทุนโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว
ข้อ 42 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 40 วรรคหนึ่ง (1) และ (3)
(1) หุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15 โดยอนุโลม
(2) ตราสารที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) ตราสารดังกล่าวจัดทำขึ้นในรูปแบบตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 13 หรือข้อ 14(1)(2) (3) หรือ (4)
(ข) ตราสารดังกล่าวต้องอ้างอิงกับราคาหุ้น ราคาเฉลี่ยของกลุ่มหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 11(1) หรือ (2) ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หรืออัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ในกรณีของดัชนี ต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 35(2)(3) และ (4) ด้วย
(ค) ตราสารดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ผู้ออกชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนให้แก่กองทุนเมื่อครบอายุตราสาร เว้นแต่เป็นตราสารที่ไม่ชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนเมื่อครบอายุตราสารซึ่งสำนักงานให้ความเห็นชอบแล้ว และบริษัทได้จัดให้มีข้อตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามข้อ 41(1) และ
(ง) ในกรณีที่เป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกตราสารในการที่จะชำระหนี้ตามตราสารก่อนครบอายุตราสาร (callable) บริษัทจัดการได้เปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ก่อนทำการลงทุน
หมวด 4
การเปิดเผยข้อมูลการลงทุน
_______________________
ข้อ 43 ในกรณีที่ตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนจะลงทุนเป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกตราสารในการที่จะชำระหนี้ตามตราสารก่อนครบอายุตราสาร (callable) ให้บริษัทจัดการเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ก่อนทำการลงทุน
ข้อ 44 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 12 ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 17 ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามข้อ 18 หรือเงินฝากตามข้อ 21(1) เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ให้บริษัทจัดทำข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) รายงานสรุปจำนวนเงินลงทุนในตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และสัดส่วนเงินลงทุนดังกล่าวต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยแบ่งข้อมูลตามกลุ่มดังต่อไปนี้
(ก) กลุ่มตราสารภาครัฐไทยและตราสารภาครัฐต่างประเทศ
(ข) กลุ่มตราสารที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(ค) กลุ่มตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(ง) กลุ่มตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) หรือตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
(2) รายละเอียดและอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้เป็นรายตัว
(3) ในกรณีของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการเปิดเผยสัดส่วนเงินลงทุนขั้นสูงต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนที่บริษัทจัดการตั้งไว้ในแผนการลงทุนสำหรับกลุ่มตราสารตาม (1)(ง) ทั้งนี้ ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สัดส่วนเงินลงทุนขั้นสูงดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย
ข้อ 45 ให้บริษัทจัดการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามข้อ 44 ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีของกองทุนรวม ให้เปิดเผยเป็นรายเดือนทางเว็บไซต์ (web site) ของบริษัทภายในสิบห้าวันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละเดือน พร้อมทั้งจัดพิมพ์ข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวให้สำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปิดเผยดังกล่าว
(2) ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไว้ในรายงานรายเดือนและรายงานรายปี
การเปิดเผยข้อมูลตามข้อ 44(2) อาจใช้วิธีเปิดเผยรายละเอียดและอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นรายกลุ่มตาม (1)(ก) ถึง (ง) แทนการเปิดเผยเป็นรายตัวก็ได้
ข้อ 46 ในกรณีที่กองทุนประสงค์จะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ให้บริษัทจัดการเปิดเผยนโยบายการลงทุนพร้อมทั้งอธิบายความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือสัญญารับ
จัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นหรือได้ทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลไว้ก่อนที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการหรือสัญญาดังกล่าวก่อนการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ในกรณีที่กองทุนรวมจะเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าหรือตัวแปรตามข้อ 34(4) ให้บริษัทส่งหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติต่อสำนักงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่บริษัทจะส่งหนังสือดังกล่าวไปยังผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ หากสำนักงานมิได้แจ้ง
ผลการพิจารณาให้บริษัททราบภายใน 15 วัน ให้ถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบหนังสือนั้นแล้ว
หนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติตามวรรคสองต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและความเสี่ยงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้วย
ข้อ 47 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ให้บริษัทจัดทำข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ที่ใช้ในการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาหรือตราสารดังกล่าว ตลอดจนผลกำไรหรือผลขาดทุนที่บริษัทคาดว่าจะได้รับ
(2) การวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่สัญญา ในกรณีของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(3) แผนรองรับในการชำระหนี้ตามสัญญาหรือตราสารดังกล่าว
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีมูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ลงทุนตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไป
ข้อ 48 ให้บริษัทจัดการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามข้อ 47 ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวม จัดส่งข้อมูลให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่มีการลงทุนหรือได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดเก็บสำเนาข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ด้วย
(2) ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคล ให้จัดส่งข้อมูลให้ลูกค้า หรือต่อคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี
หมวด 5
การดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินขาดคุณสมบัติ
ที่กองทุนอาจลงทุนหรือมีไว้ได้
_______________________
ข้อ 49 ในกรณีที่บริษัทจัดการได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 2 และหมวด 3 ของภาคนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนไว้แล้ว หากต่อมาทรัพย์สินดังกล่าวมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป จนเป็นเหตุให้บริษัทจัดการไม่สามารถมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ ให้บริษัทจัดการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นขาดคุณสมบัติ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
ภาค 2
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน
ข้อ 50 ข้อกำหนดในภาคนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะกับ
(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund)
(2) กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย และ
(3) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 51 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) จัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนทั่วไปในหมวด 1
(2) จัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกองทุนเฉพาะประเภทตามที่กำหนดไว้ในหมวด 2 ถึงหมวด 12 และ
(3) ให้ดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินไม่เป็นไปตามอัตราส่วนตามที่กำหนดในหมวด 13
หมวด 1
หลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนทั่วไป
_______________________
ข้อ 52 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยไม่จำกัดอัตราส่วน
(1) ตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 14(1)
(2) เงินฝากระยะสั้นหรือตราสารระยะสั้นที่เทียบเท่าเงินสด (near-cash) ในต่างประเทศตามข้อ 21(2)
ข้อ 53 บริษัทจัดการอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารภาครัฐต่างประเทศตามข้อ 14(2) หรือข้อ 17(1) ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรก หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเป็นตราสารดังกล่าว เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยไม่จำกัดอัตราส่วน
ในกรณีของกองทุนรวมเปิด มูลค่าของตราสารภาครัฐต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าตราสารนั้นในแต่ละรุ่น เว้นแต่เป็นกองทุนรวมเปิดที่มีการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน (auto redemption)
ข้อ 54 ในกรณีที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่นายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ มิให้นับรวมตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 14(1) ซึ่งนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญาในอัตราส่วนดังกล่าว
ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึง หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมนั้น
การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) นับทรัพย์สินทุกประเภทที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา รวมในอัตราส่วนดังกล่าวด้วย
(2) นับรวมการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดไปลงทุนในทรัพย์สินของนายจ้าง หรือทรัพย์สินอื่นใดที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 55 มิให้นำความในข้อ 54 มาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้
(1) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับอัตราส่วนไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนตามข้อ 59(1)
(2) การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย (pooled fund) และมีจำนวนนายจ้างที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันน้อยกว่าสองในสามของจำนวนนายจ้างทั้งหมด
ส่วนที่ 1
อัตราส่วนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สิน
หรือคู่สัญญา (company limit)
_______________________
ข้อ 56 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารภาครัฐต่างประเทศที่นอกเหนือจากข้อ 53 หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเป็นตราสารดังกล่าว เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออกหรือผู้เป็นคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละสามสิบห้าของ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เว้นแต่เข้าลักษณะตามข้อ 54 ให้ใช้อัตราส่วนตามข้อ 54 แทน
ในกรณีของกองทุนรวมเปิด มูลค่าของตราสารภาครัฐต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าตราสารนั้นในแต่ละรุ่น เว้นแต่เป็นกองทุนรวมเปิดที่มีการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน (auto redemption)
การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับตราสารตามวรรคหนึ่งและทรัพย์สินทุกประเภทที่ผู้ออกหรือผู้เป็นคู่สัญญารายดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเหล่านั้น รวมในอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวด้วย
ข้อ 57 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารดังต่อไปนี้ ที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุนรายใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เว้นแต่เข้าลักษณะตามข้อ 54 ให้ใช้อัตราส่วนตามข้อ 54 แทน
(1) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 12
(2) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามภาค 1 หมวด 3 ส่วนที่ 3
(3) เงินฝากตามข้อ 21(1)
(4) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามภาค 1 หมวด 3 ส่วนที่ 9 หรือ
(5) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงตามภาค 1 หมวด 3 ส่วนที่ 10
การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับตราสารตามวรรคหนึ่งและทรัพย์สินตามข้อ 58(1)(2) หรือ (4) และข้อ 59(1) ที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วนดังกล่าว โดยในกรณีของธนาคารพาณิชย์ หากธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ ให้นับทรัพย์สินที่ธนาคารต่างประเทศดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าในกรณีใด มิให้คำนวณเงินฝากในบัญชีเงินฝากเพื่อการดำเนินงานของกองทุนเข้าในอัตราส่วนดังกล่าว
ข้อ 58 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
(1) ตราสารแห่งทุนในประเทศตามข้อ 9 ที่บริษัทจดทะเบียนเป็นผู้ออกหรือคู่สัญญา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตราสารแห่งทุนของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป
(2) หุ้นที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สั่งรับเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ออกหุ้นดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการกระจายการถือหุ้นรายย่อยตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์
จดทะเบียน
(3) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 12 หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามข้อ 18(1) หรือ (2) ทั้งนี้ เฉพาะที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(4) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามภาค 1 หมวด 3 ส่วนที่ 6 ที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(5) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศตามข้อ 10 ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 17 หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามข้อ 20
(6) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามภาค 1 หมวด 3 ส่วนที่ 9 ที่คู่สัญญามีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) หรือ
(7) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงตามภาค 1 หมวด 3 ส่วนที่ 10 ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
ตราสารแห่งทุนตาม (1) และตราสารแห่งหนี้ตาม (3) มิให้หมายความรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ถูกจัดให้เป็นตราสารแห่งทุนตามข้อ 9(2) หรือตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 14(6)
การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งและทรัพย์สินตามข้อ 59(1) ที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วนดังกล่าวด้วย
ข้อ 59 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 56 ข้อ 57 และข้อ 58 เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมตามอัตราส่วนดังต่อไปนี้
(1) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ต้องมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละห้าของ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
(2) การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตาม (1) เมื่อคำนวณรวมทุกบุคคลที่เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญาแล้ว ต้องมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ข้อ 60 ในกรณีของกองทุนรวมที่ประสงค์จะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้น นอกจากอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในส่วนนี้แล้ว บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นที่บริษัทใดเป็นผู้ออก เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม เมื่อรวมกันทุกกองทุนรวมที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
ต้องไม่ถึงร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น เว้นแต่เป็นการได้มาเนื่องจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น
ส่วนที่ 2
อัตราส่วนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit)
_______________________
ข้อ 61 ในกรณีของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เป็นผู้ออกหรือคู่สัญญา เป็นจำนวนที่มีมูลค่ารวมโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละสี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
อัตราส่วนตามวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่มีการกำหนดอายุโครงการตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้ เฉพาะในระยะเวลาหกเดือนก่อนวันครบกำหนดอายุของโครงการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 62 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนอันเนื่องมาจากปัญหาความผันผวน(fluctuation) ของตลาดเงินและตลาดทุนในวงกว้างในรอบปีบัญชีใด บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันต่อสำนักงานเพื่อไม่ต้องนำการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ในช่วงเวลาที่เกิดความผันผวนดังกล่าวมารวมคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 61 ได้สำหรับรอบปีบัญชีนั้น
ข้อ 63 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ข้อ 64 ในกรณีของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมได้ ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้
(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
(2) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของทุกกองทุนรวมที่บริษัทจัดการอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
หน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง หมายถึง หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เท่านั้น แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
ข้อ 65 ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าวได้ โดยไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้
(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้น ได้ไม่เกินร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย เว้นแต่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุน
น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (specific fund) ให้ลงทุนหรือมีไว้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย
(2) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีประกันดังนี้
(ก) กองทุนรวมมีประกันประเภทรับประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน ลงทุนได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วน
(ข) กองทุนรวมมีประกันประเภทรับประกันเฉพาะเงินลงทุนทั้งจำนวน ลงทุนได้ไม่เกินร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย
(ค) กองทุนรวมมีประกันประเภทรับประกันเฉพาะเงินลงทุนเพียงบางส่วน ลงทุนได้ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลประสงค์จะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีลักษณะตาม (1) และ (2) ร่วมกัน บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ภายใต้อัตราส่วนการลงทุนตาม (1) หรือ (2) ที่สูงกว่า ได้
หน่วยลงทุนในข้อนี้ หมายถึง หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เท่านั้น แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
ข้อ 66 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยไม่เกินมูลค่าความเสี่ยงทั้งหมดที่กองทุนมีอยู่
ข้อ 67 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมเปิดที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน (auto redemption) กองทุนรวมเปิดแบบมีกำหนดระยะเวลา (interval fund) ซึ่งกำหนดช่วงห่างของวันทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนครั้งก่อนและครั้งใหม่ยาวกว่าอายุของตราสารดังกล่าว หรือกองทุนรวมปิด
ข้อ 68 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ข้อ 69 บริษัทจัดการอาจทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ของกองทุนได้ โดยมีมูลค่าธุรกรรมรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าธุรกรรมดังกล่าว ให้บริษัทจัดการคำนวณโดยใช้มูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม รวมผลประโยชน์ที่พึงได้รับจนถึงวันที่คำนวณมูลค่าธุรกรรมดังกล่าว
ส่วนที่ 3
ข้อกำหนดในการคำนวณอัตราส่วน
_______________________
ข้อ 70 ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมพันธบัตรเอเชีย หรือ
ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ