หลักเกณฑ์ในการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระของบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday December 28, 2006 10:17 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 49/2549
เรื่อง หลักเกณฑ์ในการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระ
ของบริษัทหลักทรัพย์
____________________
อาศัยอำนาจตามความใน
(1) ข้อ 4/1 วรรคสองแห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 23/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(2) ข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 24/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการควบคุมการปฏิบัติงานในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(3) ข้อ 2 วรรคสองแห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 5/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 22/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
(1) “บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้
แต่ไม่รวมถึงบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน
(2) “ตัวแทนซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(3) “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถประกอบการธนาคารพาณิชย์ได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานซึ่งมีแนวทางในการกำกับดูแล
การประกอบธุรกิจในทำนองเดียวกับสำนักงาน
(4) “ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์” หมายความว่า
(ก) บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การค้าหลักทรัพย์หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้แต่ไม่รวมถึงบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่นและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในภายหลัง
(ข) นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่กำหนดใน (ก) หรือธุรกิจวาณิชธนกิจ (investment banking) ได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานซึ่งมีแนวทางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในทำนองเดียวกับสำนักงาน
(5) “ผู้ประกอบธุรกิจสัญญา” หมายความว่า
(ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ไม่รวมถึงสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่นและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในภายหลัง
(ข) นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานซึ่งมีแนวทางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในทำนองเดียวกับสำนักงาน
(6) “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(7) “บริษัทโฮลดิ้ง” หมายความว่า บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการมีอำนาจควบคุมในบริษัทอื่นมากกว่าเพื่อการลงทุนหาผลตอบแทนทั่วไป
(8) “บริษัทลูก” หมายความว่า
(ก) บริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญา หรือบริษัทโฮลดิ้งถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(ข) บริษัทที่บริษัทตาม (ก) ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(ค) บริษัทที่ถูกถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากการถือหุ้นของบริษัทตาม (ข) ในบริษัทที่ถูกถือหุ้น โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
(9) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ในกรณีที่กรรมการอิสระของบริษัทหลักทรัพย์ตาย ลาออกหรือถูกสำนักงานเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีกรรมการอิสระภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว และให้ถือว่าบริษัทหลักทรัพย์ได้รับการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระจากสำนักงานภายในกำหนดระยะเวลานั้น
ข้อ 3 บริษัทหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (financial conglomerate) ซึ่งมีโครงสร้างการถือหุ้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ สามารถยื่นขอผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระต่อสำนักงานได้
(1) มีธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์นั้น
(2) มีบริษัทโฮลดิ้งถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญา ไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญา และบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์ด้วย
การถือหุ้นโดยธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาตาม (1) และบริษัทโฮลดิ้งตาม (2) ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยบริษัทลูกทุกทอดของนิติบุคคลดังกล่าวซึ่งประกอบธุรกิจการลงทุนในกิจการอื่นหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย
ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 3 ที่จะได้รับการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) แสดงได้ว่าจะมีการกำกับดูแลการบริหารงานในระดับนโยบายของบริษัทหลักทรัพย์อย่างน้อยในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมภายในและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญา ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานดังกล่าวต้องมิใช่บริษัทหลักทรัพย์หรือตัวแทนซื้อขายสัญญาที่ได้รับการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระจากสำนักงานอยู่แล้ว
(2) แสดงได้ว่าผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลมีระบบการกำกับดูแลและระบบการติดตามการบริหารงานในระดับนโยบายของบริษัทหลักทรัพย์ในเรื่องที่กำหนดตาม (1) อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้การปฏิบัติงานของบริษัทหลักทรัพย์เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว ในการทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานในระดับนโยบายของบริษัทหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลอาจมอบหมายให้บริษัทอื่นทำหน้าที่ดังกล่าวแทนได้ หากบริษัทหลักทรัพย์สามารถแสดงต่อสำนักงานได้ว่าบริษัทที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวสามารถทำหน้าที่ตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ 5 ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะขอผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระยื่นหนังสือขอผ่อนผันต่อสำนักงานโดยระบุชื่อธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญา ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานในระดับนโยบายของบริษัทหลักทรัพย์ รวมทั้งชื่อบริษัทที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว พร้อมเอกสารที่แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) เอกสารที่แสดงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
(2) เอกสารที่แสดงถึงแนวทางการบริหารบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินซึ่งรวมถึง
บริษัทหลักทรัพย์ที่ขอผ่อนผัน เช่น คู่มือนโยบายบริหาร (policy manual) คู่มือการปฏิบัติงาน (procedure manual) คู่มือการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (compliance manual) เป็นต้น
(3) หนังสือจากธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญา ซึ่งรับทราบหลักเกณฑ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมภายในและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารงานในระดับนโยบายของบริษัทหลักทรัพย์
ที่ขอผ่อนผันในเรื่องดังกล่าว
สำนักงานจะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือขอผ่อนผันและเอกสารถูกต้องครบถ้วน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและสำนักงานได้แจ้งเหตุจำเป็นดังกล่าวให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบก่อนสิ้นสุดระยะเวลาสามสิบวันแล้ว สำนักงานอาจขยายระยะเวลาในการพิจารณาออกไปเท่าเหตุจำเป็นที่มีได้
ข้อ 6 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจทางการเงินมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 3 หรือผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานในระดับนโยบายของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ได้รับมอบหมายมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4
ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งให้สำนักงานทราบโดยไม่ชักช้า ในการนี้ สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีกรรมการอิสระหรือดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ภายในระยะเวลา
ที่สำนักงานกำหนดได้
ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถจัดให้มีกรรมการอิสระหรือไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระของสำนักงานเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
ข้อ 7 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ยื่นหนังสือขอผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระตามข้อ 5 พร้อมเอกสารถูกต้องครบถ้วนต่อสำนักงานก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ สำนักงานจะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่สำนักงานพิจารณาผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ ให้ถือว่าบริษัทหลักทรัพย์ได้รับการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป และในกรณีที่สำนักงานพิจารณาไม่ผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีกรรมการอิสระภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของสำนักงานโดยให้ถือว่าบริษัทหลักทรัพย์ได้รับการผ่อนผันการจัดให้มีกรรมการอิสระเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 จนถึงวันที่บริษัทหลักทรัพย์ได้จัดให้มีกรรมการอิสระภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2549
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ