นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 16, 2010 13:30 —ประกาศ ก.ล.ต.

16 กันยายน 2553

เรียน ผู้จัดการ

บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท

การจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท

ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย

ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย

นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ที่ น.(ว) 27/2553 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ด้วยสำนักงานได้แก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

(1) ประกาศ ที่ สน. 34/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553 (“ประกาศที่ สน. 34/2553”)

(2) ประกาศ ที่ สน. 35/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553 (“ประกาศที่ สน. 35/2553”)

(3) ประกาศสำนักงานว่าด้วยการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553 (“ประกาศผู้ดูแลฯ (ฉบับที่ 2)”)

(4) ประกาศ ที่ สน. 36/2553 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553 (“ประกาศที่ สน. 36/2553”)

เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมทองคำ (“gold fund”) โดยจะอนุญาตให้ gold fund สามารถลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งได้ โดยต้องจัดตั้งและจัดการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด ทั้งนี้ ประกาศสำนักงานทั้ง 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป

เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความ เข้าใจเกี่ยวกับประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ประกาศที่ สน. 34/2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

1.1 กำหนดนิยามของ gold fund (ข้อ 5(2) (ณ)) gold fund หมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายที่เน้นลงทุน (ลงทุนส่วนใหญ่หรือทั้งหมด) เพื่อสร้างผลตอบแทนอ้างอิงกับ (“link”) ราคาทองคำแท่งทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม

1.2 กำหนดรูปแบบการจัดตั้ง gold fund (ข้อ 61/1) สามารถจัดตั้งได้ 3 ประเภท แบ่งตามลักษณะการจัดตั้งและ การสร้างผลตอบแทน (ตัวอย่างการจัดตั้ง gold fund ตามเอกสารแนบ) ดังนี้

(1) กองทุนรวมทองคำแบบทั่วไป (simple gold fund) เป็นกองทุนรวมที่เน้นสร้างผลตอบแทน link โดยตรงกับราคาทองคำแท่ง ทั้งนี้ ต้องลงทุนทั้งทางตรงและอ้อม ในทองคำแท่งโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

(2) gold ETF เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟที่เน้นสร้างผลตอบแทน link โดยตรงกับราคาทองคำแท่ง ลงทุนในทองคำแท่งหรือลงทุนผ่าน หน่วยลงทุนของ gold ETF อื่นที่ลงทุนโดยตรงในทองคำแท่ง โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

(3) กองทุนรวมทองคำแบบซับซ้อน (complex gold fund) เป็นกองทุนรวมที่เน้นสร้างผลตอบแทน link ราคาทองคำแท่งในลักษณะต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

1.3 กำหนดเงื่อนไขในการจัดตั้ง gold fund (ข้อ 61/2)

(1) โครงการจะต้องระบุชัดเจนว่าเป็น gold fund ประเภทใดในข้อ 1.2

(2) ชื่อของกองทุนรวมต้องไม่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในประเภทของ gold fund เช่น complex gold fund ที่กำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนแบบมีกำหนดขั้นสูงและขั้นต่ำ (cap/floor) หรือจ่ายผลตอบแทนในทิศทางตรงข้ามกับราคาทองคำ (reverse) gold fund จะต้องตั้งชื่อให้สะท้อนเงื่อนไขหรือสื่อให้เห็นถึงความซับซ้อนของผลตอบแทนให้ชัดเจน และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขและความเสี่ยงเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวนและโครงการด้วย เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ตัวอย่างเช่น complex gold fund ที่กำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนแบบมีกำหนดขั้นสูงและขั้นต่ำ (cap/floor) อาจใช้ชื่อว่า “ABC complex cap/floor gold fund” และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขว่า มีการจ่ายผลตอบแทนแบบ cap/floor อย่างไร และความเสี่ยงที่ผลตอบแทนไม่ได้ผันแปรโดยตรงกับราคาทองคำแท่ง

(3) โครงการจะต้องกำหนดลักษณะของทองคำแท่งที่ gold fund จะลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยต้องระบุรายละเอียดที่ชัดเจนไว้ในโครงการ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(ก) ทองคำแท่งต้องมีมาตรฐานและผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมผู้ค้าทองคำในประเทศไทยหรือในระดับสากล โดยการรับรองดังกล่าวอาจรับรองที่ทองคำแท่งหรือที่ผู้ผลิตทองคำแท่งก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าทองคำแท่งที่กองทุนลงทุนเป็นที่ยอมรับในการซื้อขายระหว่างผู้ค้าทองคำทั้งในประเทศหรือในระดับสากล

(ข) ในการรับรองคุณสมบัติของทองคำแท่ง ควรกระทำโดยหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม ตัวอย่างหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ในประเทศไทย เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ส่วนในระดับสากล เช่น The London Bullion Market Association (“LBMA”) ซึ่งจะกำหนดรายชื่อผู้ผลิตทองคำแท่งที่ LBMA ให้การยอมรับ

(ค) มีราคาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีการเปิดเผยอย่างแพร่หลาย

(ง) การลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งในต่างประเทศ บริษัทจัดการต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

1.4 กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมกรณีจัดตั้งในรูป gold ETF (ข้อ 61/3)

(1) ราคาของทองคำแท่งที่ใช้อ้างอิงต้องเป็นราคาที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีการเปิดเผยอย่างแพร่หลาย

(2) ในการสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำแท่ง ตาม (1) สามารถทำได้โดยการลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งหรือลงทุนทางอ้อมผ่านหน่วยลงทุนของ gold ETF อื่นที่ลงทุนตรงในทองคำแท่ง

1.5 กรณี gold fund ที่จะจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และ gold ETF สำนักงานจะพิจารณาอนุมัติคำขอจัดตั้งก็ต่อเมื่อมีข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการรับสมาชิกที่สามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายเฉพาะหลักทรัพย์ที่อ้างอิงกับราคาทองคำแล้ว (ข้อ 61/4)

2. ประกาศที่ สน. 35/2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

2.1 กำหนดให้ “ทองคำแท่ง” เป็นทรัพย์สินที่ gold fund ลงทุนได้ โดยคุณภาพทองคำแท่งต้องได้มาตรฐาน และเป็นชนิดที่มีราคาที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีการเปิดเผยอย่างแพร่หลาย (ข้อ 45/1 และข้อ 45/2) ดังนั้น กองทุนรวมทั่วไปที่มิใช่ gold fund กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงไม่สามารถลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงได้

2.2 gold fund สามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทองคำแท่งได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วน (ข้อ 56(3)) และสามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินทั่วไปเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป (ข้อ 5/1)

2.3 กำหนดให้หน่วยลงทุนของ gold fund เป็นทรัพย์สินที่กองทุนรวมทั่วไปลงทุนได้ ในกรณีที่เป็นหน่วยลงทุนของ gold fund ในต่างประเทศ หน่วยลงทุนดังกล่าวต้องมีลักษณะตามข้อ 21 ของประกาศ ที่ สน. 24/2552 ด้วย (ข้อ 5(5/1)) ทั้งนี้อัตราส่วนการลงทุนในหน่วยลงทุนของ gold fund เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนในหน่วยลงทุนทั่วไป

3. ประกาศผู้ดูแลฯ (ฉบับที่ 2) ที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศว่าด้วยการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551

3.1 กำหนดให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ที่ทำหน้าที่เก็บรักษาทองคำแท่งของ gold fund ที่ลงทุนในทองคำแท่ง ต้องมีระบบงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บรักษาทองคำแท่งที่ปลอดภัย โดยมีการจัดสถานที่เก็บรักษาทองคำแท่งและระบบป้องกันภัยที่เหมาะสม (ข้อ 3(4) (ฏ) 1.) ทั้งนี้ ระบบการเก็บรักษาทองคำแท่งที่ปลอดภัย โดยมีการจัดสถานที่เก็บรักษาทองคำแท่งและระบบป้องกันภัยที่เหมาะสมนั้น อาจเป็นระบบที่เทียบเท่ากับระบบการเก็บรักษาเงินสดของผู้ดูแลผลประโยชน์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ หรืออย่างน้อยอาจเป็นระบบการเก็บรักษาทองคำแท่งที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมค้าทองคำแท่งก็ได้

3.2 ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์จะมอบหมายให้บุคคลอื่นทำหน้าที่เก็บทองคำแทน ผู้ดูแลผลประโยชน์ต้องมีระบบการพิจารณาคัดเลือกตัวแทนเพื่อมั่นใจว่า บุคคลดังกล่าวต้องมีระบบงานเกี่ยวกับการเก็บรักษาทองคำแท่งตามข้อ 1 ด้วย (ข้อ 3(4) (ฏ) 2.)

ทั้งนี้ ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์แจ้งระบบงานเพิ่มเติมตามข้อ 3.1 หรือ 3.2 ให้สำนักงานทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างน้อยภายใน 15 วันก่อนรับทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของ gold fund ซึ่งเป็นไปตามข้อ 5 วรรคสามของประกาศฉบับเดียวกัน

4. ประกาศที่ สน. 36/2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่ สน. 47/2552 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

4.1 กำหนดให้ gold fund ที่ลงทุนในทองคำแท่ง เปิดเผยรายการลักษณะที่สำคัญเกี่ยวกับการทำประกันภัยทองคำแท่งที่ gold fund ลงทุน (ข้อ 26)

4.2 กรณี gold fund ที่ลงทุนในทองคำแท่ง ไม่ได้ทำประกันภัย หรือทำประกันภัยในวงเงินคุ้มครองไม่ครอบคลุมมูลค่าทองคำแท่ง ให้อธิบายถึงความเสี่ยงและมีคำเตือนให้ผู้ลงทุนเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม (ข้อ 27)

5. มูลค่ายุติธรรมของทองคำแท่งที่ใช้ในการคำนวณ NAV ของ gold fund ในกรณีที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนยังไม่ได้กำหนดมูลค่ายุติธรรมของทองคำแท่งที่ใช้ในการคำนวณ NAV ของ gold fund เป็นการทั่วไป ให้บริษัทจัดการใช้ราคาทองคำแท่งที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและมีการประกาศเป็นการแพร่หลายในการคำนวณ NAV ของ gold fund โดยต้องระบุราคาที่ใช้ไว้ในโครงการที่ยื่นขออนุมัติต่อสำนักงาน และเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนด้วยตัวอย่าง กรณีที่ gold fund มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่งไทย (ความบริสุทธิ์ 96.5%) ราคาที่ใช้อ้างอิงกันในตลาดทองคำของไทย จะใช้ราคาที่สมาคมค้าทองคำได้ประกาศเป็นราคากลางที่ใช้สำหรับซื้อขายทองคำแท่งก็ได้

6. การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการของกองทุนรวมที่มีลักษณะเป็น gold fund ที่จัดตั้งก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ

6.1 กรณียังมิได้เสนอขายต่อประชาชน (“IPO”) ให้บริษัทจัดการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ต่อสำนักงาน ก่อน IPO

6.2 กรณีที่จดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว บริษัทจัดการสามารถดำเนินการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวต่อไปได้ อย่างไรก็ดี กรณีที่เป็นกองทุนเปิดให้บริษัทจัดการดำเนินการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมโครงการโดยวิธี fast track โดยไม่ชักช้า แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ และขอให้ปรับปรุงหนังสือชี้ชวนและเอกสารประกอบการขายให้เป็นไปตามโครงการที่ได้แก้ไขด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ

ขอแสดงความนับถือ

(นายประกิด บุณยัษฐิติ)

ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

เลขาธิการแทน

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 34/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและ

การเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

2. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 35/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อ

เป็นทรัพย์สินของกองทุน(ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการผู้ดูแลผล

ประโยชน์ของกองทุนรวม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

4. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 36/2553 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วย

ลงทุนของกองทุนรวม(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

5. เอกสารแนบ : ตัวอย่างการจัดตั้งกองทุนรวมทองคำ (gold fund)

ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2263-6087
โทรสาร 0-2263-6348

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ